หลักเกณฑ์การขออนุญาตมีสนง.อำนวยสินเชื่อ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 3, 1994 17:08 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                            ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตมีสำนักงานอำนวยสินเชื่อ
และเงื่อนไขในการอนุญาต
————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการขออนุญาตมีสำนักงานอำนวยสินเชื่อ และเงื่อนไขในการอนุญาตไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ในประกาสนี้คำว่า "สำนักงานอำนวยสินเชื่อ" หมายความว่า สำนักงานสาขาของบริษัทเงินทุนประเภทจำกัดขอบเขตการประกอบธุรกิจเงินทุนเฉพาะที่กำหนดในประกาศนี้
ข้อ 2. บริษัทเงินทุนที่จะขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) มีเงินทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
(2) ปฎิบัติตามกฎหมาย คำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเคร่งครัด และไม่เป็นผู้ที่ปฎิบัติขัด กับนโยบายของทางการ
(3) มีฐานะการดำเนินงานดี มีระบบการจัดการ การควบคุมภายใน และการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความพร้อมในด้านบุคลากร
(4) มีสัดส่วนสินทรัพย์ประจำต่อเงินกองทุนอยู่ในเกณฑ์สมควร และไม่เกิน 1 เท่าของเงินกองทุน
(5) มีผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิติดต่อกัน 3 ปี หลังสุดก่อนยื่นคำขอ และต้องไม่มียอดขายทุนสะสมยกมาจากปีก่อนๆ ด้วย
ข้อ 3. สำนักงานอำนวยสินเชื่อ ที่จะขออนุญาตจัดตั้งได้ จะต้องตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ข้อ 4. ให้บริษัทเงินทุนที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2. และประสงค์จะมีสำนักงานอำนวยสินเชื่อขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยยื่นคำขอที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2 ชุด
คำขออนุญาตอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(1) วัน เดือน ปี ที่ยื่นคำขออนุญาต
(2) ชื่อบริษัทผู้ขออนุญาต
(3) จำนวนสำนักงานอำนวยสินเชื่อที่จะขออนุญาต
(4) สถานที่ตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ โดยจัดทำแผนที่สังเขปแสดงปริมณฑลด้วย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถ ระบุ สถานที่ตั้งได้แน่นอนให้ระบุ อำเภอ และจังหวัดที่จะจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ
(5) รายงานสรุปเศรษฐกิจของท้องถิ่นที่ขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อและรายงานดังกล่าว อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(ก) จำนวนประชากรของท้องถิ่นนั้น
(ข) โครงสร้างเศรษฐกิจของท้องถิ่นสาขาเกษตรกรรม สาขาพาณิชยกรรม สาขาอุตสาหกรรมและสาขาบริการ
(ค) จำนวนโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งจำนวนคนงาน
(ง) จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สาขาธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาธนาคารออมสิน สาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ โรงรับจำนำ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต
(จ) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงการเร่งรัดพัฒนาซึ่งมีผลต่อท้องถิ่นนั้น
(ฉ) การประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้น
(6) แผนการดำเนินงานของสำนักงานอำนวยสินเชื่อที่จะจัดตั้ง และระยะเวลาที่คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
(7) วิธีปฎิบัติงานและการควบคุมภายในของสำนักงานอำนวยสินเชื่อ และระหว่างสำนักงานใหญ่กับสำนักงานอำนวยสินเชื่อ
(8) ผังการจัดองค์กรของแต่ละสำนักงาน สายการปฎิบัติงาน และการควบคุมบังคับบัญชาและคุณวุฒิและประสบการณ์ของพนักงาน
(9) ระบบการประสานงานระหว่างสำนักงานอำนวยสินเชื่อกับสำนักงานใหญ่
ข้อ 5. สำนักงานอำนวยสินเชื่อให้ประกอบธุรกิจได้เฉพาะธุรกิจเงินทุนตามประเภทที่ได้รับอนุญาตและธุรกิจอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 20(6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 แต่จะจัดหาเงินทุนจากประชาชนไม่ได้
ข้อ 6. บริษัทเงินทุน ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงาน อำนวยสินเชื่อ ต้องปฎิบัติเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องเปิดให้บริการ ณ สำนักงานอำนวยสินเชื่อภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ถือว่าการอนุญาตเป็นอันสิ้นผล
(2) ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบกิจการและสินทรัพย์ของสำนักงานอำนวยสินเชื่ออย่างน้อยทุกรอบปีบัญชี และต้องจัดส่งสำเนารายงานการตรวจสอบฉบับที่ส่งไปให้ผู้บริหารให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ส่งให้ผู้บริหาร และต้องจัดส่งสำเนาคำสั่งและข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องกับรายงานการตรวจสอบดังกล่าวของผู้บริหารให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง และข้อแนะนำนั้น ทั้งนี้ ต้องส่งสำเนารายงานการตรวจสอบ คำสั่ งและข้อแนะนำดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 90 วัน นับแต่วันที่เริ่มตรวจสอบ
(3) ต้องแจ้งกำหนดวันเปิดให้บริการของสำนักงานอำนวยสินเชื่อต่อธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนวันเปิดให้บริการไม่น้อยกว่า 15 วัน
ข้อ 7. บริษัทเงินทุน อาจยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยกระดับสำนักงานอำนวยสินเชื่อขึ้น เป็นสำนักงานสาขาที่จัดหาเงินทุนจากประชาชนได้ด้วย เมื่อสำนักงานอำนวยสินเชื่อ นั้นมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) ต้องเปิดให้บริการ ณ สำนักงานนั้นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปี
(2) ให้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง แก่สาขาเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการผลิต และมีการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมรวมทั้งมิใช่เป็นการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเก็งกำไร
(3) มีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ
(4)มีการขยายสินเชื่อ ให้แก่ลูกค้าที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และมียอดคงค้างสินเชื่อในภูมิภาค ณ วันยื่นขออนุญาตไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท
ข้อ 8. ในกรณีที่รัฐมนตรีอนุญาติให้มีสำนักงานอำนวยสินเชื่อและหรืออนุญาตให้ยกระดับสำนักงานอำนวยสินเชื่อขึ้นเป็นสำนักงานสาขาที่จัดหาเงินทุนจากประชาชนได้ด้วย รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้ต้องปฎิบัติเพิ่มเติมด้วยก็ได้
ข้อ 9. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2537
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนพิเศษ 14 ง วันที่ 11 มีนาคม 2537)
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————
รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการขออนุญาตเปิดสำนักงานอำนวยสินเชื่อ
1. คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต
บริษัทเงินทุนที่จะขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อได้ ต้องมีคุณสมบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2537 โดยเฉพาะจะต้องมีความพร้อมในด้านบุคลากร กล่าวคือ โครงสร้างของผู้บริหารในระดับต่างๆ ประกอบด้วยผู้ที่มีคุณสมบัติ เป็นผู้บริหารมืออาชีพในสัดส่วนสูง
2. งวดในการพิจารณาและการยื่นคำขอ
ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาคำขออนุญาตปีละ 1 ครั้ง โดยบริษัทผู้ขออนุญาตต้องยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2537ทั้งนี้ ให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี บริษัทละไม่เกิน 5 สำนักงาน และให้จัดลำดับความสำคัญของคำขอไปด้วย เว้นแต่การยื่นคำขอในปี 2537 ให้ยื่นได้โดยไม่จำกัดจำนวน
3.สถานที่ตั้ง
การขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ จะกระทำได้เฉพาะนอกเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร
4. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต
ในการอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ ในแต่ละพื้นที่ ธนาคารแห่ประเทศไทยจะพิจารณาจากความพร้อมของแต่ละบริษัทในด้านฐานะการดำเนินงานและบุคลากรรวมทั้งพิจารณาจากองค์ประกอบเกี่ยวกับความเหมาะสมของศักยภาพของพื้นที่ที่ตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ ทั้งด้านความหนาแน่นของประชากร ประเภทธุรกิจ และจำนวนสาขาสถาบันการเงินในแต่ละพื้นที่ด้วย
5. การจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ
บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อ จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ยื่นคำขอซื้อหรือมีไว้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามนัยมาตรา 20 (2) (ก) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2528 ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับอนุญาต
ธนาคารแห่งประเทศไทย
มีนาคม 2537
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————
รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการขออนุญาตเปิดสำนักงานอำนวยสินเชื่อเพิ่มเติม
1. การยื่นขอ
ในการยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อในปีนี้ ตามประกาศที่กำหนดไว้ให้แต่ละบริษัทยื่นได้ไม่เกินปีละ 5 สำนักงาน นั้น ในคำขอให้เรียงลำดับจังหวัดตามความสนใจและให้ระบุจังหวัดสำรองไว้อีก 2 จังหวัด สำหรับบริษัทที่ขอจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อเป็นครั้งแรกจะต้องยื่นขอจัดตั้งสำนักงานแต่ละแห่งไม่ซ้ำภาคกัน ส่วนบริษัทที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อแล้ว อาจยื่นขอจัดตั้งสำนักงานในภาคเดียวกับที่บริษัทนั้นๆ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อไปแล้ว ได้แต่จะซ้ำกับจังหวัดที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดตั้งแล้วไม่ได้
2. สถานที่ตั้ง
ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเขตที่จะอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อเป็น 9 ภาค คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภายตะวันตก ภายใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง (รายชื่อจังหวัดในแต่ละภาคตามแนบ)
3. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต
ในการอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อในแต่ละพื้นที่ยังคงพิจารณาจากความพร้อมของแต่ละบริษัท รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของศักยภาพของพื้นที่ที่ตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อเช่นเดียวกับการกำหนดตามประกาศครั้งก่อน อย่างไรก็ดี หากยื่นขอจัดตั้งในจังหวัดที่มีคำขอจัดตั้งสำนักงานอำนวยสินเชื่อเบาบาง หรือในจังหวัดที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจจะได้รับการพิจารณาด้วยดี ทั้งนี้ จะคำนึงถึงความพร้อมของบริษัทเป็นสำคัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
พฤษภาคม 2538
———————————————————————————————————————————————————————————————————————————
รายชื่อจังหวัดในแต่ละภาค
(1) ภาคกลาง
1. สระบุรี 2. ลพบุรี 3. สิงห์บุรี
4. ชัยนาท 5. อ่างทอง 6. พระนครศรีอยุธยา
(2) ภาคตะวันออก
1. ชลบุรี 2. ระยอง 3. ฉะเชิงเทรา
4. จันทบุรี 5. ปราจีนบุรี 6. นครนายก
7. ตราด 8. สระแก้ว
(3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน
1. อุดรธานี 2. หนองคาย 3. สกลนคร
4. เลย 5. นครพนม 6. มุกดาหาร
7. ขอนแก่น 8. กาฬสินธุ์ 9. ชัยภูมิ
10. หนองบัวลำภู
(4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง
1. นครราชสีมา 2. บุรีรัมย์ 3. สุรินทร์
4. ศรีสะเกษ 5. อุบลราชธานี 6. ยโสธร
7. ร้อยเอ็ด 8. มหาสารคาม 9. อำนาจเจริญ
(5) ภาคเหนือ ตอนบน
1. เชียงใหม่ 2. ลำพูน 3. ลำปาง
4. พะเยา 5. แพร่ 6. น่าน
7. แม่ฮ่องสอน 8. เชียงราย
(6) ภาคเหนือ ตอนล่าง
1. นครสวรรค์ 2. อุทัยธานี 3. เพชรบูรณ์
4. พิจิตร 5. กำแพงเพชร 6. สุโขทัย
7. อุตรดิตถ์ 8. พิษณุโลก 9. ตาก
(7) ภาคตะวันตก
1. สมุทรสงคราม 2. เพชรบุรี 3. ราชบุรี
4. สุพรรณบุรี 5. กาญจนบุรี 6. ประจวบคีรีขันธ์
(8) ภาคใต้ ตอนบน
1. ชุมพร 2. ระนอง 3. สุราษฎร์ธานี
4. พังงา 5. ภูเก็ต 6. กระบี่
7. นครศรีธรรมราช
(9) ภาคใต้ ตอนล่าง
1. ตรัง 2. พัทลุง 3. สงขลา
4. ปัตตานี 5. ยะลา 6. สตูล
7. นราธิวาส

แท็ก เครดิต  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ