(ต่อ1) การกำหนดให้ยื่นแบบรายงานลับต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 1, 2000 15:02 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

        5. บัญชีระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ หมายถึง ยอดดุลสุทธิลูกหนี้ของบัญชีระหว่างบริษัทกับบริษัท     หลักทรัพย์หรือบริษัทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงศูนย์รับฝาก     หลักทรัพย์เป็นรายบริษัท ที่เกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (ถ้ามียอดดุลสุทธิเจ้าหนี้ให้รายงานในรายการ 14 : บัญชีระหว่างบริษัทหลักทรัพย์)
บริษัทหลักทรัพย์ในที่นี้ ให้หมายถึง บริษัทหลักทรัพย์ตามความหมายในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
6. เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ธุรกิจเงินทุน ให้แสดงรายละเอียดของเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ไว้ในตาราง บ.ง.3/1 : เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ แนบด้วย นอกเหนือจากรายละเอียดต่อไปนี้
6.1 เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ หมายถึง เงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ให้แก่ลูกหนี้ทั่วไปที่มิใช่สถาบันการเงิน ทั้งที่มีลักษณะเป็นเงินให้กู้ ตั๋วเงินรับ (ไม่รวมตั๋วเงินที่กำหนดให้แสดงไว้ในข้อ 4 แล้ว)ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ (Hire purchase) ทรัพย์สินทุกประเภท ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าการเงิน(Leasing)และลูกหนี้ที่เกิดจากการขายทรัพย์สิน รวมทั้งรายการที่บริษัทได้จ่ายเงินแล้วตามภาระผูกพันทุกประเภท เช่น เงินที่ได้จ่ายตามภาระการรับรอง การรับอาวัลตั๋วเงิน และการค้ำประกันต่าง ๆ เป็นต้นและให้รวมถึงเงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินที่ถูกถอนใบอนุญาตด้วย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินให้กู้ยืมเพื่อสวัสดิการแก่พนักงานและลูกจ้างของบริษัท
6.1.1 เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ในประเทศ หมายถึง เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ทุกประเภท ที่ให้กู้ยืมแก่องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงินในประเทศ ทั้งนี้ ให้รวมถึงสาขาบริษัทต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วย
6.1.2 เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ต่างประเทศ หมายถึง เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ทุกประเภท ที่ให้กู้ยืมแก่องค์การของรัฐต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่มิใช่สถาบัน การเงินที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้รวมถึงสาขาของบริษัทไทยที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศด้วย
6.2 ดอกเบี้ยค้างรับ หมายถึง ดอกเบี้ยค้างรับจากเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ธุรกิจเงินทุน ทุกประเภทที่แสดงไว้ในข้อ 6.1 ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นไปตามนัยของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
6.3 รายได้รอการตัดบัญชี หมายถึง รายได้จากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ รายได้จากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าการเงิน หรือส่วนลดตั๋วเงินรับที่ยังไม่ถือเป็นรายได้
6.4 ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หมายถึง จำนวนเงินที่กันไว้เพื่อหักจากเงินให้กู้ยืมและ ลูกหนี้ธุรกิจเงินทุนทุกประเภทตามรายการ 6.1 และดอกเบี้ยค้างรับตามรายการ 6.2 เฉพาะของส่วนที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้
7. ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ หมายถึง ลูกหนี้จากการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่
7.1 ซื้อหลักทรัพย์ตามคำสั่ง หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกค้าสั่งซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินสด (รวมค่านายหน้า) และอยู่ระหว่างการเรียกชำระเงินจากลูกค้าภายในกำหนดเวลาที่แต่ละตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยกำหนดไว้ ให้รายงานเฉพาะรายที่มียอดดุลสุทธิลูกหนี้ (ถ้ามียอดดุลสุทธิเจ้าหนี้ให้รายงานไว้ในรายการ 15.1 : ขายหลักทรัพย์ตามคำสั่ง) ในกรณีที่ลูกค้าสั่งซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินสดแล้วไม่สามารถชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ย้ายการรายงานไปไว้ในรายการ 7.3.1
7.2 เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หมายถึง เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (รวมค่านายหน้า) แก่ลูกค้า (รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์อื่น) โดยลูกค้านำหลักทรัพย์นั้นวางเป็นประกัน(MarginAccount)ให้รายงานยอดคงค้างเฉพาะรายที่มียอดดุลสุทธิเป็นลูกหนี้ (ถ้ามียอดดุลสุทธิเป็นเจ้าหนี้ให้รายงานไว้ในรายการ 15.2 : บัญชีลูกค้า) ในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ย้ายการรายงานไปไว้ในรายการที่ 7.3.2
7.3 ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่เกินกำหนดชำระ หมายถึง ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ในรายการ7.1 ถึง 7.2 ที่เกินกำหนดชำระและรวมถึงการจองซื้อหุ้นให้ลูกค้าทั้งสองประเภท ให้นำมาแยกแสดงดังนี้
7.3.1 ซื้อตามคำสั่ง หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกค้าสั่งซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินสดที่ไม่สามารถชำระเงินได้ภายในเวลาที่กำหนด
7.3.2 เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไม่สามารถชำระเงินได้ภายในกำหนดเวลา รวมถึงเงินให้กู้ยืมที่ลูกหนี้ได้รับตามโครงการ ช่วยเหลือลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และผลขาดทุนจากการขายหลักทรัพย์ของลูกหนี้
7.4 อื่น ๆ หมายถึง ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ไม่สามารถแสดงในรายการ7.1ถึง7.3
7.5 ดอกเบี้ยค้างรับ หมายถึง ดอกเบี้ยค้างรับจากลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภทตามนัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญชีของบริษัทเงินทุน บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
7.6 ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หมายถึง จำนวนเงินที่กันไว้เพื่อหักจากเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภท และดอกเบี้ยค้างรับตามรายการ 7.5 เฉพาะส่วนที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้
ทั้งนี้ ให้แสดงรายละเอียดของลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ไว้ในตาราง บ.ง. 3/1 : เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ แนบด้วย
8. ทรัพย์สินรอการขาย
8.1 ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ หมายถึง ที่ดิน อาคารและ/หรือทรัพย์สินอื่น ซึ่งมีไว้เพื่อประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะหรือเพื่อจัดจำหน่ายเป็นสวัสดิการของพนักงาน ให้รายงานมูลค่าตามต้นทุนในการจัดหา (ก่อนหักจำนวนกันไว้เผื่อการลดค่าทรัพย์สิน)ทั้งนี้ไม่รวมส่วนที่ทำสัญญาให้เช่าซื้อไปแล้วซึ่งบริษัทได้ถือผู้เช่าซื้อเป็นลูกหนี้และรายงานในข้อ 6.1 แล้วให้แยกแสดงเป็น
8.1.1 ที่ดิน ให้รวมถึงค่าปรับปรุงและพัฒนาที่ดิน เช่น ค่าถมที่ดิน ถนน ไฟฟ้าประปาทางระบายน้ำ
8.1.2 อื่น ๆ หมายถึง อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนค่าก่อสร้าง และการลงทุนในทรัพย์สินอื่นที่บริษัทมีไว้ เช่น เครื่องเรือน เครื่องใช้และอุปกรณ์สำหรับอาคาร เพื่อการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ
8.2 ทรัพย์สินที่ได้จากการชำระหนี้ หมายถึง ทรัพย์สินที่ตกเป็นของบริษัท อันเนื่องจากการรับชำระหนี้ การประกันการให้กู้ยืมเงิน การซื้อทรัพย์สินที่บริษัทรับจำนองไว้จากการขายทอดตลาด โดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อหรือให้เช่าการเงินที่บริษัทกลับเข้าครอบครองเนื่องจากลูกหนี้ผิดสัญญา และรวมถึงที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินอื่น ตลอดจนสิทธิการเช่า ซึ่งใช้ประกอบธุรกิจหรือสำหรับพนักงาน แต่มิได้ใช้เพื่อการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ให้รวมถึงทรัพย์สินที่ได้มาจากการบริจาคด้วย แต่ไม่รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการชำระหนี้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจ หรือสำหรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัท ซึ่งให้รายงานในรายการ10.1 : ที่ดิน และรายการ 10.2 : อาคาร โดยให้รายงานมูลค่าก่อนหักค่าเผื่อการลดราคาทรัพย์สิน แยกดังนี้
8.2.1 อสังหาริมทรัพย์ ให้รวมถึงสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวข้างต้นทุกประเภท
8.2.2 สังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์หรือเรือที่ยึดมาจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นต้นทั้งนี้ ไม่รวมหลักทรัพย์ที่ได้จากการชำระหนี้ ซึ่งให้นำไปรายงานในรายการ 4 : เงินลงทุนใน หลักทรัพย์
8.3 ค่าเผื่อการลดราคาทรัพย์สิน หมายถึง จำนวนที่บริษัทตั้งเผื่อไว้สำหรับทรัพย์สินรอการขายที่มีราคาตลาดลดลงหรือที่คาดว่าจะขาดทุนถ้าจำหน่ายทรัพย์สินนั้นออกไป
9. ภาระของลูกค้าจากการรับรอง หมายถึง ภาระผูกพันของลูกค้าจากการที่บริษัทรับรองตั๋วเงินเพื่อ ลูกค้าและการรับรองอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่บริษัทต้องเป็นผู้จ่ายเงินตามที่ได้ให้การรับรองไว้
10. ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
10.1 ที่ดิน หมายถึง ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจ หรือเป็นสวัสดิสงเคราะห์สำหรับพนักงานและลูกจ้าง โดยแยกแสดงเป็น
10.1.1 ราคาทุนเดิม หมายถึง มูลค่าตามบัญชีของที่ดินที่ซื้อมา หรือได้มาก่อนการตีราคาเพิ่ม
10.1.2 ส่วนที่ตีราคาเพิ่ม หมายถึง มูลค่าตามบัญชีของที่ดิน ส่วนที่ตีราคาเพิ่มขึ้นเต็มจำนวน
10.2 อาคาร หมายถึง อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือเป็นสวัสดิสงเคราะห์สำหรับพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งค่าดัดแปลงและปรับปรุงทรัพย์สินดังกล่าว ให้แสดงมูลค่าหลังจากหักค่าเสื่อมราคาสะสมแล้ว โดยแยกแสดงเป็น
10.2.1 ราคาทุนเดิม หมายถึง มูลค่าตามบัญชีของอาคาร ที่ซื้อมาหรือได้มาก่อนการตีราคาเพิ่ม
10.2.2 ส่วนที่ตีราคาเพิ่ม หมายถึง มูลค่าตามบัญชีของอาคารส่วนที่ตีราคาเพิ่มขึ้นเต็มจำนวน
10.3 สิทธิการเช่าที่ดินและอาคาร หมายถึง ค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจ หรือสำหรับเป็นที่พัก หรือเพื่อสวัสดิสงเคราะห์ของพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งค่าดัดแปลงปรับปรุงทรัพย์สินดังกล่าว โดยแสดงมูลค่าหลังจากตัดบัญชีเป็น ค่าใช้จ่ายแล้ว
10.4 อุปกรณ์ หมายถึง เครื่องตกแต่งติดตั้ง เครื่องเรือน ยานพาหนะ เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้สำนักงานต่าง ๆ และอื่น ๆ โดยแสดงมูลค่าหลังจากหักค่าเสื่อมราคาสะสมแล้ว
11. สินทรัพย์อื่น หมายถึง สินทรัพย์อื่นที่ไม่อาจแสดงไว้ในรายการที่กล่าวข้างต้น เช่น
11.1 รายได้ค้างรับ หมายถึง รายได้ที่บันทึกบัญชีเป็นรายได้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน เช่นค่าเช่าค้างรับ ดอกเบี้ยค้างรับของเงินฝาก ดอกเบี้ยและเงินปันผลค้างรับของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ทั้งนี้ไม่รวมรายได้ค้างรับต่าง ๆ ที่แสดงไว้ในรายการ 2.2 รายการ 6.2 และรายการ 7.5 แล้ว
11.2 ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่บริษัทได้จ่ายไปก่อนสำหรับทรัพย์สินหรือบริการที่จะได้รับประโยชน์ในอนาคต และจะใช้หมดไปในระยะเวลาสั้น เช่น เบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้าค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า เครื่องเขียนแบบพิมพ์คงเหลือ
11.3 รายจ่ายรอการตัดบัญชี หมายถึง รายจ่ายที่บริษัทได้จ่ายไปก่อนสำหรับทรัพย์สินหรือบริการที่จะได้รับประโยชน์ในอนาคต และจะใช้หมดไปในระยะเวลานาน เช่น รายจ่ายเพื่อการวิจัยและค้นคว้า รายจ่ายในการจัดตั้งกิจการ
11.4 ผลต่างบัญชีระหว่างกัน หมายถึง ยอดดุลสุทธิลูกหนี้ในบัญชีระหว่างกันของสำนักงานใหญ่กับสาขา/สำนักงานอื่น
11.5 อื่น ๆ หมายถึง สินทรัพย์หรือลูกหนี้อื่น และรายการบัญชีอื่นที่ไม่อาจรายงานในรายการ 11.1 ถึง 11.4 อันได้แก่ลูกหนี้ที่มิได้เกิดจากการให้กู้ยืมอันเป็นทางค้าปกติ เช่น ลูกหนี้จากการทุจริตของพนักงาน เงินให้กู้ยืมเพื่อสวัสดิการแก่พนักงานและลูกจ้างบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้ ให้รวมถึงสิทธิเรียกร้องที่รับโอน (หลังหักรายได้สะสมตามโครงการ) ของโครงการรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย
ในกรณีที่สินทรัพย์อื่นในรายการ 11.5 รายการใดมีจำนวนตั้งแต่ร้อยละ 20 ของยอดรวมรายการ 11.5 : อื่น ๆ ให้นำรายการดังกล่าวมาแสดงไว้แยกเป็นแต่ละประเภทรายการในลำดับถัดไปด้วย
11.6 ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หมายถึง จำนวนเงินที่กันไว้เพื่อหักจากสินทรัพย์หรือ ลูกหนี้อื่น รวมรายได้ค้างรับเฉพาะส่วนที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้
11.7 ค่าเผื่อการลดราคาสินทรัพย์อื่น หมายถึง จำนวนเงินที่ตั้งไว้สำหรับสินทรัพย์อื่น ที่มีราคาตลาดลดลง หรือที่คาดว่าจะขาดทุนถ้าจำหน่ายสินทรัพย์นั้นออกไป
หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น
12. เงินกู้ยืมและเงินรับฝาก หมายถึง เงินกู้ยืมและเงินรับฝากทุกประเภท ทั้งที่เป็นเงินกู้ ตั๋วเงินจ่าย ตั๋วแลกเงิน เงินเบิกเกินบัญชี บัตรเงินฝาก รวมทั้งการขาย ขายลด ขายช่วงลดเช็ค และเงินขายช่วงลด ตั๋วสัญญาใช้เงินกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ให้แสดงรายละเอียดเงินกู้ยืมและเงินรับฝากไว้ใน ตาราง บ.ง.3/2 : เงินกู้ยืมและเงินรับฝาก แนบด้วยนอกเหนือจากรายละเอียดต่อไปนี้
12.1 จากสถาบันการเงินในประเทศ หมายถึง เงินกู้ยืมและเงินรับฝากทุกประเภทจากสถาบันการเงินในประเทศ ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินกู้ยืมหรือเงินรับฝากจากสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและ/หรือสาขาสถาบันการเงินต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งกิจการวิเทศธนกิจ
สถาบันการเงินในประเทศ หมายถึง สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน อันได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและ นำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม สหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และสถาบันอื่นตามประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้เป็นสถาบันการเงิน
12.2 จากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลอื่น หมายถึง เงินกู้ยืมและเงินรับฝากทุกประเภทจากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศ ที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินซึ่งให้แสดงไว้ในรายการ 12.1 แล้ว ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามโครงการจัดการ กองทุนรวมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเงินที่ได้รับจากนิติบุคคลที่เป็นสาขาบริษัทต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วย
12.3 จากต่างประเทศ หมายถึง เงินกู้ยืมและเงินรับฝากทุกประเภทจากต่างประเทศ ทั้งที่กู้หรือรับฝากจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือสถาบันการเงิน ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้ง สำนักงานสาขาธนาคารพาณิชย์ไทย สถาบันการเงินไทย หรือบริษัทไทยที่ตั้งอยู่ต่างประเทศด้วย
12.4 ส่วนลดจ่ายรอตัดบัญชี หมายถึง จำนวนส่วนลดที่จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้ฝากเงินในกรณีของบัตรเงินฝากและตั๋วแลกเงินประเภทไม่ระบุอัตราดอกเบี้ย
13. หลักทรัพย์ขายโดยมีสัญญาจะซื้อคืน หมายถึง หลักทรัพย์ที่บริษัทขายโดยมีสัญญาจะซื้อคืนให้แยกแสดงเป็นหลักทรัพย์รัฐบาลและหลักทรัพย์อื่น เช่นเดียวกับข้อ 3
14. บัญชีระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ หมายถึง ยอดดุลสุทธิเจ้าหนี้ของบัญชีที่เกิดจากการซื้อขาย หลักทรัพย์ระหว่างบริษัทกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซื้อขาย หลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงศูนย์รับฝากหลักทรัพย์เป็นรายบริษัท
15. เจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ หมายถึง หนี้สินจากการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แยกแสดงเป็น
15.1 ขายหลักทรัพย์ตามคำสั่ง หมายถึง จำนวนเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ที่ ลูกค้านำมาฝากให้บริษัทขาย ซึ่งบริษัทยังไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกค้า รวมทั้งเงินของลูกค้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสดเฉพาะรายที่มียอดดุลสุทธิเจ้าหนี้
15.2 บัญชีลูกค้า หมายถึง เจ้าหนี้ของบริษัทอันเกิดจากการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งได้แก่เงินของลูกค้าที่นำมาวางไว้เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า เงินรับแทนลูกค้า(ดอกเบี้ย หรือเงินปันผล) เงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ใด ๆ ซึ่งลูกค้าฝากให้บริษัทขาย และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์
16. ภาระของบริษัทจากการรับรอง หมายถึง ภาระผูกพันของบริษัทในการรับรองตั๋วเงินเพื่อลูกค้าและการรับรองอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่บริษัทต้องเป็นผู้จ่ายเงินตามที่ได้ให้การรับรองไว้
17. ภาระจากการขายลูกหนี้ตั๋วเงิน หมายถึง ภาระจากการขาย ขายลด หรือขายช่วงลดตั๋วสัญญา ใช้เงินหรือตั๋วแลกเงินซึ่งไม่มีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนรับรองหรือรับอาวัล หรือไม่มีกระทรวง การคลังรับรองหรือรับอาวัล หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ที่บริษัทรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลด ไว้แล้ว นำออกขายแบบผู้ซื้อมีสิทธิไล่เบี้ย (with recourse)
18. หุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่น หมายถึง หุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นทุกประเภทที่บริษัทเงินทุนนั้นออกจำหน่ายแก่ประชาชน ให้รายงานด้วยมูลค่าตามบัญชี โดยให้แยกแสดงดังนี้
18.1 ส่วนที่ได้รับอนุมัติจาก ธปท. เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้แสดงมูลค่าตามบัญชีของหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นเฉพาะส่วนที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้แยกแสดงเป็นส่วนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 6 เดือน และส่วนที่เหลือ
18.2 อื่น ๆ ให้แสดงมูลค่าตามบัญชีของหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่น ส่วนที่คงเหลือจากที่แสดงไว้ในรายการ 18.1 ให้แยกแสดงเป็นส่วนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 6 เดือน และส่วนที่เหลือเช่นเดียวกับข้อ 18.1
19. หนี้สินอื่น หมายถึง หนี้สินทุกประเภทที่ไม่สามารถแสดงไว้ในรายการที่ 12 ถึง รายการที่ 18
19.1 ดอกเบี้ยค้างจ่าย หมายถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและเงินฝากทุกประเภท หรือดอกเบี้ย ของหนี้สินอื่นที่ค้างจ่าย ณ วันที่รายงาน
19.2 ภาษีและค่าใช้จ่ายค้างจ่าย หมายถึง รายจ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้จ่ายเงิน เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย ค่าน้ำค่าไฟฟ้าค้างจ่าย
19.3 ผลต่างบัญชีระหว่างกัน หมายถึง ยอดดุลสุทธิเจ้าหนี้ในบัญชีระหว่างกันของ สำนักงานใหญ่กับสาขา/สำนักงานอื่น
19.4 อื่น ๆ หมายถึง หนี้สินหรือเจ้าหนี้อื่นและรายการบัญชีอื่นที่ไม่อาจแสดงรวมอยู่ในรายการ 19.1 - 19.3 เช่น เงินประกันสังคมค้างจ่าย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายรอนำส่ง และภาษีมูลค่าเพิ่มรอนำส่ง ถ้ารายการใดมีจำนวนตั้งแต่ร้อยละ 20 ของยอดรวมรายการ 19.4 : อื่น ๆ ให้นำรายการดังกล่าวมาแสดงไว้แยกเป็นแต่ละประเภทของรายการในลำดับถัดไปด้วย
20. ส่วนของผู้ถือหุ้น
20.1 ทุนเรือนหุ้น หมายถึง เงินทุนของบริษัทเงินทุนนั้น ซึ่งได้จดทะเบียนและเรียกชำระแล้วให้แยกแสดงดังนี้
20.1.1 หุ้นสามัญ ให้แสดงมูลค่าของหุ้นสามัญที่ได้รับชำระแล้วทั้งสิ้น (ไม่รวมส่วนเกินมูลค่าหุ้น) และให้แสดงจำนวนหุ้นจดทะเบียนและมูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้นไว้ในวงเล็บด้วย
20.1.2 ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นสามัญ หมายถึง เงินค่าหุ้นสามัญส่วนที่จำหน่ายได้สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ตามที่จดทะเบียนของหุ้นสามัญ
20.1.3 หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมเงินปันผล ให้แสดงมูลค่าและรายละเอียดของหุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมเงินปันผลเช่นเดียวกับรายการ 20.1.1
20.1.4 ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมเงินปันผล หมายถึง เงินค่าหุ้นส่วนที่จำหน่ายได้สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ตามที่จดทะเบียนของหุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมเงินปันผล
20.1.5 หุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสมเงินปันผล ให้แสดงมูลค่าและรายละเอียดของหุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสมเงินปันผลเช่นเดียวกับรายการ 20.1.1
20.1.6 ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสมเงินปันผล หมายถึง เงินค่าหุ้นส่วนที่จำหน่ายได้สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ตามที่จดทะเบียนของหุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสมเงินปันผล
20.2 ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หมายถึง จำนวนเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทเงินทุนนั้น
20.3 ส่วนเกินทุนจากการตีราคาทรัพย์สิน หมายถึง ส่วนเกินจากราคาทุนหรือราคาตามบัญชีของทรัพย์สิน
20.4 ทุนสำรอง หมายถึง จำนวนเงินที่บริษัทจัดสรรจากกำไรไว้เป็นทุนสำรองตามนัยมาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535
20.5 เงินสำรองที่ได้จัดสรรจากกำไรสุทธิ หมายถึง จำนวนเงินที่ได้จัดสรรจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นงวดการบัญชีตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือตามข้อบังคับของบริษัท เช่น สำรองเพื่อรักษาระดับเงินปันผล สำรองเพื่อขยายกิจการ สำรองเผื่อฉุกเฉิน เป็นต้น (ไม่รวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อการลดราคาสินทรัพย์ และเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้)
20.6 กำไร (ขาดทุน) สุทธิคงเหลือหลังจากการจัดสรร หมายถึง กำไรสะสมและกำไรสุทธิที่คงเหลือหลังจากการจัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือตามข้อบังคับของบริษัทในกรณีที่เป็นขาดทุนสะสม ให้แสดงจำนวนขาดทุนไว้ในวงเล็บ
20.7 กำไร (ขาดทุน) สุทธิงวดการบัญชีก่อนซึ่งยังไม่จัดสรร หมายถึง กำไรสุทธิงวดการบัญชีก่อนซึ่งยังมิได้นำเสนอเพื่อจัดสรรในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือตามข้อบังคับของบริษัท ในกรณีที่เป็นขาดทุนสุทธิให้แสดงจำนวนขาดทุนไว้ในวงเล็บ
20.8 กำไร(ขาดทุน)ระหว่างงวดการบัญชี หมายถึง ผลกำไรหรือขาดทุนนับแต่วัน เริ่มต้นของงวดการบัญชีปัจจุบันจนถึงวันที่รายงาน ถ้าเป็นผลขาดทุนให้แสดงจำนวนขาดทุนในวงเล็บ ทั้งนี้ ให้แสดงรายละเอียดของกำไรหรือขาดทุนในตาราง บ.ง.3/3 : รายได้และค่าใช้จ่าย แนบด้วย
อนึ่ง งวดการบัญชี ในที่นี้ให้หมายถึง งวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือน
20.9 ส่วนเกินทุนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินลงทุน หมายถึง ส่วนต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์เผื่อขาย กรณีราคาตามบัญชีต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม
20.10 ส่วนต่ำกว่าทุนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของตราสารทุน หมายถึง ส่วนต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์เผื่อขายประเภทตราสารทุน กรณีที่ราคาตามบัญชีสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม
20.11 ส่วนต่ำกว่าทุนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของตราสารหนี้ หมายถึง ส่วนต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์เผื่อขายประเภทตราสารหนี้ กรณีที่ราคาตามบัญชีสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม
20.12 อื่น ๆ หมายถึง ส่วนของผู้ถือหุ้นอื่นที่มิได้กำหนดให้รายงานไว้ในรายการ 20.1 ถึง 20.11 ทั้งนี้ให้รวมถึงผลกำไร(ขาดทุน)จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรอตัดบัญชีไว้ในรายการนี้ด้วย โดยแสดงผลขาดทุนไว้ในวงเล็บ
รายการตรงกันข้าม หนี้สินที่อาจเกิดขี้น และภาระผูกพันอื่น
ให้แสดงรายการตรงกันข้าม (Contra Items) รายการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นภายหน้าและภาระผูกพันอื่น ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อลูกค้าในภายหน้า แยกตามหัวข้อแต่ไม่ต้องแสดงรายละเอียดของลูกค้าแต่ละราย ดังนี้
1. การรับอาวัลตั๋วเงิน หมายถึง ภาระผูกพันจากการที่บริษัทรับอาวัลตั๋วเงินเพื่อลูกค้า
2. การค้ำประกัน หมายถึง ภาระผูกพันจากการที่บริษัทค้ำประกันเพื่อลูกค้าทุกประเภท
- เงินกู้ยืม หมายถึง การค้ำประกันเงินกู้ยืมทุกประเภทให้ลูกค้า เช่น เงินเบิกเกินบัญชีเงินกู้ การค้ำประกันการขาย ขายลด หรือขายช่วงลดตั๋วเงิน ทั้งนี้ ให้รวมถึงการค้ำประกันการรับประกันหรือการก่อภาระผูกพันในรูปแบบใด ๆ อันเนื่องมาจากการขายสินทรัพย์ (Securitization)
- อื่น ๆ หมายถึง การค้ำประกันอื่นเพื่อลูกค้า เช่น การค้ำประกันการรับเหมาก่อสร้าง การค้ำประกันการชำระค่ากระแสไฟฟ้า การค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคา ภาระจากการรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นหรือตราสารหนี้ทั้งจำนวน ภาระจากการยืมหลักทรัพย์ หรือการค้ำประกันอื่น ๆ ที่ผูกพันให้บริษัทเงินทุนอาจต้องเป็นผู้จ่าย
3. การขายลูกหนี้ตั๋วเงินที่ผู้ซื้อมีสิทธิไล่เบี้ย หมายถึง การขาย ขายลด หรือขาย ช่วงลดตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋วแลกเงินซึ่งมีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนอื่นรับรองหรือรับอาวัล หรือมีกระทรวงการคลังรับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ที่บริษัทรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดไว้แล้วนำออกขายแบบผู้ซื้อมีสิทธิไล่เบี้ย (with recourse)
4. การขายเงินลงทุนประเภทตราสารหนี้อื่น หมายถึง การขาย ขายลด หรือขาย ช่วงลดตราสารหนี้อื่นที่เข้าข่ายเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ ที่มีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนอื่นรับรองหรือรับอาวัล หรือมีกระทรวงการคลังรับรอง รับอาวัลหรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยที่บริษัทรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดไว้แบบผู้ซื้อมีสิทธิไล่เบี้ย (with recourse)
5. อื่น ๆ (ระบุ) ให้ระบุประเภทรายการตรงกันข้ามหรือภาระผูกพันแต่ละประเภทให้ชัดเจนเช่น ภาระจากการเป็นลูกหนี้ร่วม (เฉพาะส่วนที่บริษัทต้องรับภาระของลูกหนี้ร่วมกับผู้รับภาระรายอื่น) สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เป็นต้น
6. สินทรัพย์ที่มีภาระผูกพัน หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่นำไปจำนอง จำนำ เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน หรือค้ำประกัน หรือก่อภาระผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่งให้รายงานแยกประเภทเป็นอสังหาริมทรัพย์และอื่น ๆ โดยให้แสดงมูลค่าสุทธิหลังจากหักค่าเผื่อการลดค่าของสินทรัพย์นั้น ๆ
สกสว32-กส25104-25430201ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ