สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคา หรือเรียกคืนไม่ได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday March 31, 1999 19:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                     31  มีนาคม  2542
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ง.(ว) 511/2542 เรื่อง การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคา หรือเรียกคืนไม่ได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
ธนาคารขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 20ง ลงวันที่ 30 มีนาคม 2542 แล้ว
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ และการกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
1. ส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อันเกิดจากการที่บริษัทยอมลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่ลูกหนี้หรือเกิดจากการรับชำระหนี้บางส่วนเสร็จสิ้น ได้ปรับปรุงให้บริษัทสามารถล้างรายการเงินสำรองที่กันไว้แล้วสำหรับลูกหนี้รายนั้นส่วนที่สูงกว่าส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ เงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นทั้งสิ้นของบริษัท จะต้องรักษาไว้ไม่ให้ต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารกำหนดให้ทยอยกันในแต่ละงวด
2. ส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่บริษัทยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขใดในการชำระหนี้ ซึ่งตามหลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้ทยอยกันสำรองจากส่วนสูญเสียสุทธิ (ส่วนสูญเสียหลังหักเงินสำรองที่กันไว้แล้ว) ของลูกหนี้รายนั้น ภายใน 5 งวดการบัญชี จนถึงสิ้นปี 2543 นั้น ได้ปรับปรุงวิธีการทยอยกันสำรองโดยให้คิดจากส่วนสูญเสียทั้งจำนวน ไม่ต้องหักเงินสำรองที่กันไว้แล้วสำหรับลูกหนี้รายนั้น ซึ่งหากเงินสำรองที่กันไว้แล้วสำหรับลูกหนี้รายนั้นมีจำนวนเกินกว่าจำนวนที่ต้องพึงทยอยกันสำหรับลูกหนี้รายนั้นในแต่ละงวดการบัญชี บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องกันเงินสำรองเพิ่มอีกและสามารถล้างจำนวนเงินสำรองที่ได้กันไว้เกินแล้วลงให้คงเหลือเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องพึงทยอยกันได้ แต่หากเงินสำรองที่มีอยู่ต่ำกว่าจำนวนที่ต้องทยอยกันก็ให้กันเงินสำรองเพิ่มเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่
3. ให้บริษัทเปลี่ยนการจัดชั้นหนี้เป็นหนี้ปกติได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลา 3 เดือน หรือ 3 งวดการชำระเงิน เมื่อลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้สามารถชำระดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโดยไม่มีช่วงปลอดการชำระดอกเบี้ย แต่อาจมีช่วงปลอดชำระเงินต้นได้
(2) ลูกหนี้มีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดหนี้ตามบัญชีก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้มีการตัดออกจากบัญชีแล้ว หรือได้มีการกันเงินสำรองในอัตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยหนี้ส่วนที่เหลือได้มีการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสด อย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีหลักฐานประกอบจนเชื่อได้แน่นอนว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(3) ลูกหนี้ในลักษณะ Loan Syndication หรือมีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งบรรดาเจ้าหนี้ได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้ และสามารถแสดงหลักฐานการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสด อย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีหลักฐานประกอบจนเชื่อได้แน่นอนว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(4) กรณีที่บริษัทได้ฟ้องร้องลูกหนี้ ต่อมาได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว และกรณีที่บริษัทได้ฟ้องร้องลูกหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว
(5) กรณีที่บริษัทได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
นอกจากที่กล่าวแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวข้างต้น ธนาคารขอยกเลิกความในข้อ 6 ของหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินตามหนังสือที่ธปท.ง.(ว) 1838/2541 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 ด้วย
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์)
ผู้อำนวยการฝ่าย
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัย ว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 2835304, 2835303, 2835837
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์
ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
______________________________
อาศัยอำนาจตามมาตรา 23 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 12 แห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่ส่งสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 12 ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้บริษัทถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ตัดส่วนสูญเสียออกจากบัญชี หรือกันเงินสำรองดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่บริษัทยินยอมลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือรับชำระหนี้โดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้บริษัทตัดจำหน่ายบัญชีลูกหนี้และบันทึกส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมกับโอนกลับรายการเงินสำรองส่วนเกินที่กันไว้เฉพาะสำหรับลูกหนี้รายนั้นทั้งจำนวนได้
(ข) ในกรณีที่บริษัทยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาด แต่ไม่ลดต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้บริษัทบันทึกเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการคำนวณราคาตามบัญชีใหม่ของลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดทั้งจำนวน เว้นแต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2543 บริษัทสามารถทยอยกันเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับข้อ 14 แต่ต้องไม่เกินอายุของสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้บริษัทสามารถโอนกลับรายการเงินสำรองที่กันไว้แล้วเดิมก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายนั้นได้เฉพาะจำนวนที่กันไว้แล้วสูงกว่าจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องทยอยกัน และหากเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่ำกว่าจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องทยอยกันก็ให้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องทยอยกันดังกล่าว
(ค) ในกรณีที่บริษัทยินยอมลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือรับชำระหนี้บางส่วนโดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน และผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ในส่วนที่เหลือให้แก่ลูกหนี้ให้บริษัทปฏิบัติตาม (ก) สำหรับกรณีการลดต้นเงินหรือดอกเบี้ย หรือการรับชำระหนี้ดังกล่าว และปฏิบัติตาม (ข) ในส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาด
(2) ในระหว่างติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องชำระเงินตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 3 งวดการชำระเงิน แล้วแต่ระยะเวลาใดจะนานกว่า ให้ดำเนินการดังนี้
(ก) ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสงสัยจะสูญ หรือสงสัย ให้จัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน
(ข) ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกล่าวถึงเป็นพิเศษ ให้คงจัดชั้นเช่นเดิม ทั้งนี้ บริษัทจะต้องกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ตามสถานะการจัดชั้นหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากเงินสำรองตาม (2)นี้มีจำนวนสูงกว่าเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตาม (1) (ข) และ (ค)
เมื่อลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ โดยชำระเงินตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 3 งวดการชำระเงินแล้ว ให้ถือเป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติ
ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นเพื่อการกันเงินสำรองตามเกณฑ์ในประกาศฉบับนี้ต่อไป
(3) สำหรับลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนึ้ ให้บริษัทจัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้ทันทีโดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(ก) ลูกหนี้ที่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด(Market interest rate) โดยไม่มีช่วงปลอดการชำระดอกเบี้ย แต่อาจมีช่วงปลอดชำระเงินต้นได้
(ข) ลูกหนี้ที่มีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดหนี้ตามบัญชีก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้มีการตัดออกจากบัญชีแล้ว หรือได้มีการกันเงินสำรองในอัตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยหนี้ส่วนที่เหลือได้มีการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสด อย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีหลักฐานประกอบจนเชื่อได้แน่นอนว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(ค) ลูกหนี้ในลักษณะ Loan Syndication หรือมีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งบรรดาเจ้าหนี้ได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้ และสามารถแสดงหลักฐานการวิเคราะห์ฐานะและกิจการ ของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดอย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้แน่นอนที่ลูกหนี้จะปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(ง) กรณีที่บริษัทได้ฟ้องร้องลูกหนี้ ต่อมาได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว และกรณีที่บริษัทได้ฟ้องร้องลูกหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว
(4) กรณีที่บริษัทได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้บริษัทจัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้ทันทีโดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(5) ในกรณีที่เห็นว่ามีข้อผิดสังเกตในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งการให้มีการแก้ไข หรือให้บริษัทหาผู้เชี่ยวชาญอิสระมาประเมินหรือทบทวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แต่ละรายได้
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 แห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่ส่งสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 14 เว้นแต่สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญตามข้อ 4 (2) และ (3) ซึ่งให้ถือปฏิบัติในข้อ 15 บริษัททยอยกันเงินสำรองให้ครบถ้วน ทั้งในกรณีสินทรัพย์จัดชั้นและกรณีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 12 ภายในสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2543 โดย ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2541 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(2) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2542 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(3) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2542 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(4) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2543 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(5) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2543 ให้กันเงินสำรองให้ครบถ้วน ในกรณีที่บริษัทต้องลดทุนเพราะเหตุที่ทางการใช้อำนาจสั่งการตามกฎหมาย จำนวนเงินสำรองที่ต้องกันซึ่งจะนำมาใช้ในการพิจารณาลดทุนนั้น คือเงินสำรองที่ต้องกันเต็มทั้งจำนวน โดยจะไม่นำการทยอยกันตามวรรคแรกมาใช้บังคับ
อนึ่ง หากบริษัทได้กันเงินสำรองไว้แล้วมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องทยอยกันเงินสำรองในแต่ละงวด บริษัทจะต้องคงจำนวนเงินสำรองดังกล่าวไว้ในบัญชีต่อไปจนกว่าจะกันเงินสำรองได้ครบถ้วนแล้ว เว้นแต่เป็นการลดลงของเงินสำรองอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 12
อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากรณีใด จำนวนเงินสำรองคงเหลือต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่ให้ทยอยกันตามวรรคแรก”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 16 แห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่งวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2542 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2542
(นายกิตติ พิฒนพงศ์พิบูล)
ผู้ว่าการ แทน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ