การซักซ้อมความเข้าใจในการจัดทำบัญชีเกี่ยวกับ ลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday March 27, 2001 15:31 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อธ. 6/2544
เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจในการจัดทำบัญชี
เกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์
_______________________
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 5 /2544 เรื่อง การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ("ประกาศฉบับที่ 2") ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 33/2543 เรื่อง การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการจัดทำบัญชีลูกหนี้ด้อยคุณภาพประเภทลูกหนี้ผ่อนชำระและหลักเกณฑ์อื่นบางประการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชี และให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น นั้นเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์เข้าใจรายละเอียดและปฏิบัติตามข้อกำหนดที่แก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้อง สำนักงานขอซักซ้อมความเข้าใจในสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ดังนี้ 1. นิยาม "ลูกหนี้ผ่อนชำระ"
ประกาศฉบับที่ 2 ได้แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และการจัดชั้นมูลหนี้ของลูกหนี้ผ่อนชำระทุกประเภทให้เป็นอย่างเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกหนี้ผ่อนชำระรายนั้นจะเป็นลูกหนี้ผ่อนชำระซึ่งทำสัญญาตามมาตรฐาน ลูกหนี้ผ่อนชำระอื่น หรือลูกหนี้ผ่อนชำระที่เข้าข่ายเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 34 เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา 2. เกณฑ์การรับรู้รายได้จากลูกหนี้ผ่อนชำระ2.1 ก่อนการใช้บังคับประกาศฉบับที่ 2 บริษัทหลักทรัพย์จะเริ่มรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิสำหรับลูกหนี้ผ่อนชำระได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้รายนั้นได้ผ่อนชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหกงวดติดต่อกันแล้ว แต่ข้อกำหนดในประกาศฉบับที่ 2 นี้ประสงค์จะให้บริษัทหลักทรัพย์พิจารณาข้อเท็จจริงโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นรายกรณี โดยในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ลูกหนี้ผ่อนชำระรายใดจะสามารถชำระหนี้ได้จริงตลอดอายุของสัญญา บริษัทหลักทรัพย์ก็สามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ผ่อนชำระรายนั้นตามเกณฑ์สิทธิได้ทันทีภายหลังการทำสัญญาผ่อนชำระ
2.2 อย่างไรก็ดี เนื่องจากในทางปฏิบัติ บริษัทหลักทรัพย์อาจกำหนดระยะห่างของงวดการผ่อนชำระสำหรับลูกหนี้แต่ละรายไว้แตกต่างกันได้ กล่าวคือ สัญญาบางฉบับอาจกำหนดงวดการผ่อนชำระเป็นรายเดือน บางฉบับกำหนดเป็นรายสองเดือน หรือบางฉบับกำหนดเป็นรายหกเดือน ฯลฯ และโดยที่สัญญาที่กำหนดระยะห่างของงวดไว้ยาวย่อมทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้สูงขึ้น ดังนั้น ตัวอย่างของกรณีที่ถือว่ามีความไม่แน่นอนในการเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับที่ 2 จึงรวมถึงตัวอย่างความไม่แน่นอนที่อาจเกิดจากระยะห่างของงวดการผ่อนชำระไว้ด้วย ดังนี้
2.2.1 กรณีสัญญากำหนดงวดการผ่อนชำระห่างกันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
หากลูกหนี้รายดังกล่าวไม่มีการชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 3 เดือน บริษัทหลักทรัพย์ต้องหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามเกณฑ์สิทธิของลูกหนี้รายนั้นตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไปจนกว่าลูกหนี้จะได้มีการชำระหนี้สำหรับงวดที่ยังไม่ได้ชำระจนครบถ้วนแล้ว บริษัทจึงสามารถเริ่มรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของลูกหนี้นั้นตามเกณฑ์สิทธิต่อไปได้ ตัวอย่างที่ 1 ลูกหนี้ นาย ก. ทำสัญญามีกำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน ภายหลังการทำสัญญาปรากฏว่านาย ก. เริ่มค้างชำระดอกเบี้ย โดยชำระงวดล่าสุดในงวดเดือนสิงหาคม 2544
ในกรณีนี้บริษัทหลักทรัพย์ยังสามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจาก นาย ก. ตามเกณฑ์สิทธิได้ในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลา 3 เดือนถัดจากงวดล่าสุดที่ได้รับชำระ แต่บริษัทหลักทรัพย์จะต้องหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ นาย ก. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544 เป็นต้นไป ตัวอย่างที่ 2 จากตัวอย่างที่ 1 หากต่อมาในเดือนมกราคม 2545 นาย ก. ได้นำเงินมาชำระให้แก่บริษัทหลักทรัพย์สำหรับดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมด 5 งวด (กันยายน 2544 - มกราคม 2545) บริษัทหลักทรัพย์สามารถกลับมารับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามเกณฑ์สิทธิได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปตัวอย่างที่ 3 ลูกหนี้ นาย ข. ทำสัญญามีกำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้น 2 เดือน ภายหลังทำสัญญาปรากฏว่านาย ข. ค้างชำระดอกเบี้ย โดยชำระงวดล่าสุดในงวดเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2544
ในกรณีนี้บริษัทหลักทรัพย์ยังสามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของ นาย ข. ตามเกณฑ์สิทธิได้ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลา 3 เดือนถัดจากงวดที่ได้รับชำระล่าสุด แต่บริษัทหลักทรัพย์จะต้องหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของลูกหนี้ นาย ข. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป
2.2.2 กรณีสัญญากำหนดงวดการผ่อนชำระห่างกันเป็นระยะเวลาเกิน 3 เดือน
ในกรณีนี้ให้ถือว่ายังไม่มีความแน่นอนเพียงพอที่บริษัทหลักทรัพย์จะรับรู้รายได้ของลูกหนี้รายดังกล่าวตามเกณฑ์สิทธิได้ จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนและทำให้เชื่อได้ว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่บริษัทหลักทรัพย์จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดเท่านั้น
2.3 นอกจากนี้ ในกรณีที่สัญญากำหนดให้งวดการผ่อนชำระมีระยะห่างกันเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน และกำหนดจำนวนดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องชำระในแต่ละงวดต่ำกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่คำนวณได้ตามวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective rate) อย่างมีนัยสำคัญ กรณีนี้ประกาศฉบับที่ 2 กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องถือว่าลูกหนี้รายดังกล่าวยังค้างชำระดอกเบี้ยในแต่ละงวดดังกล่าวอยู่ ถึงแม้ว่าลูกหนี้จะสามารถชำระดอกเบี้ยตามงวดและจำนวนที่ระบุในสัญญาได้ก็ตามตัวอย่างที่ 4 บริษัทหลักทรัพย์ทำสัญญากับลูกหนี้ผ่อนชำระรายหนึ่งซึ่งมีมูลหนี้ทั้งหมด 500,000 บาท ตามสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินเดือนละ 1,000 บาท
หากคำนวณจำนวนเงินที่ลูกหนี้จะต้องผ่อนชำระตลอดอายุสัญญาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ 8 แล้ว จำนวนดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องผ่อนชำระจะเท่ากับประมาณเดือนละ 3,300 บาท ดังนั้น การที่สัญญาผ่อนชำระกำหนดให้ลูกหนี้ชำระเงินเพียงเดือนละ 1,000 บาท ถือได้ว่าจำนวนดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวแตกต่างจากจำนวนดอกเบี้ยที่คำนวณตามวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีตามตัวอย่างนี้ บริษัทหลักทรัพย์จึงสามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับได้เพียงเดือนละ 1,000 บาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนแรกของการทำสัญญาเท่านั้น หลังจากนั้น จะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อได้รับชำระแล้ว
3. เกณฑ์การจัดชั้นและตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ผ่อนชำระ3.1 เนื่องจากระยะเวลาการชำระคืนของลูกหนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ ประกาศฉบับที่ 2 นี้ จึงได้ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดชั้นสงสัยสำหรับมูลหนี้ส่วนที่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนเกินกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันสิ้นงวดการบัญชีที่จัดทำงบการเงิน และได้วางข้อกำหนดใหม่ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดชั้นสงสัยหนี้โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เท่านั้น กล่าวคือ ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดชั้นลูกหนี้ผ่อนชำระเฉพาะลูกหนี้รายที่มีความไม่แน่นอนในการเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งลูกหนี้รายที่มีความไม่แน่นอนดังกล่าวก็คือ ลูกหนี้ผ่อนชำระรายที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องหยุดรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิตามที่ได้กล่าวในหัวข้อที่ 2. ของประกาศซักซ้อมความเข้าใจฉบับนี้
3.2 ในการจัดชั้นมูลหนี้และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการดังนี้
3.2.1 มูลหนี้ในส่วนที่สูงเกินกว่าหลักประกัน ให้จัดชั้นสงสัยและตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 100
3.2.2 มูลหนี้ในส่วนที่ไม่เกินหลักประกัน ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน โดยไม่ต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
ตัวอย่างที่ 5 บริษัทหลักทรัพย์ทำสัญญากับลูกหนี้ผ่อนชำระรายหนึ่งมีมูลหนี้ 300,000 บาท กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี โดยลูกหนี้ได้จัดให้มีหลักประกันมูลค่า 180,000 บาท
มูลหนี้ 120,000 มูลหนี้ 180,000 หลักประกัน180,000
ให้บริษัทหลักทรัพย์พิจารณาว่า ลูกหนี้รายดังกล่าวเป็นลูกหนี้ที่ห้ามรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิตามประกาศหรือไม่ และดำเนินการดังนี้
การรับรู้รายได้ของลูกหนี้ผ่อนชำระ มูลหนี้ส่วนที่สูงกว่าหลักประกัน(120,000 บาท) มูลหนี้ส่วนไม่เกินหลักประกัน(180,000 บาท)
การจัดชั้น ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ การจัดชั้น ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลูกหนี้ที่รับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ ไม่ต้องจัดชั้น ไม่ต้องตั้ง ไม่ต้องจัดชั้น ไม่ต้องตั้งลูกหนี้ที่ห้ามรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ* จัดชั้นสงสัย ร้อยละ100 จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ต้องตั้ง* ลูกหนี้ที่เข้าข่ายจัดชั้น บริษัทหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยมูลหนี้ที่จัดชั้นไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
4. การกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
4.1 ในกรณีของลูกหนี้ทั่วไปหรือลูกหนี้อื่นรายใดที่บริษัทหลักทรัพย์เคยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ครบถ้วนร้อยละ 100 ในมูลหนี้ในส่วนที่สูงกว่าหลักประกันแล้ว หากต่อมาบริษัทหลักทรัพย์ได้ทำสัญญาผ่อนชำระกับลูกหนี้รายดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์จะสามารถกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้รายนั้นได้เฉพาะกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีหลักฐานที่ชัดเจนและทำให้เชื่อได้ว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่บริษัทหลักทรัพย์จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดจากลูกหนี้รายนั้น เช่น ลูกหนี้นำหลักประกันมาวางเพิ่มเติม เป็นต้น
4.2 ในกรณีของลูกหนี้ผ่อนชำระนั้น ตัวอย่างดังต่อไปนี้อาจพิจารณาได้ว่ายังมีความไม่แน่นอนที่บริษัทหลักทรัพย์จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดจากลูกหนี้รายนั้น ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์จะต้องไม่กลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ได้ตั้งไว้เดิมของลูกหนี้รายดังกล่าว
4.2.1 ลูกหนี้ตามสัญญาผ่อนชำระที่กำหนดให้ชำระหนี้จำนวนน้อยในช่วงแรกและชำระหนี้จำนวนมากในช่วงหลังของสัญญา โดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งสามารถแสดงได้ว่าลูกหนี้จะมีรายได้จากแหล่งใดมาชำระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมด
4.2.2 ลูกหนี้ตามสัญญาผ่อนชำระที่กำหนดงวดการชำระหนี้แต่ละงวดห่างกันมาก และไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งสามารถแสดงได้ว่าลูกหนี้จะมีรายได้จากแหล่งใดมาชำระหนี้ได้ตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญา
4.2.3 ลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีแหล่งที่มาของรายได้แน่นอน ที่จะทำให้เชื่อได้ว่าลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดตามสัญญา
4.2.4 ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งอาจไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้สินให้เจ้าหนี้ได้ทุกราย
5. การคำนวณมูลค่าของหลักประกันประกาศฉบับที่ 2 ได้แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับราคาที่จะนำมาใช้ในการคำนวณมูลค่าหลักประกันบางรายการให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี โดยกำหนดให้ใช้ราคายุติธรรมในการคำนวณมูลค่าบัตรเงินฝาก และหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินอื่น
ทั้งนี้ คำว่า "ราคายุติธรรม" หมายความว่า จำนวนเงินที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีความรอบรู้และเต็มใจในการแลกเปลี่ยนและสามารถต่อรองราคากันได้อย่างเป็นอิสระในลักษณะของผู้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
6. วันมีผลใช้บังคับ ให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่แก้ไขใหม่ตามประกาศฉบับที่ 2สำหรับงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป ยกเว้นข้อกำหนดการรับรู้รายได้ของลูกหนี้ผ่อนชำระ ให้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2544
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ