ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบง.และบ.เครดิตฟองซิเอร์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday March 6, 1995 16:57 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                         ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบริษัทเงินทุน
และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
—————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ทวิ และมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดไว้เป็นมาตรฐานดังนี้
ข้อ 1. ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 8 มกราคม 2529 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2531 ลงวันที่ 28 มกราคม 2531
*ข้อ 2.ในประกาศฉบับนี้
"บริษัท" หมายความว่า บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
"ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม" หมายความรวมถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากการรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน ตราสารเปลี่ยนมืออื่น หรือตราสารการเครดิต แต่ไม่รวมถึง (1) พันธบัตร (2) ตั๋วเงินคลัง (3) หุ้นกู้ (4) ตั๋วแลกเงินที่บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน (5) ตั๋วแลกเงินที่ออกโดยธุรกิจอื่นหากมีลักษณะเป็นการระดมทุนและมีลักษณะคล้ายหุ้นกู้ และ (6) FRNFRCD หรือตราสารแห่งหนี้อื่นใดที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้หรือคล้ายคลึงหุ้นกู้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้เสนอขาย
"หลักประกัน" หมายความว่า ทรัพย์สินที่อาจจำนำหรือจำนองได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก
"การขายทรัพย์สิน" หมายความรวมถึง การจะขายทรัพย์สินด้วย
ข้อ 3. ให้บริษัทจัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน ตามความเป็นจริงตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและตามมาตรฐานการบัญชีที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) ให้ความเห็นชอบตามที่สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยกำหนดเว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาตรฐานการจัดทำบัญชีไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ 4. ภายใต้บังคับข้อ 5 ในการจัดทำบัญชีรวมทั้งงบการเงิน ให้บริษัทถือปฏิบัติตามเกณฑ์ค้างรับค้างจ่ายทุกเดือน เว้นแต่
(1) เมื่อลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและหรือลูกหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกัน หรือการรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินรายใดมีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่าหกเดือน นับแต่วันครบกำหนด ชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นแล้วแต่วันใดจะถึงก่อนให้บริษัทบันทึกบัญชีเป็นรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับชำระแต่ในกรณีมีหลักประกันคุ้มเงินต้นและดอกเบี้ย ให้บันทึกบัญชีเป็นรายได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามเกณฑ์ค้างรับค้างจ่ายได้ต่อไปอีกไม่เกินหกเดือน
การตีราคาหลักประกันให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก
(2) เมื่อผู้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ผิดนัดและค้างชำระเงินงวดใดงวดหนึ่ง เกินกว่าหกเดือนขึ้นไปให้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับชำระ
(3) เมื่อลูกหนี้ตาม (1) และผู้เช่าซื้อตาม (2) ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินรายงวดตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินหกเดือน บริษัทจะบันทึกบัญชีเป็นรายได้ตามจำนวนเงินที่ได้รับชำระก็ได้
ความใน (1) และ (2) มิให้ใช้บังคับในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนผันเป็นประการอื่น
*ข้อ 5. ในกรณีดังต่อไปนี้ให้บริษัทบันทึกบัญชีเป็นรายได้ดังนี้
(1) การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ ให้บริษัทบันทึกบัญชีเป็นรายได้ โดยคำนวณตามวิธีผลรวมจำนวนปี หรือวิธีอื่นที่คล้ายคลึงกัน
(2) การขายทรัพย์สิน ให้บริษัทบันทึกบัญชีเป็นกำไรดังนี้
ก. กรณีผู้ซื้อมิได้กู้ยืมเงินจากบริษัท เพื่อนำมาชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สิน ให้บริษัทบันทึกบัญชีเป็นกำไรได้เพียงจำนวนที่ไม่เกินสัดส่วนของเงินสดที่ได้รับชำระแล้วต่อราคาขาย หรือจะบันทึกบัญชีเป็นกำไรทั้งจำนวนต่อเมื่อได้รับเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วก็ได้
ข. กรณีบริษัทให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้กู้นำมาชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินจากบริษัท
(1) ถ้าบริษัทให้กู้ยืมเต็มราคาขายทรัพย์สิน ให้บริษัทบันทึกบัญชีเป็นกำไรตามสัดส่วนของเงินให้กู้ยืมที่ได้รับชำระคืนต่อราคาขาย
(2)ถ้าบริษัทให้กู้ยืมไม่เต็มราคาขายทรัพย์สิน ให้บริษัทบันทึกรับรู้กำไรตามที่กล่าวใน ก. สำหรับส่วนที่ได้รับชำระเป็นเงินสด และให้บันทึกรับรู้กำไรตามสัดส่วนของเงินให้กู้ยืมที่ได้รับชำระคืนต่อราคาขาย สำหรับส่วนของราคาขายที่เท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทให้กู้ยืม
การขายทรัพย์สินโดยบริษัทยังมีภาระที่จะต้องดำเนินการอยู่อีก และจะมีผลกระทบต่อกำไรจากการขายทรัพย์สินนั้นเช่นภาระในการโยกย้ายผู้อยู่อาศัยภาระในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น ในการคำนวณกำไรจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว ให้บริษัทหักค่าใช้จ่ายที่ประมาณว่าอาจจะเกิดขึ้นในภายหน้าออกจากกำไรจากการขายทรัพย์สินนั้น ตามสัดส่วนของเงินสดที่ได้รับชำระ ต่อราคาขายหรือตามสัดส่วนของเงินให้กู้ยืมที่ได้รับชำระคืนต่อราคาขายแล้วแต่กรณี
ข้อ 6.ให้บริษัทจัดทำทะเบียนเพื่อบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการค้ำประกันการรับรองตั๋วเงินการรับอาวัลตั๋วเงิน หรือภาระผูกพันอื่นในทำนองเดียวกัน และให้บริษัทบันทึกบัญชีรายการดังกล่าวเป็นรายการตรงกันข้ามทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน ในการจัดทำงบการเงินให้เปิดเผยยอดคงเหลือ ของการรับรองตั๋วเงินไว้ในงบดุล ส่วนการค้ำประกัน การรับอาวัลตั๋วเงินหรือภาระผูกพันอื่นให้แสดงยอดคงเหลือไว้ต่อท้ายงบดุลตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ข้อ 7. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 มีนาคม 2538
วิจิตร สุพินิจ
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 112 ตอนที่ 20 ง วันที่ 9 มีนาคม 2538)
*แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2538 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่น 112 ตอนพิเศษ 48 ง วันที่ 22 ธันวาคม 2538)

แท็ก เครดิต   บัญชี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ