การขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday May 16, 1996 20:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                        ธนาคารแห่งประเทศไทย
16 พฤษภาคม 2539
เรียนผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.งพ. (ว) 1188/2539 เรื่อง การขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ
ปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ
ตามที่ทางการได้มีนโยบายที่จะขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน และได้ดำเนินการอนุญาตให้สถาบันการเงินประกอบธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมเป็นลำดับมาแล้ว นั้น
บัดนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ รวม 4 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วดังนี้
1. พระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2539 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับบริษัทเงินทุนได้
2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485
3. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 19 เมษายน 2539
4. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศได้ ลงวันที่ 19 เมษายน 2539 กำหนดคุณสมบัติของบริษัทเงินทุนที่สามารถยื่นคำขอประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศได้
กฎกระทรวงและประกาศตาม 3 เป็นการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนสามารถยื่นคำขอประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ และสามารถรับฝากเงินตราต่างประเทศ ได้ตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ธนาคารจึงขอนำส่งกฎหมายทั้ง 4 ฉบับข้างต้นมาเพื่อทราบ และเพื่อถือปฏิบัติ สำหรับบริษัทเงินทุนใดที่ประสงค์จะขอรับอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การยื่นคำขออนุญาตที่แนบมาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้ โดยสามารถขอรับแบบคำขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามนัยมาตรา 20 (6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 และแบบคำขออนุญาตเป็นบริษัทรับอนุญาตตามนัยข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ที่ฝ่ายกำกับ และพัฒนาสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารจะพิจารณาคำขออนุญาตปีละ 1 ครั้ง โดยกำหนดให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเว้นแต่การยื่นคำขอในปี 2539 ให้ยื่นได้ภายใน 4 เดือนนับจากวันที่ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องเงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุน ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่26 สิงหาคม 2539 ทั้งนี้ กรณีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ยังไม่แยกธุรกิจ จะต้องยื่นโครงการขอแยกธุรกิจก่อน จึงมีสิทธิ์ยื่นคำขอประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศได้
ขอแสดงความนับถือ
เริงชัย มะระกานนท์
แทน
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. พระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2539
2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ลงวันที่ 19 เมษายน 2539
3. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 19 เมษายน 2539
4. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ลงวันที่ 19 เมษายน 2539
5. หลักเกณฑ์การยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 2835868,2825877
หลักเกณฑ์การยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ
1. คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต
ผู้มีสิทธิยื่นคำขอต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1.1 เป็นบริษัทเงินทุนเท่านั้น สำหรับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะต้องแยกธุรกิจหลักทรัพย์ออกไปเป็นอีกนิติบุคคลหนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน หรือได้ยื่นคำขอแยกธุรกิจเงินทุน และธุรกิจหลักทรัพย์ต่อสำนักงานก.ล.ต. แล้ว
1.2 ต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 สุทธิ และสินทรัพย์รวมสุทธิ ณ วันสิ้นงวดการบัญชีล่าสุดไม่ต่ำกว่า 2,000ล้านบาท และ 20,000 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ให้คำนวณเงินกองทุนชั้นที่ 1 สุทธิ และสินทรัพย์รวมสุทธิตามวิธีการที่กำหนดในแบบคำขอ
2. การยื่นคำขอและกำหนดเวลาในการยื่นคำขอ
ผู้ขออนุญาตต้องยื่นคำขอพร้อมกัน 2 ประเภท ตามแบบที่กำหนด ดังนี้
2.1 แบบคำขอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ตามนัยมาตร 20 (6) วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัตการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลัทรัพย์ และธุรกิจเครดิฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522
2.2 แบบคำขออนุญาตเป็นบริษัทรับอนุญาต ตามนัยข้อ 3 แห่ง กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2479) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485
บริษัทที่สนใจจะยื่นคำขอ ให้ติดต่อขอรับแบบคำขอทั้ง 2 ประเภท ได้ที่ฝ่ายกำกับ และพัฒนาสถาบันการเงิน และยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารจะพิจารณาคำขออนุญาตปีละ 1 ครั้ง โดยกำหนดให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เว้นแต่การยื่นคำขอในปี 2539 ให้ยื่นได้ภายใน 4 เดือนนับจากวันที่ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ลงวันที่ 19 เมษายน 2539 มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ กรณีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ยังไม่แยกธุรกิจ จะต้องยื่นโครงการขอแยกธุรกิจก่อน จึงมีสิทธิยื่นคำขอประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศได้
3. เอกสารประกอบการยื่นคำขอ
ผู้ขออนุญาตต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้พร้อมกับคำขอ
3.1 งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองในรอบการบัญชี 5 ปีก่อนยื่นคำขอ
3.2 หลักฐานการยื่นขอแยกธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์
3.3 แผนการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) เป้าหมายและนโยบายการประกอบธุรกิจ
(2) กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ (Business Strategy)
(3) ขอบเขตการให้บริการ
(4) การวิเคราะห์ความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ (Feasibility Studies)
(5) ข้อมูลทางการเงินที่สอดคล้องกับแผนการประกอบธุรกิจ
3.4 ข้อมูลแสดงการเตรียมการด้านบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ ประกอบด้วย
(1) รายชื่อ ประวัติการศึกษา และประสบการณ์การทำงานของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
(2) จำนวนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรสาร และเครื่องบันทึกเสียงอัตโนมัติ (Taping Equipment) เป็นต้น
3.5ระเบียบปฏิบัติที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรทางด้านการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การบัญชี การตรวจสอบกิจการภายใน และการรายงานต่อผู้บริหารในเรื่องเกี่ยวกับการค้าเงินตราต่างประเทศ และการค้าอนุพันธ์ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ
(1) แผนภูมิการแบ่งส่วนงาน (Organization Chart) พร้อมคำอธิบายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนงานผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
(2)ขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้าเงินตราต่างประเทศ การค้าอนุพันธ์ และการจัดการตลาดเงินของผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
(3) ขอบเขตอำนาจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยแสดงถึง limit ต่างๆและวิธีการกำหนด limit นั้น ๆ และระบุวิธีการการมอบหมายอำนาจ และวิธีปฏิบัติกรณีที่มีการละเว้นหรือมีการปฏิบัติเกินอำนาจหน้าที่ที่กำหนด
(4) หลักเกณฑ์ในการพิจารณาวงเงินเพื่อค้าเงินตราต่างประเทศ และอนุพันธ์กับคู่ค้าแต่ละราย
(5) การควบคุมและการบริหารความเสี่ยงทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ
(6) ผังบัญชี พร้อมทั้งคำอธิบายวิธีการบันทึกบัญชี การควบคุมภายในด้านการบัญชี และขั้นตอนในการลงทุนบัญชี รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการแปลงค่าเงินตราต่างประเทศ การ mark to market และการรับรู้กำไรขาดทุน
(7) แผนการตรวจสอบและวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบกิจการด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ความถี่ในการตรวจสอบและการรายงานผลการตรวจสอบ
(8)แบบรายงานต่าง ๆ ที่ใช้ภายในบริษัทเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทางด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ทั้งที่เสนอต่อผู้บริหารและที่จัดส่งให้ส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งระบุความถี่ในการจัดทำรายงาน และคำอธิบายประกอบวิธีการจัดทำรายงาน
(เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเวียนที่ ธปท.งพ.(ว)1188/2539 เรื่อง การขออนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ)

แท็ก ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ