(ต่อ2) การกำหนดให้ยื่นแบบรายงานลับต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 1, 2000 15:39 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

        คำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานรายได้และค่าใช้จ่าย (ตาราง บ.ง. 3/3)
ข้อความทั่วไป
1.) ให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จัดทำรายงานรายได้และค่าใช้จ่าย (ตาราง บ.ง. 3/3) ของสำนักงานใหญ่รวมสาขาและสำนักงานอำนวยสินเชื่อ (ถ้ามี) ณ สิ้นเดือนของ ทุกเดือนตามแบบที่กำหนด ดังนี้
ทั้งนี้ การแสดงยอดคงค้างแต่ละรายการในแบบรายงาน ให้แสดงเป็นหน่วยบาท เศษของหนึ่งบาทตั้งแต่ห้าสิบสตางค์ขึ้นไปให้ปัดขึ้นเป็นหนึ่งบาท และให้ใส่เครื่องหมายจุลภาค “,” หลังหลักพันและหลักล้าน
2.) ให้ยื่นรายงานดังกล่าวข้างต้นตามข้อ 1 ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
2.1 ให้ยื่นรายงานต่อฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
2.2 บริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในเขตภูมิภาค ให้ยื่นสำเนารายงานตามข้อ 1. ของ สำนักงานที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ๆ ต่อสายงานกำกับสถาบันการเงิน สำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานใดสำนักงานหนึ่ง ตามรายละเอียดที่ระบุในแบบรายงานบ.ง. 3
2.3 ให้ยื่นสำเนารายงานตามข้อ 1 จำนวน 1 ชุด ต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง
3.) การยื่นรายงานตามข้อ 2 ให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ต้องรายงาน
4.) ให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดทำและยื่นรายงานดังกล่าวตามข้อ 1 ในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ (Computer Readable Form : CRF) ตามรูปแบบ(Record Specification Format) ที่ธนาคารกำหนด โดยให้จัดส่งพร้อมกับแบบรายงานตามข้อ 1 ต่อฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
5.) หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับรายงานนี้ โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนพัฒนาการกำกับ ฝ่ายกำกับ1 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 283-5796 และ 283-5797
ความหมายของรายการ
1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล
1.1 เงินให้กู้ยืมและเงินฝาก หมายถึง ดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าธรรมเนียมจาก การให้กู้ยืม ซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน รวมทั้งดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคารและสถาบันการเงินดอกเบี้ยจากการซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาจะขายคืน และกำไรขาดทุนจากการขายลูกหนี้ตั๋วเงิน
1.2 การให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงิน หมายถึง ดอกผลจากการให้เช่าซื้อ หรือส่วนต่างของราคาเช่าหรือราคาเช่าซื้อสินค้ากับราคาทุนของสินค้าที่เช่าหรือให้เช่าซื้อที่บริษัทรับรู้เข้าเป็นรายได้ในแต่ละเดือน
1.3 หลักทรัพย์ หมายถึง ดอกเบี้ยและเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับ เนื่องจากการลงทุนในหลักทรัพย์
2. ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงิน
2.1 ดอกเบี้ยและส่วนลดจ่าย หมายถึง ดอกเบี้ยและส่วนลดจ่ายที่จ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมหรือผู้ฝากเงิน รวมทั้งดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี ดอกเบี้ยจากการขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาจะ ซื้อคืน
2.2 ค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงิน หมายถึง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทต้องจ่ายไปเพื่อการกู้ยืมเงินนั้นโดยตรง
3. หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ หมายถึง เงินที่ให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับที่ได้ติดตามทวงถามจนถึงที่สุดแล้วแต่ไม่ได้รับชำระหนี้ รวมทั้งจำนวนที่กันไว้สำหรับหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อให้เพียงพอกับเงินให้กู้ยืม และดอกเบี้ยค้างรับส่วนที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ หลังจากได้ดำเนินการตามสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว ให้นำไปหักจากบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และให้จัดทำรายละเอียดแสดงชื่อลูกหนี้และจำนวนเงินที่ตัดเป็นหนี้สูญแนบมาพร้อมรายงานนี้ด้วย ในกรณีเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับที่ตัดบัญชีเป็นสูญไปแล้วภายหลังได้รับชำระคืน ให้นำไปเพิ่มในบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัย จะสูญ
สำหรับลูกหนี้ที่เกิดจากการทุจริตของพนักงาน และลูกหนี้ที่แสดงเป็นสินทรัพย์อื่นในงบดุลที่ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายอื่น แสดงไว้ในรายการที่ 5.5
4. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
4.1 ค่านายหน้า หมายถึงค่าธรรมเนียมที่บริษัทเรียกเก็บในการประกอบธุรกิจ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
4.2 กำไร (ขาดทุน) จากหลักทรัพย์ หมายถึง กำไร(ขาดทุน)จากการขายหลักทรัพย์ผลกำไร(ขาดทุน) ที่ยังไม่เกิดขึ้นของหลักทรัพย์เพื่อค้า ผลกำไร(ขาดทุน) จากการโอนเปลี่ยนประเภท หลักทรัพย์ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของหลักทรัพย์ หากมียอดสุทธิเป็นผลขาดทุนให้แสดงจำนวน ที่ขาดทุนนั้นไว้ในวงเล็บ
4.3 ค่าธรรมเนียมและบริการ หมายถึง ค่าธรรมเนียมและบริการที่ได้รับจากการ ให้บริการแก่ลูกค้า เช่น ค่าธรรมเนียมในการให้คำปรึกษาการลงทุน ค่าธรรมเนียมในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมอาวัลตั๋วเงิน ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน ให้แยกแสดงเป็น ค่าธรรมเนียมและบริการด้านธุรกิจเงินทุน (ข้อ 4.3.1) และธุรกิจหลักทรัพย์ (ข้อ 4.3.2)
4.4 กำไร (ขาดทุน) จากการปริวรรต หมายถึง กำไร (ขาดทุน) จากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และจากการแปลงค่าของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท โดยให้แสดงยอดสุทธิของผลกำไรหรือขาดทุน
4.5 รายได้อื่น หมายถึง รายได้จากการดำเนินงานนอกจากที่กำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 1 และรายการที่ 4.1 ถึง 4.4 ทั้งนี้ ให้รวมกำไรอื่นที่ไม่จัดเป็นรายการพิเศษ เช่น กำไรจากการขายอาคารสถานที่ของบริษัท ทรัพย์สินรอการขาย ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นในกรณีที่มี ค่าใช้จ่ายในการขายหรือขาดทุนจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว ให้นำมาหักจากรายการนี้เพื่อแสดง ยอดสุทธิกรณีที่ยอดสุทธิเป็นผลขาดทุนให้นำไปแสดงไว้ในรายการที่ 5.5
ในกรณีรายได้อื่นรายการใดมีจำนวนตั้งแต่ร้อยละ 20 ของยอดรวมรายได้อื่นให้แสดงรายได้อื่นนั้นเป็นรายการแยกต่างหาก โดยแสดงไว้ในลำดับต่อจากรายการที่ 4.5
5. ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน
5.1 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน หมายถึง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา โบนัส เงินบำเหน็จ เงินเพิ่มค่าครองชีพ เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานส่วนที่บริษัทเป็นผู้จ่ายให้ เงินช่วยเหลือเพื่อสวัสดิการ ภาษีเงินได้ที่บริษัทออกให้และเงินอื่น ๆ ที่บริษัทจ่ายให้แก่กรรมการ พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ให้แสดงจำนวนรวมของกรรมการ พนักงานและลูกจ้างที่บริษัทจ่ายเงินให้ในเดือนนั้นไว้ในวงเล็บด้วย
5.2 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ หมายถึง ค่าเสื่อมราคา ค่าเช่า ค่าซ่อมแซม ค่าบริการในการบำรุงรักษา ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าภาษีที่ดินและโรงเรือน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าวัสดุของใช้และค่าใช้จ่ายอื่นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องตกแต่งติดตั้ง และยานพาหนะ
5.3 ค่าภาษีอากร หมายถึง ค่าภาษีอากรต่าง ๆ เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีป้าย อากรแสตมป์ แต่ไม่รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งกำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 7 ภาษีที่ดินและโรงเรือนสำหรับที่ทำการซึ่งกำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 5.2 และภาษีเงินได้ที่บริษัทออกให้แก่กรรมการพนักงานและลูกจ้าง ซึ่งกำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 5.1 และ 5.4 แล้ว
5.4 ค่าตอบแทนกรรมการ หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่จ่ายให้กรรมการตามมาตรา90 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535
5.5 ค่าใช้จ่ายอื่น หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนอกจากที่กำหนดให้แสดง ไว้ในรายการที่ 2 และรายการที่ 5.1 ถึง 5.4 ทั้งนี้ ให้รวมถึงขาดทุนอื่นที่ไม่จัดเป็นรายการพิเศษ เช่น ผลเสียหายจากการทุจริตของพนักงาน ผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์และสินทรัพย์อื่นในกรณีที่มีรายได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าว ให้นำมาหักจากรายการนี้เพื่อแสดง ยอดสุทธิ หากยอดสุทธิเป็นผลกำไรให้นำไปแสดงไว้ในรายการที่ 4.5
ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายอื่นรายการใดมีจำนวนตั้งแต่ร้อยละ 20 ของยอดรวมค่าใช้จ่ายอื่นให้แสดงค่าใช้จ่ายอื่นนั้นเป็นรายการแยกต่างหาก โดยแสดงไว้ต่อจากรายการที่ 5.5
6. กำไร (ขาดทุน) ก่อนภาษีเงินได้และก่อนรายการพิเศษ หมายถึง ยอดรวมรายได้ (รายการ 1 และรายการ 4) หักด้วยยอดรวมค่าใช้จ่าย (รายการ 2 รายการ 3 และ รายการ 5 ) หากมีผลขาดทุนให้แสดงจำนวนเงินไว้ในวงเล็บ
7. ค่าภาษีเงินได้ หมายถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณขึ้นตามวิธีการบัญชีหรือตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
8. รายการพิเศษ หมายถึง รายการที่มิได้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัทและไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดขึ้นอีก เช่น ค่าเสียหายจากไฟไหม้ น้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติอย่างอื่น รายการพิเศษนี้ให้แสดงเป็นยอดสุทธิหลังจากหักภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องแล้ว และให้แสดงจำนวนภาษีเงินได้ที่ เกี่ยวข้องไว้ด้วย ในกรณีที่รายการพิเศษเป็นผลขาดทุน ให้แสดงจำนวนเงินไว้ในวงเล็บ
9. กำไร (ขาดทุน) สุทธิ หมายถึง กำไรหรือขาดทุนตามรายการ 6 หักค่าภาษีเงินได้(รายการ 7 )และหักหรือรวมรายการพิเศษ (รายการ 8 ) หากมีผลขาดทุนสุทธิให้แสดงจำนวนเงินไว้ในวงเล็บ
“ยอดสะสม” หมายถึง ยอดเงินสะสมของแต่ละรายการนับแต่หลังวันสิ้นงวดการบัญชีก่อนจนถึงวันที่รายงานอนึ่ง กำไร (ขาดทุน) สุทธิตามรายการ 9 ในช่อง “ยอดสะสม” ในเดือนใด จะต้องเท่ากับรายการ 20.8 : กำไร (ขาดทุน) ระหว่างงวดบัญชีในเดือนนั้นของแบบรายงาน บ.ง. 3
10. กำไร (ขาดทุน) สุทธิต่อหุ้น หมายถึง ส่วนเฉลี่ยของกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิต่อหุ้นสามัญหนึ่งหุ้น หากมีผลขาดทุนสุทธิให้แสดงจำนวนเงินไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
คำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานรายละเอียดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (ตาราง บ.ง. 3/5)
ข้อความทั่วไป
1) ให้บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จัดทำรายงานรายละเอียดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (ตาราง บ.ง.3/5) ของสำนักงานใหญ่รวมกับสาขา (ถ้ามี) เป็นประจำทุกเดือนตามแบบที่กำหนดโดยให้รายงานยอดมูลค่าซื้อ มูลค่าขายหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ทำการซื้อขายภายในเดือนที่รายงาน และยอดคงเหลือ ณ วันสิ้นเดือน เป็นหน่วยบาท (ใส่เครื่องหมายจุลภาค "," หลังหลักพัน และหลักล้าน) และให้รายงานจำนวนของหลักทรัพย์ตามจำนวนหน่วยนับของหลักทรัพย์นั้น
2) ให้ยื่นรายงานดังกล่าวข้างต้นตามข้อ 1 ในรูปแบบรายงานเอกสาร (Hard Copy)จำนวน 2 ชุด พร้อมกับรายงานในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (Computer Readable Form หรือ CRF) ในแผ่น Diskette ต่อฝ่ายโครงการพิเศษและวิเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ต้องรายงาน
อนึ่ง การจัดทำรายงานในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (CRF) ให้จัดทำตามแบบ (Format) และคำอธิบายที่กำหนดใน "รายละเอียดการส่งรายงานตาราง บ.ง.3/5 ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในรูป CRF"
ความหมายของรายการ
หลักทรัพย์/ตราสารหนี้ หมายถึง หลักทรัพย์ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจ เงินทุนฯ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 และตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สำหรับตราสารหนี้ให้หมายถึงตราสารหนี้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเงินลงทุน
ให้รายงานหลักทรัพย์ไทย หลักทรัพย์ต่างประเทศ ประเภทหนี้และประเภททุนที่ออกโดยภาคเอกชนและภาครัฐบาล เฉพาะที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อันเนื่องจากการได้มาโดยการซื้อการรับบริจาคการชำระหนี้และถือไว้เพื่อรอการขาย และการอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้มีไว้ได้ (ไม่รวมหลักทรัพย์ ที่ซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืน) โดยจำแนกเงินลงทุนเป็นประเภทหลักทรัพย์เพื่อค้า หลักทรัพย์เผื่อขาย ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนดและเงินลงทุนทั่วไปและรายงานแยกตามหัวข้อและรายการที่กำหนดพร้อมทั้งแสดงยอดรวมในแต่ละหัวข้อด้วย ดังนี้
1. หลักทรัพย์หุ้นทุน หมายถึง หุ้นทุนในภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
1.1 หลักทรัพย์จดทะเบียน หมายถึง หลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
1.2 หลักทรัพย์ในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หมายถึง หลักทรัพย์ที่มิได้เป็น หลักทรัพย์จดทะเบียน แต่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ศูนย์ใดศูนย์หนึ่ง เช่น ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงเทพ (Bangkok Stock Dealing Center)
1.3 หลักทรัพย์ต่างประเทศ หมายถึง หลักทรัพย์หุ้นทุนที่ออกจำหน่ายใน ต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ไทยที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ
1.4 หลักทรัพย์อื่น หมายถึง หลักทรัพย์ที่มิอาจแสดงไว้ในรายการที่กล่าว ข้างต้น
2. ตราสารหนี้ หมายถึง ตราสารหนี้ทุกประเภทที่ออกโดยภาครัฐบาลภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้รายงานแยกตามภาคดังนี้
2.1 ตราสารหนี้ภาครัฐบาล หมายถึง หลักทรัพย์ประเภทตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้อื่น ๆ ที่ออกโดยรัฐบาลไทย องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและจังหวัด องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ทั้งนี้ ให้รวมถึงหลักทรัพย์ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
2.2 ตราสารหนี้ภาคเอกชน หมายถึง หลักทรัพย์ตราสารหนี้ทุกประเภทที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเป็นการระดมทุน และตราสารแห่งหนี้อื่นใดที่มีลักษณะเป็นการระดมทุนและคล้ายหุ้นกู้ตาม ข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
2.3 ตราสารหนี้ต่างประเทศ หมายถึง หลักทรัพย์ตราสารหนี้ทุกประเภทที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ รวมทั้งตราสารหนี้ตามข้อ 1.2.1 และ ข้อ 1.2.2 ที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ
2.4 ตราสารหนี้อื่น หมายถึง ตราสารหนี้ที่มิอาจแสดงไว้ในรายการที่กล่าวข้างต้น
วิธีการรายงานชื่อหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ให้รายงานโดยจัดเรียงลำดับตามอักษรดังนี้
1) หลักทรัพย์จดทะเบียน หลักทรัพย์ในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์และหลักทรัพย์อื่นที่มีการรายงานการซื้อขายให้ประชาชนทราบทั่วกัน ให้รายงานชื่อเป็นอักษรย่อภาษาอังกฤษตามที่ใช้ในตลาด ดังกล่าว
2) หลักทรัพย์อื่นนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ในข้อ 1) ให้รายงานชื่อเต็มของหลักทรัพย์เป็นภาษาไทย พร้อมวงเล็บชื่อภาษาอังกฤษ (ถ้ามี) ยกเว้นหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ให้รายงานดังนี้
- หลักทรัพย์ของรัฐบาล องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นให้รายงานชื่อของหน่วยงานที่เป็นผู้ออกหลักทรัพย์นั้น โดยระบุรุ่นหรือครั้งที่ออกจำหน่ายด้วย
- หลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้รายงานชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษและตามด้วยชื่อประเทศ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้ออกหลักทรัพย์ด้วย เช่น General Electric Co./ USA. เป็นต้น ทั้งนี้ ในการรายงานมูลค่าเป็นเงินบาทให้ใช้หลักเกณฑ์การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทตามที่กำหนดใน คำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานฐานะการเงิน (แบบ บ.ง.3) ข้อ 1
รหัสชื่อ หมายถึง รหัสตัวเลข 7 หลักที่ใช้แทนชื่อของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ หรือชื่อของผู้ออกหลักทรัพย์/ตราสารหนี้นั้น (เป็นรหัสเดียวกับรหัสประจำตัวลูกหนี้ในแบบรายงาน บ.ง.4) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและจัดส่งมาให้ กรณีที่ยังไม่ทราบรหัสชื่อของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้(หรือผู้ออกหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ นั้น) หรือธนาคารยังไม่ได้กำหนดรหัสชื่อหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ให้เว้นว่างไปก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย
รหัสประเภทหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ หมายถึง รหัสที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ หลักทรัพย์/ตราสารหนี้ เพื่อให้ทราบถึงชนิดของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ผู้ออกหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ (Credit rating) ประกอบด้วยตัวเลขจำนวน 4 หลักตามที่กำหนดภาคผนวก 1 ท้ายคำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานนี้
ยอดยกมา หมายถึง ยอดจำนวนหน่วยคงเหลือ ณ วันแรกของเดือนที่รายงานของ หลักทรัพย์หุ้นทุนหรือตราสารหนี้ทุกรายการที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท
มูลค่าซื้อและมูลค่าขาย หมายถึง มูลค่าของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ซึ่งประกอบด้วยจำนวนหน่วยและจำนวนเงินที่ซื้อขายภายในเดือนที่รายงาน
- จำนวนหน่วย หมายถึง จำนวนหน่วยนับที่เป็นมาตรฐานของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้
- จำนวนเงิน หมายถึง จำนวนเงินที่ซื้อหรือขายซึ่งรวมค่านายหน้าหรือบำเหน็จใด ๆ กรณีตราสารหนี้ให้ใช้ราคาทุนเพื่อการได้มาซึ่งตราสารหนี้นั้น โดยไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับในช่วงก่อนหน้าการซื้อหรือขายตราสารหนี้นั้น ทั้งนี้ให้รวมถึง การโอนหลักทรัพย์จากประเภทหนึ่งไปอีกประเภทหนึ่งด้วย
สำหรับหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ที่ได้มาจากการรับชำระหนี้ หรือการรับบริจาคและอื่น ๆ
ให้รายงานเฉพาะยอดยกมาและยอดคงเหลือ และในกรณีที่มีการจำหน่ายหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ออกจากบัญชีอันเนื่องจากการไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดอายุการไถ่ถอนตามปกติ ให้รายงานเฉพาะยอดยกมาและ หมายเหตุให้ทราบถึงจำนวนหน่วยและจำนวนเงินที่ไถ่ถอนในเดือนนั้นไว้ในหมายเหตุท้ายรายงานนี้
ยอดคงเหลือ หมายถึง ยอดคงเหลือ ณ วันสิ้นเดือนที่รายงานของหลักทรัพย์หุ้นทุน/ ตราสารหนี้ทุกรายการที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ให้รายงานรายละเอียด ดังนี้
- จำนวนหน่วย หมายถึง จำนวนหน่วยนับที่เป็นมาตรฐานของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้นั้น ๆ ซึ่งปรากฏในบัญชี ณ วันสิ้นเดือนที่รายงาน
- มูลค่าตามราคาทุน/ ราคาบัญชี หมายถึง มูลค่าตามราคาทุนซึ่งไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับสำหรับ หลักทรัพย์/ตราสารหนี้ที่มีไว้เพื่อค้า หลักทรัพย์ประเภทเผื่อขาย และหลักทรัพย์ประเภทเงินลงทุนทั่วไป หรือมูลค่าตามราคาทุนโดยไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับหลังปรับปรุงด้วยส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่า สำหรับ ตราสารหนี้ประเภทเผื่อขายและตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด
มูลค่าตามราคายุติธรรม หมายถึง มูลค่าตามราคายุติธรรมของหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ณ วันที่รายงาน การแสดงมูลค่าตามราคายุติธรรมของเงินลงทุนให้ถือปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเงินลงทุน
กรณีหลักทรัพย์นั้นไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใด ให้ใช้ราคาตามบัญชีของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหลักทรัพย์นั้น (Net Asset Value)
รวมเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งสิ้น หมายถึง ยอดรวมของหลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อค้า เผื่อขายตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด และเงินลงทุนทั่วไป ในช่องยอดยกมา มูลค่าซื้อ มูลค่าขาย และยอดคงเหลือของหลักทรัพย์หุ้นทุนและตราสารหนี้ที่รายงาน
ภาคผนวก 1
รหัสประเภทหลักทรัพย์/ตราสารหนี้
รหัสประเภทหลักทรัพย์/ตราสารหนี้ ประกอบด้วยตัวเลขรหัส 4 หลัก (xxxx)เพื่อใช้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
หลักที่ 1-2 หมายถึง ชนิดของหลักทรัพย์/ตราสารหนื้ มีค่าตั้งแต่ 00 ถึง 99
ตราสารทุน มีค่าตั้งแต่ 00 ถึง 09
00 - หุ้นสามัญ
01 - หุ้นบุริมสิทธิ
02 - หน่วยลงทุนหรือตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของโครงการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบกิจการจัดการลงทุนเป็นผู้ออก (Unit Trust)
03 - ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (warrant)
04 - ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบสำคัญแสดงการเข้าชื่อซื้อหุ้น
05 - ใบสำคัญแสดงสิทธิในเงินปันผลหรือดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์
06 - ใบตอบรับยืนยันการจองซื้อหุ้น
09 - หลักทรัพย์ประเภทอื่น
ตราสารหนี้ มีค่าตั้งแต่ 10 ถึง 99
10 - พันธบัตร
11 - ตั๋วเงินคลัง
12 - หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ หุ้นกู้ควบ warrant
13 - ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงการเข้าชื่อซื้อหุ้นกู้
14 - ตั๋วแลกเงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ออกเพื่อระดมทุน
15 - ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารพาณิชย์ออกเพื่อระดมทุน
16 - ตั๋วแลกเงินที่ออกโดยธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเป็นการระดมทุน และมีลักษณะคล้ายหุ้นกู้
17 - FRN (Floating rate note) ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้ หรือคล้ายคลึงหุ้นกู้ที่สำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตให้เสนอขาย
18 - FRCD (Floating rate certificate of deposit)ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้หรือคล้ายคลึงหุ้นกู้ที่สำนักงาน ก.ล.ต.อนุญาตให้เสนอขาย
19 - ตราสารแห่งหนี้อื่นใดที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้หรือคล้ายคลึงหุ้นกู้ ที่สำนักงาน ก.ล.ต.อนุญาตให้เสนอขาย
99 - ตราสารหนี้อื่น ๆ
หลักที่ 3 หมายถึง ผู้ออกหลักทรัพย์ มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 9
0 - รัฐบาลและที่รัฐบาลค้ำประกัน
1 - องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และนิติบุคคล ที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น(กฎหมายเฉพาะ หมายถึงพระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกา และประกาศคณะปฏิวัติ)
2 - หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายอื่น เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
3 - ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
4 - นิติบุคคลอื่น นอกจากที่กล่าวในประเภทรหัสต่าง ๆ ข้างต้น
5 - รัฐบาล ธนาคารกลาง องค์การของรัฐ ในประเทศตามภาคผนวก 2
6 - ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นที่จดทะเบียนและตั้งอยู่ในประเทศ ตามภาคผนวก 2
7 - องค์การระหว่างประเทศตามภาคผนวก 3
8 - นิติบุคคลอื่นที่จดทะเบียนและตั้งอยู่ในต่างประเทศ นอกจากที่จัดไว้เป็นประเภทรหัส 5 ถึง 7
9 - อื่น ๆ
หลักที่ 4 หมายถึง อันดับของหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดโดยสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือ ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกำหนด มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 3
0 - ไม่มีการจัดอันดับ (Rating)
1 - อันดับ AA หรือเทียบเท่าขึ้นไป
2 - อันดับ BB หรือเทียบเท่าขึ้นไป แต่ต่ำกว่าอันดับ AA
3 - ต่ำกว่าอันดับ BB หรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง: หุ้นกู้ IFCT ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและที่บริษัทมีไว้เพื่อขาย รหัสประเภทหลักทรัพย์คือ 1210 ซึ่งจะแสดงรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
หลักที่ เลขรหัส คำอธิบาย
1-2 12 - เป็นหุ้นกู้
3 1 - ผู้ออกหลักทรัพย์เป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง
4 0 - ไม่มีการจัดอันดับ
ภาคผนวก 2
กลุ่มประเทศ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) และประเทศที่มีฐานะการเงินเทียบเท่า
ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ ซาอุดิอาระเบีย
ออสเตรีย ไอร์แลนด์ สเปน
เบลเยี่ยม อิตาลี สวีเดน
แคนาดา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์
เดนมาร์ก ลักแซมเบิร์ก ตุรกี
เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ
ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา
ฝรั่งเศส นอรเว
กรีซ โปรตุเกส
ภาคผนวก 3
European Investment Bank (EIB)
European Bank for Reconstruction and Development (EBRD)
International Bank for Reconstruction and Development (IBRD)
International Finance Corporation (IFC)
Inter-American Development Bank (IADB)
African Development Bank (AfDB)
Asian Development Bank (AsDB)
Caribbean Development Bank (CDB)
Nordic Investment Bank (NIB)
สกสว32-กส25104-25430201ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ