ปรับปรุงเกณฑ์การยื่นขอเปิดสาขาย่อย และการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday February 14, 2000 19:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                        14  กุมภาพันธ์  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(11) ว.360 /2543 เรื่อง ปรับปรุงเกณฑ์การยื่นขอเปิดสาขาย่อย และการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์
เพื่อให้การพิจารณาการเปิดสาขาย่อยและการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์มีความคล่องตัว สอดคล้องกับแนวทางของการปรับปรุงโครงสร้างระบบสถาบันการเงินในอันที่จะให้บริการแก่ลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และรองรับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินโดยเสรี ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาเปิดสาขาย่อย และกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นขอปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
หลักเกณฑ์การขอเปิดสาขาย่อย
หลักเกณฑ์การขอเปิดสาขาย่อยเป็นไปตามรายละเอียดแนบ โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่คือ
1. ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์รวมมากเป็นลำดับที่ 1-4 จะต้องยื่นขอเปิดสาขาย่อยในเขตอำเภอรอบนอกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคำขอทั้งหมด
2. อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถยื่นขอเปิดสาขาย่อยได้ตลอดเวลาเมื่อมีความพร้อม ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อนุญาตให้ยื่นคำขอได้เพียงปีละครั้งภายในเดือนตุลาคมของแต่ละปี
อนึ่ง การขอเปิดสาขาเต็มรูปแบบและการขอแปรสภาพสาขาย่อยเป็นสาขาเต็มรูปแบบยังคงให้ถือตามหลักเกณฑ์เดิมตามนัยของหนังสือที่ ธปท.งก.(ว) 1117/2537 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2537 เรื่อง การขออนุญาตเปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
การยื่นขอปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ. การธนาคารพาณิชย์ ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะปิดสาขา จะต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. อย่างน้อย 45 วันล่วงหน้าก่อนวันปิดทำการ และหากไม่ได้รับการทักท้วงจาก ธปท. ภายใน 30 วันนับจากวันที่ยื่น ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินการปิดสาขาได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ
1. ต้องมีสาขาของธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธนาคารพาณิชย์เหลืออยู่ในอำเภอหรือกิ่งอำเภอนั้น อย่างน้อย 1 แห่ง หลังจากการปิดสาขาที่ยื่นขอ ยกเว้นอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่ไม่มีสาขาธนาคารพาณิชย์ในวันที่ 1 มกราคม 2543
2. ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการจัดการโอนลูกหนี้ให้ไปรับบริการจากสาขาที่ใกล้เคียงที่สุด หรือสาขาอื่นที่ลูกค้าเลือก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการนี้
3. การปิดสาขาต้องเป็นไปตามแบบแผนและกำหนดการที่แน่นอน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายไม่ให้มีการปิดสาขาเป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน เพื่อกำกัดความเดือดร้อนลำบากของผู้ใช้บริการให้อยู่ในระดับน้อยที่สุด
4. โดยที่การปิดสาขาจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงได้ ธนาคารพาณิชย์จึงควรผ่านผลประโยชน์บางส่วนให้กับลูกค้าด้วย
การปรับปรุงเกณฑ์การเปิดสาขาย่อย และการกำหนดหลักเกณฑ์การขอปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์นี้ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ตามหนังสือเวียนฉบับนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย : หลักเกณฑ์การพิจารณาคำขอและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาย่อย
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5939, 283-5307
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ……….. ณ…………
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
หลักเกณฑ์การพิจารณาคำขอเปิดสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
แนบหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.สนส.(11) ว. 360 /2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543
1. รูปแบบการจัดตั้ง
1.1 เป็นสาขาย่อยของสาขาแม่ที่มีอยู่แล้ว และอยู่ในอำเภอหรือจังหวัดเดียวกับสาขาแม่ หรือถ้าเป็นคนละจังหวัดก็ต้องเป็นอำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดที่ตั้งสาขาแม่
1.2 ห้ามมิให้สาขาย่อยเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่นที่ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากพนักงานชั้นบริหารสาขา
2. งวดการพิจารณาและจำนวนคำขอ
ธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อมสามารถยื่นคำขอผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยไม่จำกัดเวลาและจำนวนคำขอ ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์เอง
ทั้งนี้ การยื่นคำขออนุญาตเปิดสาขาย่อยและการแจ้งความประสงค์จะเปิดสาขาย่อยนั้น ธนาคารพาณิชย์ต้องแนบสรุปย่อรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของท้องถิ่น และจัดทำแผนที่แสดงบริเวณที่จะเปิดสาขาย่อยให้ชัดเจน โดยระบุระยะทางที่สั้นที่สุดจากสาขาหรือสาขาย่อยของตนเองที่ใกล้ที่สุดถึงบริเวณที่ขออนุญาตไปด้วย และให้แสดงที่ตั้งของสถาบันการเงินในบริเวณใกล้เคียงด้วย (ถ้ามี)
3. คุณสมบัติของธนาคารพาณิชย์ที่มีสิทธิยื่นคำขอ
ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าข่ายยื่นคำขออนุญาตเปิดสาขาย่อยได้ ต้องมีความพร้อมอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าน่าพอใจ
4. เขตพื้นที่ที่จะขอเปิดสาขาย่อยและแนวการพิจารณาอนุญาต
4.1 ธนาคารพาณิชย์สามารถยื่นขอเปิดสาขาย่อยได้ในทุกพื้นที่ที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมและมีความคุ้มค่าทางธุรกิจ โดยไม่มีการแบ่งเขตพิจารณาว่าเป็นเขตกรุงเทพมหานคร อำเภอเมือง อำเภอขนาดใหญ่ หรืออำเภอรอบนอก
สำหรับการเปิดสาขาย่อยในเขตอำเภอรอบนอก ซึ่งได้แก่ทุกบริเวณที่ไม่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร อำเภอขนาดใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันกำหนดตามนัยหนังสือเวียนที่ ง.(ว) 542/2541 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2541) และอำเภอเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการได้โดยมิต้องขออนุญาตอีก แต่ต้องแจ้งความประสงค์ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย หากกระทรวงการคลังไม่แจ้งขัดข้องภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขอก็ให้ดำเนินการต่อไปได้
4.2 การเปิดสาขาย่อย จะต้องเป็นการขยายเครือข่ายไปยังบริเวณที่อยู่ห่างจากสาขาของตนเองไม่น้อยกว่า 500 เมตร
4.3 แม้ว่าบริเวณที่ธนาคารพาณิชย์ขออนุญาตเปิดสาขาย่อยจะมีธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตแล้ว แต่ยังไม่เปิดดำเนินการก็ตาม ทางการก็อาจจะพิจารณาอนุญาตให้ทุกคำขอ
4.4 กรณีที่มีการขอซ้ำบริเวณกัน ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ สายนโยบายสถาบันการเงิน จะแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ที่ยื่นคำขอทีหลังได้ทราบเพื่อทบทวนและยื่นคำขอไปใหม่ หากทบทวนแล้วยังยินดีจะเปิดสาขาย่อยในบริเวณนั้นก็จะอนุญาต
เงื่อนไขในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาย่อย
แนบหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.สนส.(11) ว.360/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543
1. สาขาย่อยที่จะเปิดต้องเป็นสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ และต้องจัดให้มีป้ายชื่อว่าเป็นสาขาย่อยไว้อย่างชัดเจนและเห็นได้ง่าย
2. ธนาคารพาณิชย์จะต้องเปิดสาขาย่อยภายในบริเวณที่ได้รับอนุญาตและจะต้องประกอบธุรกิจภายใน 2 ปี นับแต่วันสิ้นงวดการยื่นความประสงค์ในการขอเปิดสาขาย่อย ทั้งนี้ เว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายบริเวณหรือระยะเวลาให้
3. ห้ามมิให้สาขาย่อยเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดที่มิใช่เป็นการกระทำเพื่อรับแลกเปลี่ยนเงิน ห้ามรับอาวัลตั๋วเงิน รับรองตั๋วเงิน ออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิต ค้ำประกัน หรือประกอบธุรกิจทำนองเดียวกันซึ่งต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากพนักงานบริหารสาขา และให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งขอบเขตการดำเนินธุรกิจของสาขาย่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันที่สาขาย่อยจะเริ่มประกอบธุรกิจ และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มประเภทธุรกิจที่จะให้บริการ ธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งให้สาขาย่อยระงับการให้บริการประเภทใดและเมื่อใดก็ได้
4. ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบกิจการและสินทรัพย์ของสาขาย่อยอย่างน้อยทุกหนึ่งปีปฏิทิน เว้นแต่ในปีปฏิทินแรกที่เปิดดำเนินการสาขาย่อย และให้จัดส่งสำเนารายงานการตรวจสอบฉบับที่ส่งให้ฝ่ายจัดการไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน นับจากวันสั่งการของฝ่ายจัดการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่เริ่มตรวจสอบ
5. ธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งชื่อสาขาแม่ที่ดูแล แจ้งสถานที่ทำการและกำหนดวันเปิดทำการ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันที่สาขาย่อยจะเริ่มประกอบธุรกิจ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสาขาแม่ที่ดูแล ธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนทุกครั้ง
6. ธนาคารพาณิชย์จะต้องนับรวมเงินฝากของสาขาย่อยเป็นเงินฝากของสาขาแม่
7. ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดทำงบทดลองของสาขาย่อยแนบมากับงบทดลองของสาขาแม่ ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทุกวันสิ้นเดือน
สนสว11-กส21401-25430214ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ