ปรับปรุงวิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday September 24, 2001 15:12 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  24  กันยายน  2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
บริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด(มหาชน)
ที่ ธปท.สกง. (14) ว. 2107/2544 เรื่อง ปรับปรุงวิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ตามหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.สกง. (14) ว. 462/2544 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 เรื่อง วิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทของสถาบันการเงินจากผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR)ที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน (value same day) หรือที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น (value tomorrow) รวมทั้งการปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง (Direct Loan) แก่ NR และการรับรองหรือค้ำประกันในการทำธุรกรรมต่างๆของ NR นั้น
เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินมีภาระในการปฎิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าวมากเกินไปและเพื่อความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ NR ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าการลงทุนในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสมควรยกเลิก หนังสือที่ ธปท.สกง.(14) ว. 462/2544 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 และให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติดังนี้
ก. การรับซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทจากผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(NR) ที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน (value same day) หรือที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น (value tomorrow)
1. กรณีมีธุรกรรมการค้าหรือการลงทุนในประเทศไทยรองรับ (With Underlying)
1.1 NR ที่ไม่ได้เป็นบุคคลธรรมดา เช่น กิจการ สถาบัน กองทุน บริษัทหรือสถาบันการเงินที่จดทะเบียนจัดตั้งในต่างประเทศ
1.1.1 ให้สถาบันการเงินที่ประสงค์จะขอรับซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทจาก NR ต้องส่งหนังสือขออนุญาตไปยัง ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางโทรสารหมายเลข 0-2356-7508 พร้อมแจ้งรายละเอียดของ Underlying และกำหนดการส่งมอบเงินบาทให้แก่บุคคล/ธุรกิจในประเทศ ภายในเวลา 16.30 น. ของวันทำการนั้น
ทั้งนี้ สถาบันการเงินควรแจ้งให้ NR ที่เป็นลูกค้าได้ทราบกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย
1.1.2 หลังจากได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมดังกล่าวแล้ว ให้สถาบันการเงินติดตามหลักฐานการจ่ายเงินในวันที่มีการส่งมอบเงินจริงให้แก่บุคคล/ธุรกิจในประเทศตาม Underlying แล้วส่งสำเนาหลักฐานดังกล่าวทางโทรสารหมายเลขข้างต้นให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายในวันนั้นด้วย
1.1.3 ให้รายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวในตารางที่ 22 Report of Outstanding Balance of THB lending Transaction with Non-resident (With Underlying)โดยในกรณี value same day ให้ใส่ Trade date, Value date และ Maturity date (ช่องที่ 5.2, 5.3 และ 5.4) เป็นวันเดียวกันโดยกรอกวันที่ทำธุรกรรม และใส่ Type (ช่องที่ 7.1) เป็น "SD" (Same Day) และในกรณี value tomorrow ให้ใส่ Trade date (ช่องที่ 5.2) เป็นวันที่ทำธุรกรรม และ Value date และ Maturity date (ช่องที่ 5.3 และ 5.4) เป็นวันที่ทำการถัดไป และใส่ Type (ช่องที่ 7.1) เป็น "TM" (Tomorrow)
1.1.4 ให้สถาบันการเงินสามารถรับซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทที่มี value same day และ value tomorrow จากสถานทูตต่างประเทศ สถานกงสุล ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ องค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม 1.1.1 - 1.1.3
1.2 NR ที่เป็นบุคคลธรรมดา
1.2.1 การรับซื้อเงินตราต่างประเทศทุกสกุลแลกเงินบาทที่มีจำนวนเงินไม่ถึง 25 ล้านบาทต่อรายต่อวันให้สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน แต่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เป็น Underlying ไว้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบได้ตลอดเวลาอย่างน้อย 3 ปี สำหรับการรับซื้อเงินตราต่างประเทศที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป และสถาบันการเงินต้องรายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวในตารางที่ 22 Report of Outstanding Balance of THB Lending Transactions with Non-Resident (With Underlying) เป็นยอดรวม เดือนละครั้งทุกวันทำการแรกของเดือนถัดไปโดยให้กรอกชื่อของ NR (ช่อง 6.1 ) เป็น "Total" และใส่วงเล็บจำนวนรายที่สถาบันการเงินรับซื้อเงินตราต่างประเทศด้วย
1.2.2 การรับซื้อเงินตราต่างประเทศทุกสกุลแลกเงินบาทที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาทต่อรายต่อวันให้สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน แต่ต้องรายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวในตารางที่ 22 Report of Outstanding Balance of THB Lending Transactions with Non-Resident (With Underlying) ตาม 1.1.3 รวมทั้งต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เป็น Underlying ไว้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบได้ตลอดเวลาอย่างน้อย 3 ปี
1.2.3 การรับซื้อเงินตราต่างประเทศทุกสกุลแลกเงินบาทที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปต่อรายต่อวันสถาบันการเงินต้องส่งหนังสือขออนุญาตไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยโดยถือปฏิบัติตามขั้นตอนตาม 1.1.1 , 1.1.2 และ 1.1.3
2. กรณีไม่มีธุรกรรมการค้าหรือการลงทุนในประเทศรองรับ (Without Underlying)ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินรับซื้อเงินตราต่างประเทศจาก
NR ที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน (value same day) หรือที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น (value tomorrow)
3. คำว่า " ต่อราย" หมายถึงการทำธุรกรรมระหว่างคู่ค้า NR ที่ไม่ได้เป็นบุคคลธรรมดาหรือที่เป็นบุคคลธรรมดา 1 รายกับสถาบันการเงินในประเทศไทยทุกแห่ง
ข. การปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง (Direct Loan) ของสถาบันการเงินแก่ NR ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง (Direct Loan) แก่ NR ไม่ว่าจะมี Underlying รองรับหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสินทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ ให้รวมถึงการที่สถาบันการเงินเข้าไปรับรองหรือค้ำประกันในการทำธุรกรรมต่างๆของ NR ซึ่งมีผลให้สถาบันการเงินอาจต้องจ่ายเงินบาทให้แก่ผู้อื่นแทน NR ในอนาคตด้วย แต่ไม่รวมถึงการที่สถาบันการเงินออกบัตรเครดิตให้แก่ NR อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นควรผ่อนผัน ในกรณีต่อไปนี้
1. ให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง(Direct Loan) ให้แก่ NR เฉพาะกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาและได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าวด้วย โดยมียอดคงค้างการให้กู้ยืมเงินบาทแก่ NR แต่ละราย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (รวมทุกสถาบันการเงิน) ไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินขอหนังสือรับรองจาก NR ผู้กู้ว่า NR นั้นมีภาระหรือยอดคงค้างการกู้ยืมเงินบาทกับสถาบันการเงินอื่นอยู่ก่อนหรือไม่ จำนวนเท่าใด และให้ระบุเงื่อนไขในหนังสือรับรองดังกล่าวด้วยว่า หากคำรับรองที่ NR ให้ไว้ไม่ตรงตามความเป็นจริง สถาบันการเงินผู้ให้กู้สามารถเรียกคืนเงินกู้จาก NR ก่อนที่สัญญาจะครบกำหนดได้ นอกจากนั้นให้สถาบันการเงินจัดเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการนำเงินกู้บาทไปใช้จ่ายของ NR ไว้อย่างน้อย 3 ปี เพื่อการตรวจสอบภายหลัง รวมทั้งให้รายงานธุรกรรมดังกล่าวในตารางที่ 22 Report of Outstanding Balance of THB Lending Transactions with Non-Resident (With Underlying) ภายในวันทำการถัดจากวันให้กู้ยืม
2. ให้สถาบันการเงินสามารถออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคา หรือหนังสือค้ำประกันการทำสัญญากับของหน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลทั่วไปในประเทศไทยให้แก่ NR ได้ ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับหลักประกันจากสถาบันการเงินในต่างประเทศของ NR เป็น Standby L/C เพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันของสถาบันการเงินแก่ NR (เป็นลักษณะการทำค้ำประกันแบบ back-to-back) และจะต้องมีเงื่อนไขกำหนดในหลักประกันนั้น ๆ ว่า หากสถาบันการเงินต้องชำระหนี้แทน NR ตามหนังสือค้ำประกัน สถาบันการเงินสามารถเรียกชดใช้เงินได้จากสถาบันการเงินในต่างประเทศของ NR ได้เต็มจำนวนภายในวันเดียวกัน หรือสามารถเรียกเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศได้ก่อนที่สถาบันการเงินจะชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2544 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ขอแสดงความนับถือ
(นายเชษฐทวี เจริญพิทักษ์)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ส่วนควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง
สายตลาดการเงิน
โทร. 0-2283-5326-7
หมายเหตุ : ( X ) ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
* ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจ
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ