11 มกราคม 2544
เรียน ผู้จัดการ
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(11)ว.43/2544 เรื่อง นำส่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารต่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอนำส่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 117 ตอนพิเศษ 129 วันที่ 19 ธันวาคม 2543
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวมีดังนี้
1. ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารต่างประเทศ ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 โดยให้ใช้ประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่แก้ไขแล้วแทน
2. ยกเลิกการอนุญาตให้นับเงินลงทุนที่สาขาธนาคารต่างประเทศใช้เงินกองทุนของสาขาไปลงทุนในหุ้นของบริษัทจำกัด ซึ่งในที่สุดจะนำไปลงทุนในหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทยตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย และเงินลงทุนในหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนจดทะเบียนในประเทศไทย เป็นสินทรัยพ์ตามมาตรา 6 แห่ง พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธารษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ (แทน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินโทร.283-6877 และ 283-5869
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
บันทึกที่ 31/2544
เรื่อง นำส่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารต่างประเทศ
ตามที่ ธปท. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ ธปท.สนส.(11)2621/2543 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารต่างประเทศ เพื่อเสนอให้มีการยกเลิก ข้อ 3(6) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารต่างประเทศ ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ความละเอียดแจ้งแล้ว (เอกสารแนบ 1) นั้น
บัดนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบให้ตามข้อเสนอของ ธปท. และได้ลงนามในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ฉบับที่แก้ไขแล้ว (เอกสารแนบ 2)
ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้สาขาธนาคารต่างประเทศทราบถึงการแก้ไขประกาศ กระทรวงการคลังดังกล่าว ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินเห็นควรนำส่งประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับที่แก้ไขนี้ให้แก่สาขาธนาคารต่างประเทศ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา พร้อมนี้ขอเรียนเสนอหนังสือถึงสาขาธนาคารต่างประเทศ เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน
11 มกราคม 2544
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. เอกสารแนบ 1-2
2. หนังสือถึงสาขาธนาคารต่างประเทศ
รสา/วมลรตนทมวเทศธนกจโทร.6877 และ 5869
(สำเนา)
ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง การดำรงสินทรัพย์ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ
_________________________________
อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลังออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 และให้ประกาศฉบับนี้แทน
ข้อ 2. สาขาของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตาม มาตรา 6 ต้องดำรงสินทรัพย์ไว้ในประเทศไทยเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 125 ล้านบาท
ข้อ 3. สินทรัพย์ที่สาขาของธนาคารต่างประเทศต้องดำรงตามข้อ 2 มีดังนี้
(1) เงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์รัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(2) หุ้น หุ้นกู้ หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(3) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
(4) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยองค์การของรัฐหรือ รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือรัฐวิสาหกิจอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ
(5) อสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจหรือสำหรับพนักงาน และลูกจ้าง โดยหักค่าเสื่อมราคาตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ
ข้อ 4. ในการดำรงสินทรัพย์ตามข้อ 3 สาขาของธนาคารต่างประเทศต้องปฏิบัติตามวิธีการแลเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) สินทรัพย์ที่ดำรงต้องปราศจากภาระผูกพัน
(2) สินทรัพย์ที่ดำรงต้องเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากสินทรัพย์สภาพคล่องซึ่งต้องดำรงไว้ตาม มาตรา 11 ตร
(3) สำหรับสินทรัพย์ตามข้อ 3(1) -(4) ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์โดยถือตามราคาตลาดหรือราคาทุนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
(4) สำหรับสินทรัพย์ตามข้อ 3(5) ให้ถือเป็นสินทรัพย์ที่ดำรงได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของสินทรัพย์ที่ต้องดำรง
(5) สินทรัพย์ที่ดำรงต้องจัดหาด้วยเงินทุนตาม มาตรา 6 วรรคสาม
(6) ในการใช้เงินทุนเพื่อดำรงสินทรัพย์ตามข้อ 3 สาขาของธนาคารต่างประเทศที่มีบัญชีระหว่างกันกับสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นที่เป็นนิติบุคคลเดียวกัน จะต้องมีดุลเป็นลูกหนี้สุทธิต่อสำนักงานใหญ่ หรือสาขาอื่นดังกล่าว ในเวลาใดเวลาหนึ่งไม่น้อยกว่าสินทรัพย์ที่ต้องดำรงตาม ข้อ 3
สำหรับการคำนวณหาดุลเป็นลูกหนี้สุทธิดังกล่าวข้างต้นให้นำยอดที่สาขาของธนาคารต่างประเทศเป็นลูกหนี้สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นดังกล่าวมาหักด้วย (1) ยอดที่สาขาของธนาคารต่างประเทศนั้นเป็นเจ้าหนี้สำนักงานใหญ่และสาขาอื่นดังกล่าว (ยอดสุทธิบัญชีระหว่างกัน) และ (2) ผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานประจำปีซึ่งได้ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีในประเทศไทยแล้ว
ข้อ 5. สาขาของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตาม มาตรา 6 เฉพาะกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปต้องดำรงสินทรัพย์ไว้ในประเทศไทยเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หรือเทียบเท่า และจะดำรงในรูปสินทรัพย์ใด ๆ ก็ได้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2543
(นายธารินทร์ นิมมาเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
-ยก-