ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday November 10, 1995 14:27 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                        ธนาคารแห่งประเทศไทย
10 พฤศจิกายน 2538
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ งฟ.(ว) 4439/2538 เรื่อง ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารขอส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 112 ตอนที่ 90 ง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538
เนื่องจากในปัจจุบัน ทางการได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินให้กว้างขวางขึ้น สถาบันการเงินจึงจำเป็นต้องจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และความชำนาญในด้านธุรกิจการเงินเข้ามาเป็นผู้บริหารเพื่อรองรับการขยายขอบเขตธุรกิจดังกล่าว ฉะนั้น ธนาคารด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2527 และกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ที่สำคัญ ดังนี้
1.กำหนดระดับคุณสมบัติเกี่ยวกับคุณวุฒิทางการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงานขั้นต่ำของบุคคลที่บริษัทจะแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการ และผู้บริหารในระดับที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบควบคุมดูแลการปฏิบัติงานที่เป็นสายงานที่เป็นสายงานหลักของบริษัท ให้สูงขึ้นกว่าเดิม
2. สำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่าย หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานที่มิใช่สายงานหลักของบริษัท เช่น งานธุรการ งานสารบรรณ งานเลขานุการ งานบัญชี การพนักงาน การประชาสัมพันธ์ การตรวจสอบกิจการภายใน การประมวลผลการจัดการระบบข้อสนเทศและการดำเนินงานด้านกฎหมายเป็นต้น ไม่บังคับว่าต้องมีประสบการณ์ในการทำงานในสถาบันการเงินมาก่อนแต่ควรมีคุณวุฒิทางการศึกษาและหรือประสบการณ์ในการทำงานเฉพาะด้านที่ตรงกับสายงานที่จะดูแลรับผิดชอบ
3. ในการคัดเลือกพิจารณาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารว่า มีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะดำรงควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้
3.1 พิจารณาว่าบุคคลนั้นมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถ และมีความรอบคอบในการที่จะบริหารงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติงาน และเป็นบุคคลที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
3.2 พิจารณาประวัติการบริหาร และ ผลงานในอดีต โดยจะต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงหรือการปฏิบัติที่ไม่สุจริต หรือก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง หรือการหลอกลวงหรือการกระทำการใดๆ ที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม อันก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือและความน่าสงสัยต่อการบริหารงานของบุคคลนั้น
ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้บริหารตามแบบที่แนบหนังสือธนาคารที่ งฟ.(ว) 3618/2538 ลงวันที่ 15 กันยายน 2538 ทั้งนี้ ในกรณีขอความเห็นชอบตาม2. หากธนาคารไม่ทักท้วงภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือขอความเห็นชอบ ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับความเห็นชอบการแต่งตั้งแล้วตามที่ขอ
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
แทน
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538
ส่วนกำกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 2826746
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทเงินทุน
และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
—————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (9) (10) มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิต-ฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 พ.ศ.2526 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
ข้อ1.ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่16 มกราคม 2527
ข้อ 2. ในประกาศนี้
"ผู้บริหาร" หมายถึง กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการบริษัท หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น รวมทั้งที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นซึ่งบริษัททำสัญญาให้มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารงานของบริษัท ตลอดจนผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่บุคคลอื่นนั้นด้วย
"ประสบการณ์ในการทำงาน" หมายถึง ประสบการณ์ในการทำงานเต็มเวลาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือเกี่ยวกับกิจการของหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 3. ผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1)เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติทางการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวคือ
(1.1) สำหรับกรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการบริษัท ผู้จัดการ รองผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป หรือเทียบเท่าที่ก.พ.รับรอง และมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
(1.2)สำหรับผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่าย หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
(ก)สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่ก.พ.รับรองและมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
(ข) สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ หรือสายสามัญหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
ทั้งนี้ เว้นแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่าย หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และหรือควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทที่มิใช่สายงานหลัก เช่นงานธุรการ งานสารบรรณ งานเลขานุการ งานบัญชี การพนักงาน การประชาสัมพันธ์การตรวจสอบกิจการภายในการประมวลผลการจัดการระบบข้อสนเทศและการดำเนินงานด้านกฎหมายเป็นต้น
(2) เป็นบุคคลที่มีประวัติผลงานความสามารถในการบริหารงานเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะดำรง
(3) เป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งหรือมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ และ ความรับผิดชอบในระดับใกล้เคียงขอบเขตอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของตำแหน่งในบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิต-ฟองซิเอร์ เว้นแต่กรรมการซึ่งไม่มีอำนาจในการจัดการบริษัท และบุคคลตาม (1.2) วรรคสอง
(4) เป็นบุคคลที่สามารถทำงานให้แก่บริษัทได้เต็มเวลาตามหน้าที่ และความรับผิดชอบ
ข้อ 4. ผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สั่งถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินใดมาก่อน
(2) ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่กำกับและควบคุมสถาบันการเงินกล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือกำลังถูกดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองเอร์ กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการกำกับและควบคุมสถาบันการเงินนั้น
(3) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากสถาบันการเงินใดไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ เนื่องจากกระทำทุจริตในสถาบันการเงินนั้น
(4) มีประวัติการทำงานอันส่อไปในทางทุจริต
(5)มีประวัติการบริหารงานอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการกำกับและควบคุมสถาบันการเงินนั้นหลายครั้งหรือที่เป็นความผิดร้ายแรงอันแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบในการบริหารงาน
(6)เป็นลูกหนี้อันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น เว้นแต่เป็นลูกหนี้อันเนื่องจากภาระผูกพันตามคำสั่งการจากธนาคารแห่งประเทศไทย
การที่บุคคล ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด ตามมาตรา 20 (7) วรรคสอง แห่งพระราช-บัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 เป็นลูกหนี้ของบริษัท ให้ถือว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นลูกหนี้ด้วย
ข้อ 5. ความในข้อ 3. มิให้ใช้บังคับแก่บุคคลที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 22 (7) และ (8) (ข) (ค) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ข้อ 6. ผู้บริหารที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารอยู่แล้ว ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากมีคุณวุฒิทางการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานไม่ครบถ้วนตามข้อ3 (1)ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นได้ต่อไป
ข้อ 7. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2538
วิจิตร สุพินิจ
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประเทศทั่วไป เล่ม 112 ตอนที่ 90 ง วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ