ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday January 7, 2000 19:10 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                        7 มกราคม  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.ว. 53 /2543 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์
ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ จึงขอยกเลิกหนังสือที่ ธปท.ง.(ว)5048/2541 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2541 และให้สถาบันการเงินรับทราบและถือปฏิบัติใหม่ ดังนี้
1. อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 (5) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ที่แก้ไขแล้ว และมาตรา 20 (4) และมาตรา 54 (6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้สถาบันการเงินซื้อหรือมีหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์โดยมีเงื่อนไขที่สถาบันการเงินต้องถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.1 สถาบันการเงินที่ถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ต้องจัดทำงบการเงินรวมของสถาบันการเงินนั้นกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชี ทุกไตรมาสและสิ้นงวดการบัญชี และนำสินทรัพย์และภาระผูกพันของบริษัทบริหารสินทรัพย์มารวมเข้ากับสินทรัพย์และภาระผูกพันของสถาบันการเงินในการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินนั้น ตามแนวทางการกำกับดูแลแบบ consolidated supervision การนับจำนวนหุ้นที่มีในบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้นับจำนวนหุ้นที่มีการถือแทนโดยบุคคลที่ระบุในหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.งพ. (ว) 2693/2538 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2538 และ ธปท.งก. (ว) 2815/2538 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทอื่นเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในลักษณะที่ให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทนด้วย
1.2 เปิดเผยจำนวนเงินให้สินเชื่อหรือเงินให้กู้ยืมที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือ เงินต้นเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน (Non-Performing Loans) ในหมายเหตุประกอบงบการเงินในงบการเงินที่แสดงต่อสาธารณชน โดยให้แสดงจำนวนเงินให้สินเชื่อดังกล่าวทั้งในส่วนของสถาบัน
การเงินและในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์ นอกจากนี้ ให้เปิดเผยปริมาณเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินคิดกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และงบกระแสเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของสถาบันการเงินด้วย
1.3 ให้สถาบันการเงินกำหนดให้ผู้สอบบัญชีของตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นด้วย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กำหนดข้างต้นได้ตามควรแก่กรณี
2. ในการขายสินทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ให้สถาบันการเงินกำหนด ราคาที่ใช้ในการโอนขายอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้
2.1 ราคาซึ่งเป็นราคายุติธรรม (fair value) ซึ่งมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีความรู้และเต็มใจในการแลกเปลี่ยน และสามารถต่อรองราคากันได้อย่างเป็นอิสระในลักษณะของผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
(2) เป็นราคาที่ประเมินโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือผู้ประเมินราคาอิสระ โดยผู้ประเมินราคารายนั้นต้องมิใช่ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น รวมทั้งไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใด ๆ กับสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น
2.2 ราคาตามบัญชีซึ่งเป็นราคาหลังจากกันสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
2.3 สำหรับกรณีที่โอนขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ให้ใช้ราคาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนให้ความเห็นชอบ
3. ในกรณีที่สินทรัพย์ที่สถาบันการเงินขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นลูกหนี้ที่คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้กำหนดรายชื่อไว้แล้วว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่สถาบันการเงินจะต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งลูกหนี้ที่คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะกำหนดชื่อขึ้นใหม่ในอนาคต ให้สถาบันการเงินผู้ขายดูแลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องจากสถาบันการเงินจนเสร็จสิ้นกระบวนการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4. บริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดดังกล่าว หรือวันที่บริษัทจำกัดจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เพื่อขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น สถาบันการเงินจะต้องลดการถือครองหุ้นในบริษัทจำกัดดังกล่าวลงให้อยู่ภายในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดภายในเวลา 90 วันนับแต่วันครบกำหนดที่บริษัทจำกัดต้อง ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ในหนังสือฉบับนี้เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฎิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5836, 283-5805, 283-5865
หมายเหตุ [ X
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจง
[
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส14001-25430107ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ