แนวทางการผ่อนผันเป็นการเฉพาะกาลสำหรับสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 10, 2005 13:52 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                    10  มีนาคม 2548 
เรียน ผู้จัดการ
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท. ฝสว. (21) ว. 474 /2548 เรื่อง แนวทางการผ่อนผันเป็นการเฉพาะกาลสำหรับสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 เห็นชอบกับแผนพัฒนาระบบสถาบัน
การเงินตามแนวทางที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ ซึ่งการดำเนินการตามแผน
ดังกล่าวส่วนหนึ่งจะส่งผลกระทบถึงธนาคารต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในกรณีดังต่อไปนี้
1) กรณีที่กิจการวิเทศธนกิจยกฐานะเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch)
2) กรณีที่กิจการวิเทศธนกิจโอนสินทรัพย์และหนี้สินเข้ามาในกิจการของ สาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch)
3) กรณีที่สาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) ขออนุญาตจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary)
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจะต้องมีการ
เตรียมการเปลี่ยนสถานะและบทบาทให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ
ไทย จึงได้พิจารณากำหนดแนวทางการผ่อนผันในเรื่องต่าง ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งเป็นการเฉพาะกาล โดย
เฉพาะเรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ และหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่ หรือลงทุนในกิจการ
ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งปัจจุบันไม่มีผลใช้บังคับกับกิจการวิเทศธนกิจ
2. อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ที่แก้ไข
แล้ว และข้อ 1 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อหรือลงทุนในกิจการของผู้อื่น หรือก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินกว่าอัตราที่ประกาศกำหนดลงวันที่ 20 กันยายน 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาผ่อนผันให้สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ(Full Branch) และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) เกี่ยวกับการให้ สินเชื่อ เงินลงทุน และก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด และการให้สินเชื่อแก่ หรือลงทุนในกิจการ ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นโดยอนุโลมเป็นการเฉพาะกาล ดังปรากฏตาม หลักเกณฑ์ในประกาศฉบับนี้
3. เนื้อหา
3.1 ให้สาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของ
ธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลความเสี่ยงในทุกเรื่องภายใต้หลักเกณฑ์ตามหนังสือเวียน และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับกับสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Full Branch) และธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่สาขาธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) และธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ได้ถือปฏิบัติอยู่ ตามแต่กรณี
3.2 อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กิจการวิเทศธนกิจยกฐานะเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) ก็ดี หรือในกรณีที่กิจการวิเทศธนกิจโอนสินทรัพย์และหนี้สินเข้ามาในกิจการของสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) ก็ดี เนื่องจากกิจการวิเทศธนกิจไม่ตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับ ลูกหนี้รายใหญ่ และการให้สินเชื่อแก่ หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และการให้สินเชื่อ แก่ผู้ถือหุ้นอยู่ก่อน แต่เมื่อกิจการวิเทศธนกิจได้เปลี่ยนสถานะดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว สาขาของธนาคาร ต่างประเทศ (Full Branch) จะต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในหนังสือเวียน และประกาศที่เกี่ยวข้อง ดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาผ่อนผันเป็นการเฉพาะกาลในกรณีที่การดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีผลทำให้อัตราส่วนการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ และอัตราส่วนการให้สินเชื่อแก่ หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดดังนี้
3.2.1 กรณีสัญญามีกำหนดอายุ (Term loan) ผ่อนผันให้สาขาของธนาคารต่างประเทศ(Full Branch) สามารถให้สินเชื่อ ลงทุน หรือก่อภาระผูกพันตามสัญญาที่ผูกพันไว้แล้วต่อไปได้จนกว่าจะหมดอายุสัญญา
3.2.2 กรณีสัญญาที่ไม่มีกำหนดอายุ (Call loan) ผ่อนผันให้สาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) สามารถให้สินเชื่อ ลงทุน หรือก่อภาระผูกพันตามสัญญาต่อไปได้ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันเปิดดำเนินการ
3.3 ในกรณีที่สาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) ขออนุญาตจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) ซึ่งสาขาของธนาคารต่างประเทศสามารถให้สินเชื่อ ลงทุน หรือก่อภาระผูกพันแก่คู่ค้าที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะ จัดตั้งขึ้น และธนาคารที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย แต่ละรายเกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้อยู่ก่อนแล้ว ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) สามารถให้สินเชื่อ ลงทุน หรือก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยมีหลักเกณฑ์ เช่นเดียวกับข้อ 3.2 โดยอนุโลม
ทั้งนี้ ข้อ 3.2 และ 3.3 จะผ่อนผันเฉพาะกรณีสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่รัฐมนตรีพิจารณาให้
ความเห็นชอบให้กิจการวิเทศธนกิจยกฐานะเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) หรือวันที่
รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้กิจการวิเทศธนกิจโอนสินทรัพย์และหนี้สินเข้ามาในกิจการของสาขา
ของธนาคารต่างประเทศ (Full Branch) หรือวันที่รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ธนาคารต่างประเทศ
ดำเนินการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ(Subsidiary)
4. วันเริ่มต้นถือปฏิบัติ
หนังสือฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร. 0-2283-5304, 0-2283-5303
หมายเหตุ [
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่.....ณ............
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว12-คส00001-25480311

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ