การรับและจ่ายเงิน การตรวจสอบและควบคุมภายในของบง.และบ.เครดิตฟองซิเอร์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday September 14, 1994 17:27 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                         ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการรับและการจ่ายเงิน การตรวจสอบและควบคุม
ภายในของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
—————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ตรี และมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน การตรวจสอบและควบคุมภายใน เพื่อให้บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
ข้อ1.ในวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองเอร์ ต้องมีระเบียบพิธีปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรและถือปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้
(1) การรับเงินและการจ่ายเงิน
(2) การให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลดและรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินและการก่อภาระผูกพัน
(3) การลงทุนในหลักทรัพย์
(4) การขายทรัพย์สิน
ทั้งนี้ระเบียบพิธีปฏิบัติตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทและส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน15วันนับแต่วันที่มีการออกระเบียบพิธีปฎิบัติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบพิธีปฏิบัติ
ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสมควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบพิธีปฏิบัติดังกล่าว ให้บริษัทดำเนินการภายในระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ข้อ 2. ระเบียบพิธีปฏิบัติในเรื่องการรับเงินและการจ่ายเงิน ให้มีข้อกำหนดต่อไปนี้ไว้ด้วย
*(1)การจ่ายเงินในการให้กู้ยืม รับซื้อ ซื้อลดและรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน และในการลงทุนในหลักทรัพย์ให้จ่ายแก่ผู้ยืม ผู้ขายหรือบุคคลหรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้รับเงิน (Account Payee Only) หรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับเงิน โดยผ่านบริการบาทเนตของธนาคารแห่งประเทศไทย
*(2) การจ่ายเงินในกรณีอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวใน (1)ในจำนวนเกินกว่าที่บริษัทกำหนดต้องจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม หรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับเงินโดยผ่านบริการบาทเนต ของธนาคารแห่งประเทศไทย
(3) การจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินหรือบัตรเงินฝาก หรือตราสารอื่นของบริษัทเงินทุนให้ถือปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง
(4) การรับเงินเป็นเช็คหรือจ่ายเงินเป็นเช็ค ให้จัดทำทะเบียนบันทึกการรับจ่ายให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยมีรายละเอียด เลขที่เช็ค ชื่อผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับเงิน วันออกเช็ค ธนาคาร สาขาและจำนวนเงิน
ทั้งนี้การจ่ายเงินดังกล่าวข้างต้นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ตามที่กำหนดในระเบียบของบริษัทในแต่ละกรณีก่อน
ข้อ 3. ระเบียบพิธีปฏิบัติในเรื่องการให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลดและรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน และการก่อภาระผูกพัน ให้มีข้อกำหนดต่อไปนี้ไว้ด้วย
(1)ผู้มีอำนาจอนุมัติและวงเงินเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาขั้นตอนการจ่ายเงินวิธีการจ่ายเงิน และการจัดทำแฟ้มลูกหนี้รายตัว ซึ่งต้องมีรายละเอียดการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาอนุมัติของผู้อำนาจ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน ตลอดจนเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(2)การให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลด และรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินหรือการก่อภาระผูกพันที่มีวงเงินเกินจำนวนที่บริษัทกำหนด ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้บริหารที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น การประชุมคณะกรรมการสินเชื่อเพื่อพิจารณาอนุมัติการให้กู้ยืมเงินต้องมีการจัดทำรายงานการประชุมและลงลายมือชื่อผู้เข้าประชุมทุกราย
ข้อ 4. ระเบียบพิธีปฏิบัติในเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ การซื้อและขายหลักทรัพย์ ให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจอนุมัติ วงเงินอนุมัติและขั้นตอนการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาอนุมัติ ของคณะกรรมการที่บริษัทจัดตั้งขึ้น และให้มีการรายงานการซื้อและขายหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว ให้คณะกรรมการทราบเป็นระยะ
ข้อ5. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 14 กันยายน 2537
วิจิตร สุพินิจ
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนพิเศษ 39 ง วันที่ 20 กันยายน 2537)
*แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การปฎิบัติเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน การตรวจสอบและควบคุมภายในของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 ลงวันที่ 14 กันยายน 2538 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 112 ตอนที่ 75 ง วันที่ 19 กันยายน 2538)
เอกสารแนบ*
แนวทางในการจัดทำระเบียบพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน การตรวจสอบและควบคุม
ภายในของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
——————————————————
การรับเงินและการจ่ายเงิน
(1) มีการกำหนดผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงินและวงเงิน
(2) การจ่ายเงินควรกำหนดให้มีหลักฐานประกอบ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อผู้รับเงิน จำนวนเงิน คำอธิบายลักษณะรายการ ลายมือชื่อผู้รับเงิน ผู้ตรวจสอบความถูกต้องและผู้อนุมัติการจ่ายเงิน
(3) การจ่ายเงินเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน รับซื้อ ซื้อลด และรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน และการลงทุนในหลักทรัพย์ให้สั่งจ่ายเป็นเช็คระบุชื่อผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ขายหลักทรัพย์และขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้รับเงิน (Account Payee Only) พร้อมขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออก เว้นแต่กรณีเป็นการให้กู้ยืมเงิน เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยมีอสังหาริมทรัพย์นั้นจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนหนี้ จะสั่งจ่ายเช็คในลัษณะดังกล่าวโดยระบุชื่อผู้ขายอสังหาริมทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับเงินก็ได้ สำหรับการจ่ายเงินกรณีอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นที่มีจำนวนเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ควรสั่งจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้รับเงิน (Account Payee Only) พร้อมขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออก
(4) การจ่ายเงินที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไป ควรจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม เว้นแต่ได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้บริหารบริษัทที่มีตำแหน่งตั้งแต่ผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป หรือเทียบเท่าที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้จ่ายเป็นอย่างอื่น ส่วนกรณีการจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินหรือบัตรเงินฝาก หรือตราสารอื่น หากมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้ถือปฏิบัติ ให้ปฏิบัติตามประกาศนั้น
(5) ในการจ่ายเงินเป็นเช็คตาม (3) และ (4) ให้ผู้รับเงินลงนามเป็นหลักฐานการรับเช็คพร้อมทั้งจัดให้มีสำเนาเช็คหรือสำเนาภาพถ่ายเช็คดังกล่าวเรียงตามวันที่ออกเช็คไว้ด้วย
(6)การรับเงินเป็นเช็คหรือจ่ายเงินเป็นเช็ค ให้จัดทำทะเบียนบันทึกการรับจ่าย ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ เลขที่เช็ค ชื่อผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับเงิน วันออกเช็ค ธนาคาร สาขา และจำนวนเงิน
การให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลด และรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน และการก่อภาระผูกพัน
(1) มีการกำหนดผู้มีอำนาจอนุมัติและวงเงิน
(2) การให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลด และรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน หรือการก่อภาระผูกพันที่มีวงเงินเกินจำนวนที่บริษัทกำหนด หรือตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติวงเงิน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาให้กู้ยืมเงิน หลักประกัน การขยายเวลาชำระหนี้และการต่อสัญญาการให้กู้ยืมเงิน ในการประชุมคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว ให้จัดทำรายงานการประชุมและให้ลงลายมือชื่อผู้เข้าประชุมไว้ด้วย
คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการหรือผู้บริหารที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(3)ในการให้กู้ยืมเงิน ถ้ามีเอกสารการกู้ยืมหลายประเภทสำหรับเงินต้นจำนวนเดียวกัน ให้บันทึกความเกี่ยวพันของเอกสารทุกฉบับให้ชัดแจ้งไว้ในเอกสารการกู้ยืมทุกประเภท
(4) จัดให้มีแฟ้มลูกหนี้รายตัว โดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้
(ก) สำเนาภาพถ่ายหลักฐานแสดงตัวและทะเบียนบ้านของลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน และในกรณีที่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคลให้ใช้หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท และหนังสือบริคณห์สนธิ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องเป็นปัจจุบัน
(ข)รายงานการวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องลงลายมือชื่อผู้วิเคราะห์ประกอบการพิจารณาอนุมัติการให้กู้ยืมเงิน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ อาชีพหรือธุรกิจของลูกหนี้ วัตถุประสงค์การใช้เงินและความสามารถในการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายที่มีวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ควรจัดให้มีรายงานพิจารณาทบทวนรายละเอียดที่กล่าวข้างต้นอย่างน้อยปีละครั้งทั้งนี้ในกรณีเป็นการทบทวนการให้กู้ยืมเงินแก่นิติบุคคลให้แนบงบการเงินในขณะที่ให้กู้ยืมและที่เป็นปัจจุบันซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองไว้ด้วย
(ค)ในกรณีที่มีหลักประกันต้องจัดให้มีรายงานการประเมินราคาทรัพย์สิน ที่ใช้เป็นหลักประกันโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ประเภทของทรัพย์สิน ที่ตั้ง แผนผัง ราคาประเมิน ชื่อผู้ประเมิน และวันเดือนปีที่ประเมินราคา สำหรับลูกหนี้รายที่มีวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ควรจัดให้มีรายงานพิจารณาทบทวนรายละเอียดที่กล่าวข้างต้นอย่างน้อยปีละครั้ง
(ง)เอกสารแสดงการอนุมัติการให้กู้ยืมเงินที่แสดงรายชื่อ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบการพิจารณาสินเชื่อแต่ละรายเป็นลำดับทุกขั้นตอน
(จ) เอกสารแสดงการติดตามเร่งรัดหนี้สำหรับลูกหนี้รายที่ผิดนัดชำระหนี้ ตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป
(5) จัดทำทะเบียนหลักประกันและจัดทำให้ทะเบียนหลักประกันนั้นเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(6) การตัดจำหน่ายหนี้สูญต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และมีการจัดชั้นลูกหนี้และสินทรัพย์อื่น ๆ รวมทั้งความคืบหน้าในการติดตามหนี้ ที่มีปัญหารายงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย ทุกเดือน
การลงทุนในหลักทรัพย์
(1) การซื้อขายหลักทรัพย์ ให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติการซื้อขายหลักทรัพย์ และเมื่ออนุมัติการซื้อขายหลักทรัพย์ใด ให้รายงานพร้อมสถานะการลงทุนในหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการบริษัททุกเดือน ในการประชุมคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวให้จัดทำรายงานการประชุมและลงลายมือชื่อผู้เข้าร่วมประชุมไว้ด้วย
(2) การลงทุนในหลักทรัพย์รายใดที่มีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นเกินจำนวนที่บริษัทกำหนด หรือตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไปให้จัดทำแฟ้มหลักทรัพย์ที่ได้ลงทุนตามรายชื่อผู้ออกหลักทรัพย์ โดยมีเอกสารเกี่ยวกับงบการเงินที่มีผู้สอบบัญชีรับรองของปีปัจจุบันและย้อนหลังไม่น้อยกว่าสองปีรวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาอนุมัติการลงทุน และหลักฐานการอนุมัติ
การประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท
ควรจัดให้มีการตรวจสอบและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทอาทิ ในด้านการระดมเงินทุน การบริหารสินเชื่อ ค่าใช้จ่ายการบริหารและระบบการตรวจสอบภายใน
ส่วนกำกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงินโทร. 2826650 ——————————————————— *เป็นเอกสารแนบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การปฎิบัติเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน การตรวจสอบและควบคุมภายในของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 14 กันยายน 2537

แท็ก เครดิต  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ