ขอบเขตการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ(สนส.(11)ว. 2457/2544)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday November 2, 2001 14:02 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                             2  พฤศจิกายน  2544
เรียน ผู้จัดการ
สำนักงานวิเทศธนกิจทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(11)ว. 2457/2544 เรื่อง ขอบเขตการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
เพื่อให้หลักเกณฑ์การประกอบกิจการวิเทศธนกิจมีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอชี้แจงแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2544 ดังนี้
1. ให้ยกเลิกหนังสือของ ธปท. ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ จำนวน 5 ฉบับ คือ
1.1 หนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 2226/2536 เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2536
1.2 หนังสือที่ งพ.(ว) 654/2537 เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของ ธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 10 มีนาคม 2537
1.3 หนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1137/2538 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับ การเบิกถอนเงินกู้ยืมใน loan syndication ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2538
1.4 หนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1273/2538 เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538
1.5 หนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1053/2539 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการโอน ผลกำไรของกิจการวิเทศธนกิจ ลงวันที่ 29 เมษายน 2539
2. ข้อกำหนดที่ให้การแยกกิจการวิเทศธนกิจออกจากกิจการธนาคารพาณิชย์อื่น เสมือนหนึ่งเป็นคนละนิติบุคคลนั้น หมายความรวมถึง การแยกเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารใน ต่างประเทศ (nostro account) และการแยกเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวกับการให้กู้ยืมหรือการซื้อขาย เงินปริวรรตต่างประเทศหรือเกี่ยวกับการทำธุรกิจใดๆ ในนามของกิจการวิเทศธนกิจ
3. กิจการวิเทศธนกิจอาจเลือกเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ (nostro account) ได้ดังนี้
(1) แยกเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในต่างประเทศต่างหากสำหรับกิจการ วิเทศธนกิจ และให้แยกบัญชีย่อย (sub-ledger) ในสมุดบัญชีของกิจการวิเทศธนกิจเอง สำหรับ ธุรกิจแต่ละประเภท คือ (ก) บัญชีเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ (ข) บัญชีเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศ (ค) บัญชีเงินฝากเพื่อธุรกรรม การซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และ (ง) บัญชีเงินฝากเพื่อธุรกิจอื่นที่กิจการวิเทศธนกิจพึง กระทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.
(2) แยกเปิดบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศประเภทไม่มีดอกเบี้ยไว้กับ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้นๆ ในประเทศไทย แล้วใช้บัญชีดังกล่าวเสมือน หนึ่งเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ แต่จะต้องแยกเปิดบัญชีเงินฝากสำหรับธุรกิจ แต่ละประเภท กล่าวคือ (ก) บัญชีเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ (ข) บัญชีเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศ (ค) บัญชีเงินฝากเพื่อธุรกรรม การซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และ (ง) บัญชีเงินฝากเพื่อธุรกิจอื่นที่กิจการวิเทศธนกิจพึง กระทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.
และยอดคงเหลือในบัญชีต่างๆ ดังกล่าว จะต้องไม่มียอดกิจการวิเทศธนกิจ เป็นลูกหนี้ นอกจากนี้ เฉพาะสำหรับบัญชีเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมใน ต่างประเทศ กิจการวิเทศธนกิจจะต้องนำเงินในบัญชีไปให้กู้ยืมหรือนำไปชำระเงินกู้ยืมของ กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศให้เสร็จสิ้นภายในวันนั้น
ในการปฏิบัติตามวิธีในข้อ (2) นี้ ธนาคารพาณิชย์ที่รับฝากเงินตรา ต่างประเทศ จะต้องจัดทำ nostro account ในสมุดบัญชีของตนแยกออกเป็นบัญชีย่อย (sub-ledger) สำหรับธุรกิจแต่ละประเภทตาม (1) ข้างต้นด้วย
ทั้งนี้ กิจการวิเทศธนกิจจะเลือกวิธีการใด ให้แจ้งให้ธนาคารแห่ง ประเทศไทยทราบด้วย
4. การบันทึกบัญชีสำหรับสินทรัพย์ที่เป็นเงินบาทซึ่งพึงมีได้ตามประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ของธนาคารพาณิชย์ ให้บันทึกบัญชีของสินทรัพย์ดังกล่าวแยกต่างหากจากบัญชีอื่นๆ ของกิจการ วิเทศธนกิจ
5. การโอนเงินตราต่างประเทศของกิจการวิเทศธนกิจให้แก่กิจการส่วนอื่นใน ประเทศของธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น ให้ถือว่าเป็นการทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศ
6. เนื่องจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ เป็นกิจการที่ ระดมเงินจากต่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเพื่อใช้ในกิจการต่างประเทศ ส่วน กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศ เป็นกิจการที่ระดมเงินจากต่างประเทศโดย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเพื่อใช้ในกิจการในประเทศ ดังนั้น การทำสัญญาให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้า กิจการวิเทศธนกิจต้องให้ลูกค้าระบุวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่กู้ยืมนั้นไปใช้อย่างชัดเจน และต้องควบคุมดูแลให้การใช้เงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการกู้ยืมนั้น
7. การค้ำประกันหนี้ใดๆ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หมายความรวมถึง การเปิด stand by L/C ด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่กิจการวิเทศธนกิจมีภาระที่จะต้องชำระหนี้อันเนื่องจาก การอาวัล การรับรอง หรือการค้ำประกัน หากการชำระหนี้นั้นเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืม ของกิจการวิเทศธนกิจส่วนใด ให้ถือว่าการชำระหนี้ตามภาระผูกพันดังกล่าวเป็นการให้กู้ยืม แก่ลูกหนี้ของกิจการวิเทศธนกิจส่วนนั้น
8. ตามประกาศกระทรวงการคลังในเรื่องของธุรกิจวิเทศธนกิจอื่น สำหรับ การซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศนั้น หมายความรวมถึงการดำเนินการเพื่อประกันความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน (currency hedging) กับสถาบันการเงิน สำหรับเงินกู้และเงินให้กู้ยืมของตนเอง และรับประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้าในต่างประเทศ กิจการวิเทศธนกิจอื่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือลูกค้าในประเทศที่กิจการวิเทศธนกิจนั้นให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศ
9. ธุรกิจด้านเล็ตเตอร์ออฟเครดิต หมายความรวมถึง การทำธุรกิจด้านเล็ตเตอร์ ออฟเครดิต ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ในกรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าตามข้อตกลงแห่งเล็ตเตอร์ ออฟเครดิตนั้นอยู่นอกประเทศ และสินค้าตามข้อตกลงนั้นไม่ได้ส่งออกหรือนำเข้ามาในประเทศ ไทยและรวมถึงการทำธุรกรรมในลักษณะ back to back
10. ในการทำธุรกิจจัดจำหน่ายตราสารแสดงสิทธิในหนี้ กิจการวิเทศธนกิจ จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อน
หากกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขาธนาคารต่างประเทศเป็นเพียงกิจการหนึ่งซึ่งอยู่ภายในธนาคารพาณิชย์ หรือสาขาธนาคารต่างประเทศดังกล่าว การยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถทำได้โดยยื่นขออนุญาตเพียงครั้งเดียว
การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้ที่ผู้ออกเป็นบริษัทที่มี ถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศและเสนอขายในต่างประเทศทั้งจำนวน กิจการวิเทศธนกิจไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้
กรณีที่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไม่ประกอบกิจการในปริมาณที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในช่วงระยะเวลา 2 ปีใดๆ รัฐมนตรีตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ตามมาตรา 147 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แต่ขณะนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมิได้ประกาศกำหนดปริมาณธุรกิจดังกล่าว
11. กิจการวิเทศธนกิจอาจดำเนินการบริหารสภาพคล่อง โดยการสลักหลัง จำหน่าย จ่าย โอน ให้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งสินทรัพย์ใดๆ อันได้แก่ ตราสารที่เป็นสินทรัพย์ ที่เป็นเงินบาทที่พึงมีได้ ตราสารที่ได้มาจากการชำระหนี้หรือลูกหนี้เงินกู้ใดๆ
12. กิจการวิเทศธนกิจอาจรับซื้อตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่เกิดจากภาระตาม สัญญาในการจัดจำหน่ายได้ โดยใช้เงินจากบัญชีของธุรกิจอื่นที่กิจการวิเทศธนกิจพึงกระทำได้ ตามที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. หรือเงินกู้ยืมที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ
ในการบริหารสภาพคล่อง กิจการวิเทศธนกิจอาจสลักหลังจำหน่าย จ่าย โอน ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ตามวรรคหนึ่งให้แก่สถาบันการเงินในต่างประเทศได้
13. กิจการวิเทศธนกิจเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้กฎหมายการธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวด้วย เช่น
(1) ต้องขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่จะทำการ ซื้อหรือมีไว้เป็นประจำซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการดำเนินธุรกิจ
(2) ต้องให้ความร่วมมือแก่ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ของทางการ ซึ่งรวมถึง การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และคำแปล
14. ในการรับฝากเงิน กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โอนเงิน หรือรับโอนเงินจากบุคคล อื่นนั้น กิจการวิเทศธนกิจควรระมัดระวังมิให้เข้าข่ายเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลนั้น ในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีหรือตามกฎหมายอื่นๆ
15. การรับฝากหรือกู้ยืมจากสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทยเป็นธุรกรรมที่ กิจการวิเทศธนกิจไม่สามารถทำได้ เพระสถานทูตต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย จึงถือว่าแหล่งที่มาของเงินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกิจการวิเทศธนกิจไม่สามารถรับฝากหรือกู้ยืมได้
สำหรับเจ้าหน้าที่ของสถานทูตต่างประเทศ แม้ว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ ไทย แต่ได้มาปฏิบัติงานที่สถานทูตซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย จึงถือว่าแหล่งที่มาของเงินอยู่ใน ประเทศไทย และกิจการวิเทศธนกิจไม่สามารถรับฝากหรือกู้ยืมจากบุคคลดังกล่าวได้เช่นกัน
16. การโอนผลกำไรจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ เพื่อนำกลับไปประกอบธุรกิจในกิจการวิเทศธนกิจ เพื่อการให้กู้ยืมในประเทศนั้น ไม่ถือเป็นการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
17. กรณี loan syndication ไม่ว่าจัดขึ้นในกิจการวิเทศธนกิจหรือนอกกิจการ วิเทศธนกิจ วงเงินที่กิจการวิเทศธนกิจให้กู้ยืมทุกแห่งรวมกันจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ขึ้นไป แต่กิจการวิเทศธนกิจแต่ละรายที่เข้าร่วมจะไม่ถึง 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ก็ได้
การเบิกถอนเงินกู้ loan syndication ดังกล่าวของลูกค้าครั้งแรกจากกิจการ วิเทศธนกิจทุกแห่งรวมกันต้องเป็นจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ขึ้นไป แต่การเบิกถอน คราวต่อไปในกรณีที่ลูกค้ามียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วจากกิจการวิเทศธนกิจทุกแห่งรวมกัน 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ขึ้นไปแล้ว ลูกค้าสามารถเบิกถอนต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ได้ โดยต้องจัดให้มีสถาบันการเงินในไทยรายหนึ่งหรือสถาบันการเงินในต่างประเทศเป็น lead manager ซึ่งทำหน้าที่คุมยอดคงค้างที่ลูกค้าเบิกถอนไปแล้ว
18. กรณีที่ลูกค้าเป็นบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ และมียอดคงค้างที่ เบิกถอนไปแล้วกับกิจการวิเทศธนกิจ สาขากรุงเทพฯ มากกว่าหรือเท่ากับ 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ลูกค้า (สาขาหรือโรงงานในต่างจังหวัดของลูกค้า) สามารถเบิกถอนจากกิจการวิเทศธนกิจสาขา ต่างจังหวัดของธนาคารเดียวกันได้ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์ สรอ.
19. กิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยทุกธนาคารที่ต้องการโอนผลกำไรหลังหักภาษีมาให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจต้องเป็นการโอนอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ผลกำไรดังกล่าวจะถูกปิดจากกิจการวิเทศธนกิจและมาปรากฏเป็นผลกำไรรวมที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้นแทนเท่านั้น ห้ามมิให้ใช้วิธีการโอนผลกำไรทางบัญชีโดยมิได้โอนเม็ดเงิน แต่บันทึกธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจไว้เป็นเจ้าหนี้ในบัญชีระหว่างกัน เนื่องจากผลกำไรที่โอนไปแล้วถือเป็นเงินของธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการ วิเทศธนกิจ ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนภายในประเทศ กิจการวิเทศธนกิจจึงไม่สามารถนำไปใช้ประกอบธุรกิจต่อได้
20. กิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยทุกธนาคารที่ต้องการคงผลกำไรหลังหักภาษีไว้ที่กิจการวิเทศธนกิจเพื่อนำไปใช้ประกอบธุรกิจต้องคงกำไรหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชีไว้ที่กิจการวิเทศธนกิจ อย่างไรก็ดี การจัดทำงบการเงินรวม ณ วันสิ้นงวดบัญชี กำไรส่วนที่ไม่ได้โอนมานี้จะถูกนำมารวมเป็นผลกำไรของธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจด้วยจึงสามารถนำมาจัดสรรเป็นเงินปันผลได้ อนึ่ง ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจ ใช้ผลกำไรบางส่วนหรือทั้งหมดของกิจการวิเทศธนกิจมาจัดสรรเป็นเงินปันผล กิจการวิเทศธนกิจต้องหักเงินปันผลดังกล่าวออกจากกำไรสะสมของกิจการวิเทศธนกิจเนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวกิจการวิเทศธนกิจไม่สามารถนำไปใช้ประกอบธุรกิจต่อได้ ทั้งนี้ ให้กิจการวิเทศธนกิจแจ้งการ จ่ายเงินปันผลจากผลกำไรดังกล่าวไปให้ ธปท. ทราบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินปันผลแล้วด้วย สำหรับกำไรของกิจการวิเทศธนกิจภายหลังจากจัดสรรเป็นเงินปันผลแล้วถือเป็นกำไร คงเหลือหลังการจัดสรร ซึ่งสามารถนำมาคำนวณเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจได้
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธัญญา ศิริเวทิน)
รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพสถาบันการเงิน)
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 0-2283-6877, 0-2283-5869
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่…..เวลา………ณ…………….
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว14-กส40002-25441102ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ