หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday June 1, 1999 19:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  1 มิถุนายน  2542
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร *
ที่ ธปท.ง.(ว)2115/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า
เนื่องด้วยทางการได้มีนโยบายที่จะขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินและได้อนุญาตให้สถาบันการเงินประกอบธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมเป็นลำดับมาแล้ว นั้น
บัดนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 จะพิจารณาอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า
จึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตไว้ดังนี้
1. ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า ยื่นคำขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ในการพิจารณาอนุญาต ธนาคารแห่งประเทศไทย จะคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้
(1) ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการดำรงเงินกองทุนตามกฎหมายตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนด และการกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด
(2) คุณสมบัติของผู้บริหาร
(3) ระบบการจัดการ ระบบบัญชี และระบบควบคุมภายใน
(4) การปฏิบัติตามกฎหมาย
(5) นโยบายและมาตรการในการควบคุมและบริหารความเสี่ยงในการประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
หมายเหตุ * ไม่รวมกิจการวิเทศธนกิจ
3. ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
4. ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เฉพาะกรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า นอกจากได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย
อนึ่ง ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ธนาคารพาณิชย์จะทำได้เฉพาะเพื่อป้องกันความเสี่ยงของตน และมีหลักฐานที่ชัดแจ้งว่าจะได้หลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ในอนาคต ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล)
รองผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5868, 283-5304
หมายเหตุ ธนาคารจะไม่จัดการชี้แจงรายละเอียดหนังสือฉบับนี้
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ