แนวปฏิบัติและนโยบายของทางการในการปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday January 26, 1998 14:16 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                       12 พฤศจิกายน 2540
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ง.(ว) 3246/2540 เรื่อง แนวปฏิบัติและนโยบายของทางการในการ
ปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงแก่สถาบันการเงิน และเพื่อยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลธนาคารมีแนวปฏิบัติและนโยบายที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับรู้รายได้ การกันสำรอง และการจัดชั้นสินทรัพย์ จึงขอแจ้งแนวปฏิบัติและนโยบายดังกล่าวมาเพื่อให้สถาบันการเงินทุกแห่งทราบและมีเวลาเตรียมตัวในการปฏิบัติให้ถูกต้อง พร้อมกับพิจารณาดำเนินการเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อไป ดังนี้
1. การรับรู้รายได้
เดิมธนาคารกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ระงับการบันทึกบัญชีดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ตามเกณฑ์ค้างรับค้างจ่ายและให้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับชำระสำหรับลูกหนี้ไม่มีหลักประกันที่ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือนและสำหรับลูกหนี้ที่มีหลักประกันที่ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 12 เดือน นั้น
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป สถาบันการเงินทุกแห่งจะต้องระงับการบันทึกบัญชีดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ตามเกณฑ์ค้างรับค้างจ่าย สำหรับลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือนทุกรายและให้บันทึกบัญชีเป็นรายได้เฉพาะตามจำนวนเงินที่ได้รับชำระจริงเท่านั้นจนกว่าลูกหนี้จะได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่มิได้ชำระตามกำหนดนั้นจนหมดสิ้นก่อน สถาบันการเงินจึงจะบันทึกบัญชีดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ตามเกณฑ์ค้างรับค้างจ่ายได้ใหม่
2. การกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้
ตามที่ธนาคารได้สั่งการให้สินทรัพย์ที่มีปัญหาในการเรียกให้ชำระคืน หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามปกติ ซึ่งเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานเป็นสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้และให้ธนาคารพาณิชย์บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์กันสำรองสำหรับสินทรัพย์ดังกล่าวทุกงวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือน ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของยอดคงค้างของสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับธนาคารพาณิชย์ และในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดคงค้างของสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สำหรับบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์โดยให้กันสำรองให้ครบถ้วนตามอัตราดังกล่าวภายในสิ้นปีการบัญชี 2541 นั้น
ธนาคารปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวใหม่ โดยให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติดังนี้
2.1 สินทรัพย์ที่จัดชั้นเป็นสินทรัพย์ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่แล้วเพียงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ไม่ว่าจะโดยผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือโดยการจัดชั้นของสถาบันการเงินเองให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองให้ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนดข้างต้นภายในสิ้นปีการบัญชี 2541 โดยจะต้องกันสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่จะต้องกันสำรองภายในงวดการบัญชีครึ่งหลังของปี 2540 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ภายในงวดการบัญชีครึ่งแรกของปี 2541
2.2 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 หรือวันเริ่มต้นงวดการบัญชีครึ่งหลังของปี 2540 เป็นต้นไปลูกหนี้รายใดที่ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือนให้ถือเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งต้องกันสำรองทันทีตามอัตราที่กำหนดข้างต้นภายในสิ้นปีการบัญชี 2540
อนึ่ง ในกรณีที่สินทรัพย์รายใดเปลี่ยนสภาพเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สถาบันการเงินจะต้องกันสำรองทั้งจำนวนทันที ณ วันสิ้นงวดการบัญชีที่เกิดรายการนั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้ถือปฏิบัติเดิมอยู่แล้ว
3. การเพิ่มทุน
ให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เตรียมแผนการเพิ่มทุนให้เพียงพอที่จะรองรับการกันสำรองที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะเสื่อมคุณภาพและการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โดยธนาคารจะเชิญธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มาหารือเป็นรายๆ ไปตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธนาคารจะปรับปรุงประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งมาให้ทราบต่อไป
อนึ่ง ในระยะถัดไป ธนาคารจะปรับปรุงเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ของสถาบันการเงินและการรายงานใหม่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะจัดให้มีการปรึกษาหารือก่อนที่จะให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน
โทร. 2835868, 2825877, 2835837

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ