16 พฤศจิกายน 2542
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(12)ว.3862/2542 เรื่อง การปรับปรุงคำจำกัดความของ เงินกู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
ธนาคารขอส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 91ง ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ การปรับปรุงคำจำกัดความของเงินกู้ยืมระยะสั้นจาก ต่างประเทศ และเงินฝากในบัญชีผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศระยะสั้น (ในกรณีกิจการวิเทศธนกิจ และกิจการ วิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัด) ที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ดังนี้
1. เงินกู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศ หมายถึง เงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ครบกำหนดใน 1ปี นับแต่วันกู้และเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่อาจชำระคืนหรืออาจถูกเรียกคืนได้ใน 1 ปีนับแต่วันกู้
2. เงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศระยะสั้น (ในกรณีกิจการวิเทศธนกิจ และกิจการ วิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัด) หมายถึง เงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศที่อาจถอนได้ใน 1ปีนับแต่วันฝาก
ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงเงินกู้ยืมจากต่างประเทศและเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ที่มีระยะเวลาเท่ากับ 366 วันในช่วงปีอธิกสุรทิน และเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ครบกำหนดใน 1ปี แต่วันส่งมอบเงินตามสัญญา (settlement date) เป็นวันหยุดทำการของธนาคารจึงต้องเลื่อนวันส่งมอบเงินออกไปเป็นวันทำการถัดไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สนสว10-กส23005-25421116ด
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่อง ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5868, 283-5843
หมายเหตุ ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ………….เวลา………….ณ
/ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
_____________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ตรี มาตรา 11 จัตวา และมาตรา 11 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 1 เมษายน 2542
ข้อ 2. ธนาคารพาณิชย์นอกจากกิจการวิเทศธนกิจและกิจการวิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัดต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของ
(1) ยอดรวมเงินฝากทุกประเภท
(2) ยอดรวมเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ครบกำหนดใน 1 ปี นับแต่วันกู้ และยอดรวมเงินกู้ยืมจากต่างประเทศซึ่งอาจชำระคืนหรืออาจถูกเรียกคืนได้ใน 1 ปี นับแต่วันกู้ เว้นแต่เป็นเงินกู้ยืมตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ยอดรวมเงินฝากและยอดรวมเงินกู้ยืมข้างต้นให้นับรวมยอดเงินซึ่งโอนเข้ามาในประเทศไทยจากสาขาหรือสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศที่แสดงอยู่ในบัญชีระหว่างกันด้วย
ข้อ 3. สินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามข้อ 2 ดังกล่าวต้องประกอบด้วย
(1) เงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1
(2) เงินสดที่ธนาคารพาณิชย์ แต่ให้ถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ไม่เกินร้อยละ 2.5
(3) หลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพัน ดังต่อไปนี้
ก. หลักทรัพย์รัฐบาลไทย
ข. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
ค. หุ้นกู้ พันธบัตรหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
ง. พันธบัตรหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
จ. หุ้นกู้ พันธบัตรหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
ฉ. หุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่ออกโดยองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบหรือที่ออกโดย
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ช. ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบัตรเงินฝากที่ออกโดยธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตั๋ว 56 บริษัทเงินทุนที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
ข้อ 4. ในกรณีของกิจการวิเทศธนกิจ และกิจการวิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัด ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของ
(1) ยอดรวมเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศซึ่งอาจถอนได้ใน 1 ปี นับแต่วันฝาก เว้นแต่เป็นเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(2) ยอดรวมเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ครบกำหนดใน 1 ปี นับแต่วันกู้และยอดรวมเงินกู้ยืมจากต่างประเทศซึ่งอาจชำระคืนหรืออาจถูกเรียกคืนได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันกู้ เว้นแต่เป็นเงินกู้ยืมตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ยอดรวมเงินฝากและยอดรวมเงินกู้ยืมข้างต้นให้นับเฉพาะยอดรวม เงินฝาก หรือยอดรวมเงินกู้ยืมของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศและกิจการ วิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมเป็นเงินบาทในต่างจังหวัดเท่านั้น และให้นับรวมยอดเงินซึ่งโอนเข้ามา ในประเทศไทยจากสาขาหรือสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศที่แสดงอยู่ในบัญชีระหว่างกันด้วย สินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตาม (1) และ (2) ให้ถือปฏิบัติตามข้อ 3
(3) ยอดรวมทั้งสิ้นของเงินฝากทุกประเภท ยกเว้นยอดรวมเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ และยอดรวมเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศที่กล่าวใน (1) แห่งข้อนี้ โดยกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารต่างประเทศและกิจการวิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัดจะถือเอาสินทรัพย์ใด ๆ เป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงก็ได้ ส่วนกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ถือปฏิบัติตามข้อ 3
ข้อ 5. สินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามประกาศนี้ให้คิดจากส่วนเฉลี่ยรายปักษ์ของทุกสิ้นวัน และส่วนเฉลี่ยรายปักษ์ของยอดรวมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์แล้วแต่กรณี ทุกสิ้นวันในปักษ์ก่อน ทั้งนี้ ให้ถือเอาวันที่ 8 ถึงวันที่ 22 ของเดือนเป็นปักษ์หนึ่ง และวันที่ 23 ถึง วันที่ 7 ของเดือนถัดไป เป็นอีกปักษ์หนึ่ง และให้นับวันหยุดทำการรวมคำนวณเข้าด้วย ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์และกิจการวิเทศธนกิจดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไว้เกินจำนวนเกณฑ์ขั้นต่ำในปักษ์หนึ่ง ให้สามารถนำส่วนที่เกินไปรวมในปักษ์ต่อไปได้ 1 ปักษ์ แต่ทั้งนี้ ส่วนที่นำไปรวมนั้นจะต้องไม่เกิน ร้อยละ 5 ของจำนวนเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องดำรงใน ปักษ์ที่เกิน
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์และกิจการวิเทศธนกิจดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ไม่ถึงจำนวนเกณฑ์ขั้นต่ำในปักษ์หนึ่ง ให้สามารถนำเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปักษ์ถัดไปมารวมเข้าในปักษ์ที่ขาดอยู่ แต่ทั้งนี้ ส่วนที่นำมารวมนั้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องดำรงในปักษ์ที่ขาดอยู่ และส่วนที่นำมารวมนั้นจะต้องถูกหักออกจากจำนวนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการคำนวณสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงในปักษ์ถัดไป
ข้อ 6. ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2542
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป10-กส23003-25421105
-ยก-