การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 16, 2000 19:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                        16  มีนาคม 2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร
สำนักงานวิเทศธนกิจทุกสำนักงาน
ที่ ธปท.สนส.(11)ว.658 /2543 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
เพื่อเป็นการส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและลูกหนี้ อันจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน และเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 (5) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขยายระยะเวลาการอนุญาตเป็นการทั่วไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ตามนัยของหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 4588/2541 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 ดังนี้
1. ให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศและสำนักงานวิเทศธนกิจ มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีการได้หุ้นนั้นเป็นการได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศและสำนักงานวิเทศธนกิจ มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดทั้งหมดมูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์นั้น เฉพาะในกรณีหุ้นส่วนที่เกินนั้นเป็นหุ้นที่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
3. ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศและสำนักงานวิเทศธนกิจ ที่มีหุ้นเกินจำนวนดังกล่าวต้องลดสัดส่วนการมีหุ้นดังกล่าวให้มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้และมีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดทั้งหมดมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ในทันทีที่สามารถทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่ธนาคารพาณิชย์เองแต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2547
ทั้งนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานวิเทศธนกิจรายงานการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ในรูปแบบของตาราง 37 ที่แนบมา เป็นรายไตรมาส โดยให้รายงานแยกต่างหากจากรายงานเงินลงทุนในหุ้นตามมาตรา 12(5) หรือตาราง 37 ที่ต้องรายงานอยู่แล้วในปัจจุบัน สำหรับธนาคารพาณิชย์และสาขาธนาคารต่างประเทศ
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ตาราง 37 (เงินลงทุนในหุ้นตามมาตรา 12(5))
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5878, 283-6877
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่………..ณ………..
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
คำอธิบายในการจัดทำรายงานเงินลงทุนในหุ้นตามมาตรา 12(5)
(ตาราง 37)
ให้ธนาคารพาณิชย์รายงานเงินลงทุนในหุ้นในธุรกิจรวมของทุกสำนักงาน ณ วันสิ้นไตรมาส จำนวน 2 ชุด แนบมากับรายงาน ธ.พ. 3 โดยแยกแสดงดังนี้
1. ลำดับที่ หมายถึง ลำดับที่ต่อเนื่องของรายการ
2. ชื่อธุรกิจ หมายถึง ชื่อธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด บรรษัท และรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทจำกัด เป็นต้น โดยให้แยกแสดงเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในประเทศไทยและธุรกิจที่จดทะเบียนในต่างประเทศ สำหรับ ธุรกิจที่จดทะเบียนในประเทศไทยให้แยกแสดงธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ให้รายงานชื่อธุรกิจโดยเรียงลำดับตามพยัญชนะไว้ในบรรทัดแรก และรหัสธุรกิจโดยวิธีเดียวกันกับรายงานใน ธ.พ. 4 ไว้ในบรรทัดถัดลงไป
3. ประเภทธุรกิจ หมายถึง ประเภทของธุรกิจตามความหมายในรายงาน ธ.พ. 4 โดยให้รายงานเป็นรหัสตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4. ประเภทหุ้น หมายถึง หุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิ
5. จำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หมายถึง จำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ทั้งหมดของธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นอยู่
6. จำนวนหุ้นที่ถือ หมายถึง จำนวนหุ้นที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่ในแต่ละธุรกิจ
7. อัตราการถือหุ้นต่อจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ของธุรกิจ หมายถึง จำนวนหุ้นที่ธนาคารพาณิชย์มีหรือซื้อไว้คิดเป็นร้อยละของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธุรกิจนั้น ๆ ยกเว้นนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทเงินทุนแห่งอาเซียน เป็นต้น
8. จำนวนหุ้นที่ซื้อหรือขายในงวดนี้ หมายถึง จำนวนหุ้นที่ธนาคารพาณิชย์ซื้อหรือขายในเดือนที่รายงาน ทั้งนี้ หากมีการซื้อและขายในเดือนเดียวกัน ให้รายงานโดยแยกเป็นจำนวนหุ้นที่ซื้อรวมทั้งสิ้น และจำนวนหุ้นที่ขายรวมทั้งสิ้นในเดือนนั้น
9. มูลค่าเงินลงทุน หมายถึง จำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในธุรกิจตามข้อ 2 โดยให้แสดงจำนวนเงินลงทุนตามราคา ดังนี้
9.1 ราคาทุนที่ได้มา หมายถึง มูลค่าเงินลงทุนที่ธนาคารพาณิชย์ได้จ่ายไป หรือถือว่าได้จ่ายไปในขณะที่ซื้อหรือได้หุ้นมา
9.2 ราคาตลาด หมายถึง มูลค่าเงินลงทุนตามราคาที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยให้รายงานตามราคาปิด ณ วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน ส่วนหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากมีราคาซื้อขายก็ให้ระบุไว้ด้วย
10. หมายเหตุ หมายถึง รายละเอียดที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ไม่สามารถแสดงในช่องที่กำหนดไว้ เป็นต้นว่า หุ้นที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่ ณ วันที่รายงานมีการเรียกชำระค่าหุ้นตามมูลค่าเพียงบางส่วน
11. เป็นร้อยละของเงินกองทุนของธนาคาร หมายถึง อัตราส่วนร้อยละของยอดรวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นตามราคาทุนที่ได้มาต่อจำนวนเงินกองทุนทั้งสิ้น (เงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 รวมกัน) ของธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่รายงาน
สนสว90-กส15105-25430317ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ