ผู้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ สำหรับหลักทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday January 8, 1996 17:33 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                      ธนาคารแห่งประเทศไทย
8 มกราคม 2539
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
ที่ ธปท.งพ.(ว) 43/2539 เรื่อง การคัดเลือกผู้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ (Custodian) สำหรับหลักทรัพย์ที่ใช้ดำรงเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง
ตามที่ธนาคารมีหนังสือที่ธปท.งพ.(ว) 128/2537 ลงวันที่ 24 มกราคม 2537 ถึงธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ที่ ธปท.งพ.(ว) 129/2537 ลงวันที่ 24 มกราคม 2537 ถึงบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัทและที่ ธปท.งพ.(ว)130/2537 ลงวันที่ 24 มกราคม 2537 ถึงบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท กำหนดให้สถาบันการเงินแจ้งรายชื่อ Custodian ที่จะเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่ออกโดยบรรษัทเงินทุนอุตสหกรรมแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรองค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศที่ใช้ดำรงเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง มาให้ธนาคารให้ความเห็นชอบก่อน นั้น
เพื่อให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวในการเลือกใช้บริการผู้ดูแลเก็บรักษาหลักทรัพย์ ที่กล่าวข้างต้น ธนาคารจึงเห็นชอบให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สามารถเลือกใช้ Custodian ที่เป็นสถาบันที่มีฐานะมั่นคง และมีเครือข่ายการให้บริการในศูนย์กลางการเงินที่สำคัญ ซึ่งได้รับ credit rating จาก Moody's ไม่ต่ำกว่า Aa3 หรือจาก Standard& Poor's ไม่ต่ากว่า AA- เป็นผู้เก็บรักษาหลักทรัพย์ได้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องกำหนดให้ Custodian จัดส่งใบยืนยันยอดหลักทรัพย์หรือ statement of transactions ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
ในกรณีที่สถาบันการเงินจะเลือกใช้ Custodian ผู้มีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว สถาบันการเงินจะต้องแจ้งชื่อ Custodian มาให้ธนาคารพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนตามหลักเกณฑ์เดิม
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
วิจิตร สุพินิจ
ผู้ว่าการ
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 28359380-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ