การกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday March 3, 1997 18:57 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                      ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 มีนาคม 2540
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท.งพ.(ว) 579/2540 เรื่อง การกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัย
ว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้
ตามที่ได้เกิดภาวะอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาด ส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีคุณภาพเสื่อมลง แม้ว่าลูกหนี้เหล่านี้จะยังมีหลักประกันซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดเกินกว่ายอดหนี้คงค้าง แต่การที่ลูกหนี้บางรายไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และเงินต้นส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงความเชื่อมั่นในความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศ
เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 พ.ศ.2528 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ลงวันที่ 28 มีนาคม 2529 ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนี้
1) ให้สินทรัพย์ที่มีปัญหาในการเรียกให้ชำระคืน หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามปกติ ซึ่งเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง เป็นสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ตาม (13) ของข้อ 5 แห่งประกาศดังกล่าว
2) ให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองทุกงวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือน ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของยอดคงค้างของสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งเป็นรายธนาคารต่อไป
ทั้งนี้ ให้กันเงินสำรองตามอัตราดังกล่าวเริ่มตั้งแต่งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2540 หรือวันสิ้นสุดงวดการบัญชีครึ่งแรกของปี 2540 โดยให้กันสำรองไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ภายในงวดการบัญชีหลังของปี 2540 และจะต้องกันสำรองให้ครบถ้วนตามอัตราดังกล่าว ภายในสิ้นปีการบัญชี 2541
จึงเรียกมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเริงชัย มะระกานนท์)
ผู้ว่าการ
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร.283-5833, 283-5868

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ