หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday December 14, 1999 18:20 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                 14   ธันวาคม  2542
เรียน ผู้จัดการ
สำนักงานวิเทศธนกิจทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(11)ว. 4322 /2542 เรื่อง ขอบเขตการประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามที่ธนาคารได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 โดยเป็นการยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวทั้ง 5 ฉบับ เพื่อรวมอยู่ในฉบับเดียว และได้แก้ไขและเพิ่มเติมข้อความจากประกาศฉบับเดิมทั้ง 5 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศสามารถให้ผู้กู้แต่ละรายเบิกถอนเงินให้กู้ยืมจำนวนครั้งละต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. หรือเทียบเท่าได้ ในกรณีการให้กู้ยืมอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การให้กู้ยืมดังกล่าวจะต้องเป็นผลมาจากสัญญากู้ยืมเดิม
2. ในการโอนผลขาดทุนหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชีไปให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจ กิจการวิเทศธนกิจจะต้องแจ้งการโอนดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โอน เช่นเดียวกับการโอนผลกำไรหลังหักภาษี
3. ขยายระยะเวลาที่จะอนุญาตให้กิจการวิเทศธนกิจประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่ง อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และ ถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5836, 283-5878
หมายเหตุ
[
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่……เวลา……ณ……..
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
ของธนาคารพาณิชย์
_____________________
เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ให้ยกเลิก
(1) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2541
(2) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2541
(3) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2541
(4) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 และ
(5) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2542
ข้อ 2. ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ต้องแยกกิจการวิเทศธนกิจออกจากกิจการธนาคารพาณิชย์อื่นเสมือนหนึ่งเป็นคนละนิติบุคคล เช่น การแยกทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐาน และบัญชี เป็นต้น
ข้อ 3. ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ต้องแยกกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ และกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศออกจากกัน
ข้อ 4. ห้ามมิให้กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ใด ๆ โอนเงินของกิจการให้แก่กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศที่เป็นกิจการของธนาคารพาณิชย์เดียวกันนั้น หรือให้กู้ยืม หรือฝากเงินกับกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศที่เป็นกิจการของ ธนาคารพาณิชย์อื่น
ข้อ 5. ห้ามมิให้กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ใด ๆ ชำระหนี้ตามภาระผูกพันอันเกิดจากการอาวัล รับรอง หรือค้ำประกันหนี้ใด ๆ แทนกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศที่เป็นกิจการของธนาคารพาณิชย์เดียวกันหรือของธนาคารพาณิชย์อื่น
ข้อ 6. ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
(1) เงินรับฝากและเงินกู้ยืมต้องมีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ
(2) การชำระคืนเงินรับฝาก เงินกู้ยืม และดอกเบี้ยของกิจการวิเทศธนกิจ ต้องกระทำในต่างประเทศ ในกรณีของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ การเบิกถอนเงินให้กู้ยืม การชำระคืนเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ย ต้องกระทำในต่างประเทศ และหากการชำระคืนเงินให้กู้ยืม และดอกเบี้ยดังกล่าวกระทำโดยบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่ผู้กู้ บุคคลนั้นต้องมีถิ่นที่อยู่นอกประเทศด้วย ความใน (1) และ (2) ไม่ใช้บังคับกรณีที่เป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือกิจการวิเทศธนกิจอื่น
(3) การเบิกถอนเงินให้กู้ยืมจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศของผู้กู้แต่ละรายต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนโดยสถาบันการเงิน หรือเป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีที่มียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า หรือ เป็นกรณีการให้กู้ยืมอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการให้กู้ยืมดังกล่าวจะต้องเป็นผลมาจากสัญญากู้ยืมเดิม การเบิกถอนเงินให้กู้ยืมจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศของผู้กู้แต่ละรายที่เป็นผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายหรือให้บริการแก่กิจการที่ประกอบธุรกิจส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีที่มียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(4) การทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างกิจการวิเทศธนกิจกับลูกค้า กิจการวิเทศธนกิจต้องดำเนินการให้ลูกค้าให้ชื่อ ที่อยู่ และข้อมูลที่แท้จริง และในการจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้า กิจการวิเทศธนกิจต้องจัดทำเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวให้ตรงต่อความเป็นจริง
(5) ห้ามรับฝากเงินที่ใช้เช็คในการเบิกถอนเงิน
(6) การรับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันการชำระหนี้ให้แก่กิจการวิเทศธนกิจอื่นต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการรับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันให้แก่กิจการส่วนใดของกิจการวิเทศธนกิจอื่นนั้น
(7) รายรับจากการประกอบธุรกิจของกิจการวิเทศธนกิจต้องเป็นเงินตราต่างประเทศ เว้นแต่เป็นรายรับจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมเงินบาทในต่างประเทศ หรือรายรับจากธุรกิจตามข้อ 14.
ข้อ 7. ให้กิจการวิเทศธนกิจสามารถรับโอนสินทรัพย์ หนี้สิน หรือกิจการต่าง ๆ ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกิจการวิเทศธนกิจ จากกิจการส่วนอื่นของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการวิเทศธนกิจ หรือวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างอื่น
ให้กิจการวิเทศธนกิจแจ้งการรับโอนตามวรรคหนึ่งให้บรรดาลูกหนี้ของธุรกิจที่รับโอนดังกล่าวทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันรับโอน เว้นแต่ในกรณีที่มีการรับโอนก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้แจ้งการรับโอนให้บรรดาลูกหนี้ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และให้แจ้งการรับโอนให้บรรดาลูกหนี้ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาการรับโอนตามวรรคหนึ่ง หรือนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีที่มีการรับโอนก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 8. กิจการวิเทศธนกิจอาจมีสินทรัพย์ซึ่งเป็นเงินบาทไว้ในประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้
(1) สินทรัพย์เพื่อการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามมาตรา 11 ตรี
(2) สินทรัพย์ที่สำรองไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในมูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาทในรูปของสินทรัพย์ดังต่อไปนี้
1) สถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งเครื่องใช้สำนักงานต่าง ๆ โดยหักค่าเสื่อมราคาตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ
2) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือหลักทรัพย์ที่รัฐบาลไทยค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยให้คำนวณตามราคาตลาดหรือราคาทุนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
3) หุ้นกู้ที่ไม่อาจแปลงสภาพแห่งสิทธิเป็นหุ้นได้ บัตรเงินฝาก หรือตราสารแห่งหนี้ ซึ่งออกโดยนิติบุคคลหรือสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและเสนอขายในประเทศไทย ให้คำนวณตามราคาตลาดหรือราคาทุนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
4) เงินสดหรือบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศไทย
5) เงินทดรองจ่ายแก่พนักงาน ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานและเงินค่ามัดจำ (3) สินทรัพย์ที่ออกโดยสถาบันการเงินตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตราสารที่ออกโดยบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ทางการมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว
(4) พันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ
(5) เงินลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จากนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
ข้อ 9. กิจการวิเทศธนกิจอาจเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนเงินบาท ซึ่งเป็นผลกำไรหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชี เพื่อส่งผลกำไรนั้นกลับไปยังกิจการส่วนอื่นของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจ ทั้งนี้ กิจการส่วนอื่นนั้นต้องอยู่ในต่างประเทศด้วย
2) เปลี่ยนเงินบาทที่เกิดจากการจำหน่ายสินทรัพย์ตามข้อ 8. หรือที่เกิดจากการ จำหน่ายสินทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ เพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมตามข้อ 11.
(3) เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ตามข้อ 8. หรือเพื่อการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามมาตรา 11 ตรี และเปลี่ยนเงินบาทจากการลดยอดของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามมาตรา 11 ตรี เพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมตามข้อ 11. รวมทั้งการทำสัญญาประกันความเสี่ยงสำหรับจำนวนเงินที่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว
(4) เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตราสารที่ออกโดยบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ทางการมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และเปลี่ยนเงินบาทเพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมตามข้อ 11. การเปลี่ยนเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้กับธนาคารรับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในส่วนที่ไม่ใช่กิจการวิเทศธนกิจ
ข้อ 10. สินทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ หรือกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศให้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ของกิจการวิเทศธนกิจ
นั้น ๆ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่สินทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้เป็นเงินบาท สินทรัพย์นั้นไม่ให้นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ที่เป็นเงินบาทที่กิจการวิเทศธนกิจพึงมีได้ตามข้อ 8.
สินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งที่เป็นเงินบาท ต้องเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมทุกประเภทตามที่กิจการวิเทศธนกิจส่วนนั้นจะพึงกระทำได้ตามข้อ 11.
ข้อ 11. ผลกำไรหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชี หรือเงินตราต่างประเทศ ซึ่งได้มาจากการ
เปลี่ยนเงินบาทตามข้อ 9. ให้ถือว่ามีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งกิจการวิเทศธนกิจสามารถนำกลับไปประกอบธุรกรรมทุกประเภทตามที่กิจการวิเทศธนกิจจะพึงกระทำได้ตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ และตามประกาศฉบับนี้แต่ไม่รวมถึงการให้กู้ยืมเงินบาทของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ
ข้อ 12. การโอนผลกำไรหรือผลขาดทุนหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชีไปให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น กิจการวิเทศธนกิจต้องแจ้งการโอนดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โอน
ข้อ 13. กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ อาจเปิดบัญชีเงินฝากแบบไม่มี ดอกเบี้ยไว้กับกิจการส่วนอื่นของธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้นซึ่งอยู่ในประเทศไทยเพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจได้ แทนการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ (nostro account)โดยตรง ทั้งนี้ ณ สิ้นวัน บัญชีเงินฝากดังกล่าวจะต้องไม่มียอดคงค้างใด ๆ
ข้อ 14. นอกจากการประกอบธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์แล้ว กิจการวิเทศธนกิจอาจประกอบธุรกิจอื่นที่ เกี่ยวกับหรือเนื่องจากกิจการวิเทศธนกิจ ตามที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยดังต่อไปนี้ได้ด้วย
(1) การให้บริการข่าวสาร ข้อมูลทางการเงินและเศรษฐกิจทั่วไป
(2) การให้บริการจัดทำหรือวิเคราะห์โครงการเพื่อการลงทุน
(3) การเป็นที่ปรึกษาในการซื้อกิจการ รวมกิจการ หรือควบกิจการ
(4) การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
(5) การจัดการออก (arranging) หรือการจัดจำหน่าย (underwriting) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ในกรณีที่ผู้ออกตราสารอยู่ในประเทศ กิจการวิเทศธนกิจของธนาคาราณิชย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องประกอบธุรกิจนี้ร่วมกับกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(6) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินตราต่างประเทศภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1) กิจการวิเทศธนกิจสามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินในประเทศ สถาบันการเงินที่จดทะเบียนในต่างประเทศ หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โดยการเบิกถอนเงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินให้กู้ยืมในประเทศที่รับซื้อหรือรับโอนของผู้กู้แต่ละราย ต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนโดยสถาบันการเงิน หรือเป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีมียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า การเบิกถอนเงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินให้กู้ยืมในประเทศที่รับซื้อหรือรับโอน ของผู้กู้แต่ละรายที่เป็นผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายหรือให้บริการแก่กิจการที่ประกอบธุรกิจส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีที่มียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
2) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ต้องเป็นการรับซื้อโดยเด็ดขาดตามสภาพของหนี้ที่เป็นอยู่ทั้งการจัดชั้นและระยะเวลาที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น
3) ในการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม กิจการวิเทศธนกิจต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมโดยเคร่งครัด
(7) การค้ำประกันการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ไทยหรือจากต่างประเทศที่เป็นเงินตราต่างประเทศแก่ลูกค้าในประเทศ ต้องมีวงเงินขั้นต่ำในการค้ำประกันไม่น้อยกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ลูกค้าในประเทศที่เป็นผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายหรือให้บริการแก่กิจการที่ประกอบธุรกิจส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีวงเงินขึ้นต่ำในการค้ำประกันไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(8) การรับซื้อลดตราสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่เป็นเงินตราต่างประเทศเฉพาะกรณีที่ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ส่งออกที่มีภูมิลำเนาหรือจดทะเบียนในประเทศไทย ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1) รับซื้อลดตั๋วแลกเงินที่เกี่ยวกับการส่งออกทั้งกรณีมีเลตเตอร์ออฟเครดิต(export bill under L/C) และไม่มีเลตเตอร์ออฟเครดิต (export bill under D/A or D/P)
2) รับซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการส่งสินค้าออก และได้ออกตามเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
2.1) เลตเตอร์ออฟเครดิตที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
2.2) สัญญาซื้อขายหรือคำสั่งซื้อสินค้า
2.3) ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้า หรือใบรับจำนำสินค้าของธนาคารพาณิชย์อันเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ส่งออกมีสินค้าพร้อมจะส่งออกเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าหรือสถานที่เก็บสินค้าที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความเชื่อถือ
2.4) ตั๋วแลกเงินอันเกิดจากการที่ผู้ส่งออกได้ส่งสินค้าออกแล้ว กิจการวิเทศธนกิจต้องแยกบัญชีในการประกอบธุรกิจตามข้อนี้ต่างหากจากบัญชีอื่น ๆ ของกิจการวิเทศธนกิจอย่างชัดเจน
(9) การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตที่เป็นเงินตราต่างประเทศเฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าตามข้อตกลงแห่งเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นมีภูมิลำเนาหรือจดทะเบียนในประเทศไทย และต้องมีวงเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพื่อผลิตสำหรับการส่งออก โดยมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีวงเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(10) การให้กู้ยืมโดยทำสัญญาทรัสต์รีซีท (Trust Receipt) ที่เป็นเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ซื้อสินค้าที่มีภูมิลำเนาหรือจดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งที่มีหรือไม่มีเลตเตอร์ออฟเครดิตประกอบ และต้องมีวงเงินการให้กู้ยืมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพื่อผลิตสำหรับการส่งออก โดยมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีวงเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(11) การให้เช่าซื้อหรือการให้เช่าแบบลีสซิ่ง ภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1) ในข้อกำหนดนี้
“ผู้เช่า” หมายความว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้เช่าแบบลีสซิ่ง
“เงินรายงวด” หมายความว่า เงินที่ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระแก่ธนาคารพาณิชย์ในแต่ละงวด ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นดอกผลเช่าซื้อและราคาเงินสดประจำงวดตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ
“ค่าเช่า” หมายความว่า ค่าเช่าตามสัญญาแบบลีสซิ่ง
“การปรับโครงสร้างหนี้” หมายความว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
“เช่าซื้อ” หมายความว่า เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“การให้เช่าแบบลีสซิ่ง” หมายความว่า การให้เช่าทรัพย์สินเพื่อให้ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ในกิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการบริการอย่าง
อื่นเป็นทางค้าปกติ โดยผู้เช่ามีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า ทั้งนี้ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะซื้อหรือเช่าทรัพย์สินนั้นต่อไปในราคาหรือค่าเช่าที่ได้ตกลงกัน
2) ให้ธนาคารพาณิชย์ให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่ง ซึ่งทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาเพื่อชำระหนี้จากลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้
3) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง เมื่อผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระเงินรายงวดหรือค่าเช่าสองงวดติด ๆ กัน หรือเมื่อผู้เช่ากระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งการบอกเลิกสัญญาพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือดังกล่าว ในหนังสือบอกเลิกสัญญานั้นให้ระบุด้วยว่าหากผู้เช่าชำระค่าเช่างวดที่ค้างชำระ หรือแก้ไขการผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญดังกล่าวแล้วแต่กรณี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา การบอกเลิกสัญญานั้นเป็นอันระงับไป
ในกรณีที่ผิดนัดไม่ชำระเงินรายงวดหรือค่าเช่าสองงวดติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ หากผู้เช่าชำระค่าเช่างวดที่ค้างชำระเงินรายงวดที่ค้างชำระหรือแก้ไขการผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ให้การบอกเลิกสัญญานั้นเป็นอันระงับไป
4) เมื่อสิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2544 กิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์จะประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อ หรือการให้เช่าแบบลีสซิ่งอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่ได้
ข้อ 15. สถานที่ทำการของกิจการวิเทศธนกิจต้องมีเพียงแห่งเดียว และต้องอยู่ในสถานที่ เดียวกับที่ทำการของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น
ข้อ 16. กิจการวิเทศธนกิจต้องนำส่งค่าธรรมเนียมรายปี ปีละ 500,000 บาท การชำระค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง ให้ชำระที่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน ทำการแรกของทุกปี เว้นแต่ปีแรกให้ชำระเมื่อรับใบอนุญาต
ข้อ 17. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ในประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2542
(ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป14-กส40002-251215ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ