การตีความมาตรฐานการบัญชีกรณีสถาบันการเงิน รับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ด้วยหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday July 30, 1999 19:20 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  30  กรกฎาคม  2542
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ
ที่ ง.(ว) 1100 /2542 เรื่อง การตีความมาตรฐานการบัญชีกรณีสถาบันการเงิน รับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ด้วยหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ตามหนังสือ
ที่ ง.(ว) 2112/2542 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2542 และมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 34 เรื่อง การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาไม่ได้กำหนดแนวทางเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีสินทรัพย์กรณีที่สถาบันการเงินรับโอนสินทรัพย์จากลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ โดยราคายุติธรรมสูงกว่าเงินลงทุนในลูกหนี้ ธนาคารจึงขอนำส่งการตีความมาตรฐานการบัญชี เรื่องที่ 1 สินทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนให้เพื่อชำระหนี้ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 โดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางการบันทึกบัญชีในกรณีดังกล่าว
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์)
ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย การตีความมาตรฐานการบัญชี เรื่องที่ 1 สินทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนให้เพื่อชำระหนี้ วันที่ 25 มีนาคม 2542
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5304, 283-5303, 283-5837
ง*ว90-กส15111-25420730ด
การตีความมาตรฐานการบัญชี
เรื่องที่ 1
สินทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนให้เพื่อชำระหนี้
มาตรฐานการบัญชีเรื่อง การนำเสนองบการเงิน ย่อหน้าที่ 11 ระบุว่า กิจการจะสามารถระบุว่างบการเงินที่จัดทำขึ้นเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปก็ต่อเมื่องบการเงินนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดทุกข้อในมาตรฐานการบัญชีที่ต้องนำมาปฏิบัติ และเป็นไปตามการตีความทุกประเด็นของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชี
อ้างถึง : มาตรฐานการบัญชีเรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา
ประเด็นปัญหา
1. มาตรฐานการบัญชี เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ระบุว่า ในการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา เจ้าหนี้อาจรับชำระหนี้ทั้งหมดจากลูกหนี้โดยการรับโอนอสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์อื่น หรือลูกหนี้บุคคลที่สาม เจ้าหนี้ต้องบันทึกบัญชีสินทรัพย์ที่รับโอนมาด้วยมูลค่ายุติธรรม หากเจ้าหนี้รับโอนสินทรัพย์ถาวรจากลูกหนี้เพื่อเป็นการรับชำระหนี้ทั้งหมดโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำสินทรัพย์ดังกล่าวออกขายให้บันทึกสินทรัพย์เหล่านั้นด้วยมูลค่ายุติธรรมหักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการขาย เจ้าหนี้ต้องบันทึกผลต่างระหว่างเงินลงทุนในลูกหนี้ที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมา (หักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการขาย) ในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดบัญชีเป็นรายการขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้
2. ประเด็นปัญหาคือ หากมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่รับโอนมาหักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการขาย (มูลค่ายุติธรรมสุทธิ) สูงกว่าเงินลงทุนในลูกหนี้ กิจการสามารถนำมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การบัญชีสำหรับปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหามาประยุกต์ใช้เพื่อบันทึกรายการกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ในงบกำไรขาดทุนได้หรือไม่การตีความ
3. การที่เจ้าหนี้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยรับโอนสินทรัพย์จะเข้าเงื่อนไขเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้าหนี้ที่มีปัญหา ก็ต่อเมื่อมูลค่ายุติธรรมสุทธิของสินทรัพย์ต่ำกว่าเงินลงทุนในลูกหนี้ ดังนั้น ในกรณีที่สินทรัพย์นั้นมีมูลค่ายุติธรรมสุทธิสูงกว่าเงินลงทุนในลูกหนี้ กิจการไม่สามารถนำมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา มาประยุกต์ใช้กับการรับโอนสินทรัพย์จากลูกหนี้
4. ในกรณีที่สินทรัพย์ที่รับโอนจากลูกหนี้มีมูลค่ายุติธรรมสุทธิสูงกว่าเงินลงทุนในลูกหนี้ กิจการต้องบันทึกสินทรัพย์นั้นด้วยราคาทุนหรือมูลค่ายุติธรรมสุทธิแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่าหากกิจการถือสินทรัพย์ดังกล่าวไว้เพื่อขาย ราคาทุนในที่นี้ หมายถึง เงินลงทุนในลูกหนี้ตามคำนิยามที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา
5. ภายหลังวันที่ได้รับโอนสินทรัพย์ กิจการยังคงต้องวัดมูลค่าของสินทรัพย์ที่รับโอนและถือไว้เพื่อขายโดยใช้วิธีราคาทุนหรือมูลค่ายุติธรรมสุทธิแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า กิจการต้องประเมินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายในการขายของสินทรัพย์นั้นใหม่ทุกสิ้นงวดบัญชี หากมูลค่ายุติธรรมสุทธิที่ประเมินใหม่ของสินทรัพย์ต่ำกว่าราคาทุนกิจการต้องบันทึกจำนวนที่ต่ำกว่านั้นเป็นค่าเผื่อการปรับมูลค่าของสินทรัพย์ ค่าเผื่อการปรับมูลค่าสามารถปรับขึ้นลงได้ตามมูลค่ายุติธรรมสุทธิที่เปลี่ยนไปแต่ต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์ กิจการต้องบันทึกมูลค่ายุติธรรมสุทธิที่ลดลงเป็นรายการขาดทุนในงบกำไรขาดทุนทันทีที่เกิดและต้องบันทึกมูลค่ายุติธรรมสุทธิที่สูงขึ้นเป็นรายการกำไรได้ไม่เกินรายการขาดทุนที่เคยรับรู้ไปแล้วในงวดก่อน
6. ในกรณีที่สินทรัพย์ที่ได้รับโอนมามิได้มีไว้เพื่อขาย กิจการอาจบันทึกสินทรัพย์นั้นด้วยมูลค่ายุติธรรมสุทธิและรับรู้รายการกำไรที่เกิดจากการที่มูลค่ายุติธรรมสุทธิของสินทรัพย์นั้นสูงกว่าเงินลงทุนในลูกหนี้ ทั้งนี้กิจการต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการประเมินมูลค่ายุติธรรมสุทธิของสินทรัพย์โดยพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมและข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน
7. กิจการจะถือว่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมิได้มีไว้เพื่อขายหากเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้
7.1 ผู้บริหารของกิจการมีวัตถุประสงค์ที่จะถือสินทรัพย์นั้นไว้เพื่อใช้ในการก่อให้เกิด รายได้ในอนาคต
7.2 กิจการต้องสามารถปฏิบัติตามข้อ 7.1 ได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความสามารถของกิจการเองข้อกำหนดของกฏหมาย หรือข้อกำหนดอื่น ๆ
7.3 มีหลักฐานสนับสนุนว่ากิจการจะนำสินทรัพย์ที่ได้รับโอนเพื่อใช้ในการก่อให้เกิด รายได้ กิจการต้องไม่ถือว่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมีไว้เพื่อใช้ในการก่อให้เกิดรายได้หากกิจการเพียงแต่ถือสินทรัพย์นั้นไว้เป็นเวลาหลายปี โดยที่ยังไม่ขาย
8. ปัจจัยต่อไปนี้ทำให้พิจารณาได้ว่ากิจการอาจถือว่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมิได้มีไว้เพื่อขาย
8.1 ในอดีตกิจการเคยใช้สินทรัพย์ที่คล้ายคลึงกับสินทรัพย์ที่ได้รับโอนในการก่อให้เกิด รายได้เป็นระยะเวลานาน
8.2 โครงสร้างเงินทุนของกิจการชี้ให้เห็นว่ากิจการสามารถถือสินทรัพย์นั้นไว้ใช้เองได้ เป็นระยะเวลานาน
8.3 การประมาณการกระแสเงินสดในระยะยาวได้รวมผลกระทบจากการดำเนินงานของ สินทรัพย์ไว้ และการประมาณการนั้นชี้ให้เห็นว่ากิจการสามารถถือสินทรัยพ์นั้นไว้ใช้เองได้เป็นระยะเวลานาน
8.4 กิจการมีสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนที่เพียงพอที่ชี้ให้เห็นว่ากิจการไม่จำเป็นต้อง ขายสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมา
9. ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่อาจทำให้กิจการถือว่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมิได้มีไว้เพื่อขายมีดัง ต่อไปนี้
9.1 กิจการมีความสามารถและมีความตั้งใจที่จะโยกย้ายสำนักงานจากอาคารที่เช่าไว้ไป อยู่ในอาคารซึ่งกิจการได้รับโอนมา
9.2 การโยกย้ายเริ่มต้นหลังจากที่ได้รับโอนสินทรัพย์มาได้ไม่นาน
9.3 กิจการเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมา
9.4 การโยกย้ายที่จะเกิดขึ้นไม่ทำให้กิจการต้องเสียค่าปรับหรือเงินชดเชยเป็นจำนวนมาก เช่น ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาว
เกณฑ์ในการตีความ
10. การตีความเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดย AICPA เรื่อง การบัญชีสำหรับสินทรัพย์รอการขาย ( SOP 92-3 , Accounting for Foreclosed Assets )
สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย
วันที่ 25 มีนาคม 2542

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ