(ต่อ1) สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday April 11, 2000 10:17 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

        ข้อ 4 สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้กันเงินสำรองในอัตราร้อยละ 100 
(1) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า12 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่ธนาคารพาณิชย์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญแล้ว
(2) อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ หรือซื้อจากการขายทอดตลาด เฉพาะส่วนที่เป็นผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือตีราคาไว้ไม่เกิน 12 เดือน โดยมูลค่าที่กล่าวให้หักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการขายก่อนนำไปเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชี ทั้งนี้ ในการประเมินราคาหรือตีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าว ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ยกเว้นเกณฑ์การเลือกใช้การประเมินราคาหรือการตีราคา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์ดังกล่าว มิให้นำมาใช้บังคับในเรื่องนี้ และให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
(ก) อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้หรือซื้อจากการขายทอดตลาดแต่ละแปลงมีราคาตามบัญชีตั้งแต่ 5 ล้านบาท ขึ้นไป ให้ใช้การประเมินราคา
(ข) อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้หรือซื้อจากการขายทอดตลาดแต่ละแปลงมีราคาตามบัญชีต่ำกว่า 5 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์จะใช้การตีราคา หรือการประเมินราคาก็ได้
(ค) อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้หรือซื้อจากการขายทอดตลาดหลายแปลง ที่ไม่สามารถแยกจำหน่ายจากกันได้ หากมีราคาตามบัญชีรวมกันตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปให้ใช้การประเมินราคาเช่นเดียวกับข้อ (2)(ก)
(3) สินทรัพย์อื่นเฉพาะส่วนที่เป็นผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรม หรือมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องกำหนดมูลค่ายุติธรรมหรือมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี
(4) สินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ทั้งจำนวน
(5) ส่วนสูญเสียที่เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(6) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นจะเรียกคืนไม่ได้ทั้งจำนวนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง
ข้อ 5 สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้กันเงินสำรองในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
(1) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่ธนาคารพาณิชย์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญหรือสงสัยจะสูญแล้ว
(2) ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
(3) ลูกหนี้ที่หยุดดำเนินกิจการหรือเลิกกิจการ หรือกิจการของลูกหนี้อยู่ระหว่างชำระบัญชี
(4) ลูกหนี้ที่ประวิงการชำระหนี้ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เช่น ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน
(5) ลูกหนี้ที่มีฐานะการเงินไม่มั่นคง หรือความสามารถในการหารายได้ต่ำอันแสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้อ่อน
(6) ลูกหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ติดต่อไม่ได้ หรือตามตัวลูกหนี้ไม่พบ หรือลูกหนี้ไปเสียจากภูมิลำเนาที่ปรากฏตามสัญญาโดยไม่แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ทราบ
(7) ผู้ค้ำประกันที่เข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน (1) - (6) ดังกล่าวข้างต้น
(8) ลูกหนี้ที่ไม่ปรากฎธุรกิจแน่ชัด หรือไม่ได้ประกอบธุรกิจจริงจัง หรือนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
(9) ธนาคารพาณิชย์ได้ฟ้องลูกหนี้ หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง
(10) ธนาคารพาณิชย์ได้ฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลาย หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย
(11) ลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนเป็นเวลาตั้งแต่สามปีติดต่อกันขึ้นไป หรือลูกหนี้ที่มียอดขาดทุนสะสมจนทำให้สินทรัพย์ต่ำกว่าหนี้สินที่มีอยู่ เว้นแต่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่ากิจการของลูกหนี้มีโอกาสทำกำไรพอชดเชยผลขาดทุน
(12) ลูกหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์มิได้มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ตามหลักการการให้สินเชื่อที่ดี หรือมีเอกสารประกอบการให้สินเชื่อไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย หรือมิได้มีการติดตามฐานะการเงิน ตลอดจนคุณภาพลูกหนี้ตามวิธีปฏิบัติปกติ
(13) ลูกหนี้ที่ได้ขอผ่อนเวลาการชำระหนี้ไว้ แต่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน
(14) สินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกให้ชำระคืนไม่ได้ครบถ้วน
(15) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นคาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ครบถ้วนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง
ข้อ 6 สินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้กันเงินสำรองในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
(1) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 3 เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่ธนาคารพาณิชย์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญ สงสัยจะสูญ หรือสงสัยแล้ว
(2) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 3 เดือน แต่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เช่น ภาวะของภาคอุตสาหกรรมของลูกหนี้เสื่อมถอยลง หรือหลักประกันที่เป็นปัจจัยในการชำระหนี้เสื่อมค่าลง
(3) ลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนเป็นเวลาตั้งแต่สองปีติดต่อกันขึ้นไป หรือลูกหนี้ที่มียอดขาดทุนสะสมจนทำให้สินทรัพย์หลังหักหนี้สินต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของทุนซึ่งชำระแล้ว เว้นแต่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่ากิจการของลูกหนี้มีโอกาสทำกำไรพอชดเชยผลขาดทุน
(4) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นมีปัญหาในการเรียกให้ชำระคืน หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามปกติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง
ข้อ 7 สินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้กันเงินสำรองในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2
(1) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 1 เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่ธนาคารพาณิชย์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญ สงสัยจะสูญ สงสัย หรือต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว โดยให้ใช้ยอดคงค้างของต้นเงินที่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับในการกันเงินสำรอง
(2) ลูกหนี้ที่ไม่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยแต่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้คืน หรือมีความไม่สมบูรณ์ของหลักประกัน
(3) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นมีค่าเสื่อมถอยลง หรือลูกหนี้มีฐานะหรือผลการดำเนินงานอ่อนลงตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง
ข้อ 8 สินทรัพย์จัดชั้นปกติตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้กันเงินสำรองในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1
(1) ลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้และไม่มีสัญญาณใด ๆ แสดงว่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้อันจะเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหาย แต่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายตามปกติ
(2) ลูกหนี้อื่นที่ไม่เข้าข่ายเป็นลูกหนี้จัดชั้นสูญ สงสัยจะสูญ สงสัย ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกล่าวถึงเป็นพิเศษ โดยให้ใช้ยอดคงค้างของต้นเงินที่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับในการกันเงินสำรอง
ข้อ 9 กรณีที่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่งมีหนี้หลายประเภท และหนี้แต่ละประเภทจัดเป็นสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ต่างประเภทกัน ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดชั้นหนี้ทุกประเภทของลูกหนี้รายนั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นในระดับคุณภาพที่ต่ำสุดของลูกหนี้รายนั้น ยกเว้นในกรณีที่
(1) ธนาคารพาณิชย์สามารถแบ่งแยกการใช้เงินตามโครงการใดโครงการหนึ่งของลูกหนี้ออกจากหนี้ประเภทอื่นที่มีอยู่ได้อย่างชัดเจน โดยให้จัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ทุกข้อ ดังนี้
(ก) ธนาคารพาณิชย์ได้มีการวิเคราะห์การให้สินเชื่ออย่างดี มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ทางการเงิน ตลอดจนวิเคราะห์กระแสเงินสดจนมั่นใจในความสำเร็จของโครงการนั้น และเชื่อมั่นได้ในแหล่งที่มาหลักของกระแสเงินสดที่จะนำมาเพื่อการชำระหนี้ และพิจารณาแล้วว่าลูกหนี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างแน่นอน
(ข) ธนาคารพาณิชย์มีเอกสารหลักฐานประกอบการวิเคราะห์การให้สินเชื่ออย่างเพียงพอและพร้อมให้ตรวจสอบได้
(ค) ธนาคารพาณิชย์สามารถติดตามควบคุมการใช้เงินของลูกหนี้ได้อย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ และมีเอกสารการติดตามหนี้ชัดเจน
(ง) ธนาคารพาณิชย์มีการจัดทำตารางเวลาการจ่ายชำระหนี้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับรายได้หรือกระแสเงินสดของลูกหนี้
(2) ลูกหนี้มีหนี้ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติมากกว่าร้อยละ 90 ของราคาตามบัญชีรวมดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้รายนั้น ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดชั้นหนี้ส่วนนี้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติ หากต่อมาอัตราดังกล่าวลดต่ำกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากการจ่ายชำระหนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงจัดชั้นหนี้ส่วนนี้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติ
ข้อ 10 ลูกหนี้ที่มีหนังสือยืนยันการตรวจรับงานจากหน่วยราชการตามระเบียบของหน่วยราชการนั้นที่มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันตรวจรับงาน เงินให้สินเชื่อส่วนที่มีหนังสือยืนยันนั้นให้ถือเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติ
ข้อ 11 ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ตัดส่วนสูญเสียออกจากบัญชี หรือกันเงินสำรองดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ยินยอมลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือรับชำระหนี้โดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงินหรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้ธนาคารพาณิชย์ตัดจำหน่ายบัญชีลูกหนี้และบันทึกส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมกับโอนกลับรายการเงินสำรองส่วนเกินที่กันไว้เฉพาะสำหรับลูกหนี้รายนั้นทั้งจำนวนได้
(ข) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาด แต่ไม่ลดต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์บันทึกเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการคำนวณราคาตามบัญชีใหม่ของลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดทั้งจำนวน เว้นแต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2543 ธนาคารพาณิชย์สามารถทยอยกันเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับข้อ 13 แต่ต้องไม่เกินอายุของสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์สามารถโอนกลับรายการเงินสำรองที่กันไว้แล้วเดิมก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายนั้นได้เฉพาะจำนวนที่กันไว้แล้วสูงกว่าจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องทยอยกัน และหากเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่ำกว่าจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องทยอยกันก็ให้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องทยอยกันดังกล่าว
(ค) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ยินยอมลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือรับชำระหนี้บางส่วนโดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน และผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ในส่วนที่เหลือให้แก่ลูกหนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม (ก) สำหรับกรณีการลดต้นเงินหรือดอกเบี้ย หรือการรับชำระหนี้ดังกล่าว และปฏิบัติตาม (ข) ในส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาด
(2) ในระหว่างติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องชำระเงินตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 3 งวดการชำระเงิน แล้วแต่ระยะเวลาใดจะนานกว่า ให้ดำเนินการดังนี้
(ก) ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสงสัยจะสูญ หรือสงสัย ให้จัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน
(ข) ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกล่าวถึงเป็นพิเศษ ให้คงจัดชั้นเช่นเดิม
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ตามสถานะการจัดชั้นหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากเงินสำรองตาม (2) นี้มีจำนวนสูงกว่าเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตาม (1) (ข) และ (ค)
เมื่อลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ โดยชำระเงินตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 3 งวดการชำระเงินแล้ว ให้ถือเป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติ
ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นเพื่อการกันเงินสำรองตามเกณฑ์ในประกาศฉบับนี้ต่อไป
(3) สำหรับลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์จัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้ทันทีโดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(ก) ลูกหนี้ที่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด (Market interest rate) โดยไม่มีช่วงปลอดการชำระดอกเบี้ย แต่อาจมีช่วงปลอดชำระเงินต้นได้
(ข) ลูกหนี้ที่มีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20ของยอดหนี้ตามบัญชีก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้มีการตัดออกจากบัญชีแล้ว หรือได้มีการกันเงินสำรองในอัตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยหนี้ส่วนที่เหลือได้มีการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสด อย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีหลักฐานประกอบจนเชื่อได้แน่นอนว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(ค) ลูกหนี้ในลักษณะ Loan Syndication หรือมีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งบรรดาเจ้าหนี้ได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้ และสามารถแสดงหลักฐานการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดอย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้แน่นอนที่ลูกหนี้จะปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(ง) กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ฟ้องร้องลูกหนี้ ต่อมาได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว และกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ฟ้องร้องลูกหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว
(4) กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ธนาคารพาณิชย์จัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้ทันทีโดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(5) ในกรณีที่เห็นว่ามีข้อผิดสังเกตในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งการให้มีการแก้ไข หรือให้ธนาคารพาณิชย์หาผู้เชี่ยวชาญอิสระมาประเมินหรือทบทวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แต่ละรายได้
ข้อ 12 ในการกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นทุกประเภท เว้นแต่สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญตามข้อ 4 (2) (3) และ (5) ให้นำมูลค่าของหลักประกันซึ่งได้ประเมินราคาตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรอง มูลค่าของหลักประกันที่นำมาหักได้จะต้องไม่สูงเกินกว่ามูลค่าที่ได้มีการจดจำนำ จำนอง หรือมูลค่าที่ธนาคารพาณิชย์มีบุริมสิทธิ์เหนือหลักประกันนั้น ดังนี้
(1) หลักประกันที่เป็นสิทธิในเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์นั้น นำมาหักได้ร้อยละ 100
(2) หลักประกันที่ใกล้เคียงเงินสด เช่น หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดนำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 95 ของราคาตลาด
(3) หลักประกันอื่นนอกจาก (1) และ(2) ที่ได้มีการประเมินราคาหรือมีการตีราคาไว้ไม่เกิน 12 เดือน ให้นำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือการตีราคา หากมีการประเมินราคาหรือมีการตีราคาไว้เกินกว่า 12 เดือน ให้นำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 50ของมูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือการตีราคา
(4) หลักประกันอื่นนอกจาก (1) และ(2) สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่มียอดคงค้างต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่ได้มีการประเมินราคาหรือมีการตีราคาไว้ไม่เกิน 36 เดือน ให้นำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือการตีราคา หากมีการประเมินราคาหรือมีการตีราคาไว้เกินกว่า 36 เดือน ให้นำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือการตีราคา
(5) ลูกหนี้จัดชั้นรายใดที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หรือที่รัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชำระหนี้ให้ หรือที่มีหลักฐานว่าจะได้รับชำระเงินจากหน่วยราชการใดอย่างแน่นอน ให้นำวงเงินที่ได้รับการค้ำประกันหรือที่จะได้รับชำระนั้นมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนคำนวณเงินสำรอง
สำหรับสินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษตามข้อ 7 และสินทรัพย์จัดชั้นปกติตามข้อ 8 ธนาคารพาณิชย์จะนำมูลค่าของหลักประกันมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรองหรือไม่ก็ได้
ข้อ 13 เว้นแต่สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญตามข้อ 4(2) และ (3) ซึ่งให้กันเงินสำรองให้ครบตามจำนวนที่ต้องกันในทันที ให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยกันเงินสำรองให้ครบถ้วน ทั้งในกรณีสินทรัพย์จัดชั้นและกรณีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 11 ภายในสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2543 โดยต้องดำเนินการตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2541 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(2) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2542 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(3) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2542 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(4) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2543 ให้กันเงินสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนที่ต้องกันเงินสำรองดังกล่าว
(5) ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนหลังของปี 2543 ให้กันเงินสำรองให้ครบถ้วน
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องลดทุนเพราะเหตุที่ทางการใช้อำนาจสั่งการตามกฎหมาย จำนวนเงินสำรองที่ต้องกันซึ่งจะนำมาใช้ในการพิจารณาลดทุนนั้นคือเงินสำรองที่ต้องกันเต็มทั้งจำนวน โดยจะไม่นำการทยอยกันตามวรรคแรกมาใช้บังคับ
อนึ่ง หากธนาคารพาณิชย์ได้กันเงินสำรองไว้แล้วมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องทยอยกันเงินสำรองในแต่ละงวด ธนาคารพาณิชย์จะต้องคงจำนวนเงินสำรองดังกล่าวไว้ในบัญชีต่อไปจนกว่าจะกันเงินสำรองได้ครบถ้วนแล้ว เว้นแต่เป็นการลดลงของเงินสำรองอันเนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 11 หรืออันเนื่องมาจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากรณีใด จำนวนเงินสำรองคงเหลือต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่ให้ทยอยกันตามวรรคแรก
ข้อ 14 ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญรายใดที่ได้กันเงินสำรองครบถ้วน แล้ว ให้ธนาคารพาณิชย์ตัดจำหน่ายลูกหนี้รายดังกล่าวออกจากบัญชีทันที ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) กรณีลูกหนี้ที่มีหลักประกัน ให้ธนาคารพาณิชย์ตัดจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเท่ากับจำนวนที่ได้กันเงินสำรองไว้แล้ว ยอดหนี้ส่วนที่มีหลักประกันให้คงอยู่ในบัญชีลูกหนี้ต่อไป
(2) กรณีลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ให้ธนาคารพาณิชย์ตัดจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเต็มจำนวนหนี้ที่คงค้าง
ข้อ 15 ในระหว่างเวลาที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้ตัดสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ออกจากบัญชี หรือยังกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ครบจำนวน ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใดแก่ผู้ถือหุ้นมิได้
ข้อ 16 ให้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับเฉพาะสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่งวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2542 สิ้นสุดลงภายหลังวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะสิ้นสุดงวดการบัญชีดังกล่าว
ข้อ 17 ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันส่งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
ข้อ 18 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป อนึ่ง ในงวดการบัญชีรอบระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 หากปรากฎว่าธนาคารพาณิชย์ได้ปฏิบัติตามข้อ 4(3) ของประกาศนี้ ให้ถือว่าได้ปฏิบัติตาม ข้อ 4(2) ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542 แล้ว
ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2543
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตัวอย่างการกันเงินสำรองสำหรับเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทเผื่อขาย
หลักทรัพย์ ราคาทุน งวดที่ 1 สำรองที่ งวดที่ 2 สำรองที่ งวดที่ 3 สำรองที่
ราคาตลาด กันทั้งสิ้น ราคาตลาด กันทั้งสิ้น ราคาตลาด กันทั้งสิ้น
A 100 95 5 93 7 98 2
B 90 92 0 88 2 85 5
C 80 70 10 73 7 81 0
สำรองที่ต้อง
กันตามประกาศ 15 16 7
สำรองที่ได้
กันไว้แล้ว 0 15 16
สำรองที่ต้อง
กันเพิ่ม (ลด) 15 1 -9
ค่าเผื่อการ
ปรับมูลค่า 13 16 6
สำรองที่ต้องกันตามประกาศ หมายถึง ผลรวมของบัญชีค่าเผื่อการปรับมูลค่ารายหลักทรัพย์เฉพาะบัญชีที่มี
ยอดคงค้างเป็นด้านเครดิต ค่าเผื่อการปรับมูลค่า หมายถึง ผลรวมของบัญชีค่าเผื่อการปรับมูลค่ารายหลักทรัพย์ทุกบัญชี
สนสว10-กส33801-25430410ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ