แนวทางการดำรงเงินกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday February 6, 1997 16:49 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                         ธนาคารแห่งประเทศไทย
6 กุมภาพันธ์ 2540
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนคาร
บริษัทเงินทุนทุกบริษัท
ที่ ธปท.งพ.(ว) 243/2540 เรื่อง แนวทางการดำรงเงินกองทุน
เพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้าน Market Risks
ด้วยปัจจุบันสถาบันการเงินได้ให้ความสนใจในการประกอบธุรกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อขาย
เงินตราต่างประเทศและสัญญาอนุพันธ์ ตลอดจนมีการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก่อให้
เกิดความเสี่ยงทางด้าน market risks มากขึ้น ประกอบกับในระยะหลังนี้มักมีข่าวปรากฏว่าสถาบัน
การเงินและธุรกิจหลายแห่งในต่างประเทศได้ประสบผลขาดทุนและความเสียหายอันเนื่องจากความเสี่ยง
ทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก
Bank for International Settlements (BIS) ได้เสนอแนวทางในการกำหนดให้
สถาบันการเงินทั่วโลกต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks เพิ่มเติมจากการดำรงเงิน
กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามวิธีในปัจจุบันซึ่งพิจารณาแต่เฉพาะความเสี่ยงทางด้าน credit risk ซึ่ง
ธนาคารเห็นว่า ข้อเสนอของ BIS เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำกับดูแลความ
เพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงินไทยในอนาคตอันใกล้นี้
เพื่อให้สถาบันการเงินได้มีโอกาสทำความเข้าใจวิธีการดำรงเงินกองทุนตามมาตรฐานสากล
และเตรียมพร้อมสำหรับแนวทางการกำกับดูแลความเสี่ยงทางด้าน market risks ธนาคารจึงขอส่ง
เอกสารของ BIS เกี่ยวกับวิธีการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks พร้อมบทสรุปซึ่ง
ธนาคารจัดทำขึ้นมา ณ โอกาสนี้
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายศิริ การเจริญดี)
แทน
ผู้ว่าการ
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร.2835938-9
___________________________________________________________________________
การดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ
Market Risks *
สรุปจาก Basle Committee on Banking Supervision :
"Amendment to the Capital Accord to Incorporate Market Risks", January
1996
_______________________________________________
* เป็นเอกสารแนบหนังสือธนาคารที่ ธปท.งพ.(ว) 243/2540 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540
เรื่อง แนวทางการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้าน Market Risks
___________________________________________________________________________
การดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ Market risks
นอกเหนือจากการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ credit risk แล้ว BIS ได้เสนอให้
ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ Market risks ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
ก) ความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและทองคำ
ข) ความเสี่ยงทางด้านอัตราดอกเบี้ย
ค) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ (equity risk)
ง) ความเสี่ยงจากการลงทุนใน commodity
จ) ความเสี่ยงจากการค้า option
ทั้งนี้ BIS ได้กำหนดรายละเอียดดังนี้
1. ประเภทธุรกรรมที่ต้องดำรงเงินกองทุน
1.1 ให้ธนาคารพาณิชย์จำแนกธุรกรรมออกเป็นเพื่อการค้า (Trading book) และ
เพื่อการลงทุน (Banking book)
ธุรกรรมเพื่อค้า หมายถึง การซื้อและขายในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อหวังผลกำไร
จากราคาที่เปลี่ยนแปลงไป และธุรกรรมที่ทำเพื่อหักกลบฐานะหรือความเสี่ยงของธุรกรรมอื่น ๆ ใน
Trading book ด้วยกัน
ธุรกรรมเพื่อการลงทุน หมายถึง ธุรกรรมอื่น ๆ นอกจากธุรกรรมเพื่อการค้า
ในกรณีการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและ equity
risk ให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับเฉพาะความเสี่ยงจากธุรกรรมใน Trading book
สำหรับความเสี่ยงประเภทอื่น ๆ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีเงินกองทุนเพื่อรองรับความ เสี่ยงทั้งที่เกิดจาก
ธุรกรรมใน Trading และ Banking book
2. ประเภทเงินกองทุนที่ใช้รองรับความเสี่ยง
BIS ได้กำหนดเพิ่มประเภทเงินกองทุนชั้นที่ 3 ขึ้นสำหรับรองรับความเสี่ยงทางด้าน
market risks เท่านั้น โดยมีคุณสมบัติดังนี้
- เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะสั้น (อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป)
- เป็นตราสารที่ออกโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- ห้ามไถ่ถอนก่อนกำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลาง
- มีเงื่อนไขห้ามชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืน หากการชำระดังกล่าวจะทำให้อัตราส่วน
เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่าที่กำหนด
วิธีคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อความเสี่ยง โดยสรุปคือ
1) เงินกองทุนชั้นที่ 1 + 2 > 8% ตามข้อกำหนดเดิม
_________________ _
Credit risk
2) เงินกองทุนชั้นที่ 1 + 2 + 3 > 8%
_____________________ _
Market risks
ทั้งนี้ องค์ประกอบของเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks เป็นส่วนของเงิน
กองทุนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ได้ไม่เกินกว่า 2.5 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1
3. วิธีวัดความเสี่ยงและคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงแต่ละประเภท
BIS เสนอทางเลือก 2 วิธี สำหรับวัดความเสี่ยงจาก market risk ได้แก่
1) Standardized measurement method หรือ
2) Internal model approach
3.1 Standardized measurement method
ภายใต้วิธีนี้ BIS เสนอสูตรตายตัวในการคำนวณจำนวนเงินทุนที่ใช้รองรับความ
เสี่ยงจาก market risks แต่ละประเภท เช่น สูตรคำนวณเงินกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงจาก
อัตราดอกเบี้ย สูตรการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสูตรการคำนวณ
เงินกองทุนรองรับความเสี่ยงจาก equity หรือ commodity เป็นต้น ดังนั้น เงินกองทุนขั้นต่ำที่
ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำรงเพื่อรองรับความเสี่ยงจาก market risks ทุกประเภท คือ ผลรวมของ
เงินกองทุนที่คำนวณได้จากสูตรต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น
3.2 Internal model approach
สำหรับวิธีนี้ให้ธนาคารพาณิชย์คำนวณค่าความเสี่ยง value at risk (VAR) *
โดยใช้สูตรของธนาคารพาณิชย์เองและต้องดำรงเงินกองทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของ VAR
(หรือมากกว่านี้ แล้วแต่ธนาคารกลางกำหนด) โดยสูตรที่ใช้คำนวณจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก
ธนาคารกลางก่อน
ในการให้ความเห็นชอบสูตรคำนวณ VAR ของธนาคารกลางมีเงื่อนไขกว้าง ๆ
ดังนี้
- ธนาคารพาณิชย์มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีเป็นที่ยอมรับได้
- ธนาคารพาณิชย์มีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพียงพอ
และมีประสิทธิภาพดี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้
- สูตรที่ใช้จะต้องได้รับการพิสูจน์โดยธนาคารกลางว่ามีความถูกต้อง
- มีการทดลองทำ stress test อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการทดสอบผลกระทบ
ต่อฐานะเงินกองทุนจากกรณีที่เกิดความผันผวนทางตลาดอย่างรุนแรง
ธนาคารกลางควรต้องติดตามและทดสอบประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร
พาณิชย์อย่างใกล้ชิดในระยะแรกที่ธนาคารพาณิชย์เลือกวิธีนี้ในการคำนวณเงินกองทุน
ธนาคารพาณิชย์ที่จะใช้วิธี VAR จะต้องมีหน่วยงานที่เป็นอิสระในการควบคุมดูแลความเสี่ยง
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวัดความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรมโดยจะต้อง
สามารถวัดความเสี่ยงให้อยู่ในรูปของจำนวนเงินได้
4. การเริ่มใช้บังคับ
BIS เสนอให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks ภายในสิ้น
ปี 2540 ซึ่งธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ G-10 ได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะนี้ ในระหว่างนี้หาก
ธนาคารพาณิชย์ใดต้องการใช้ internal model approach ในการคำนวณความเสี่ยง ก็ให้เริ่มปรับ
ปรุงระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากธนาคาร
พาณิชย์ใดเลือกที่จะใช้วิธี internal model approach จะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการ
standardized method
ธนาคารแห่งประเทศไทย
6 กุมภาพันธ์ 2540
_________________________________________
* VAR เป็นการประมาณผลขาดทุนสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ภาวะตลาด
เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนา (adverse momement) มากถึง 3 standard
deviation

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ