การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday May 17, 2001 06:49 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            17  พฤษภาคม  2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(12) ว.1075/2544 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์
ตามที่ได้มีการยกประเด็นว่า หลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินแก่ลูกหนี้ที่ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ เช่น การจัดชั้นลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุน 2 ปี หรือ 3 ปี ติดต่อกัน หรือการจัดชั้นเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือการจัดชั้นโดยพิจารณาจากผู้ค้ำประกัน ซึ่งทำให้ลูกหนี้ที่เข้าข่ายดังกล่าวไม่สามารถติดต่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอเรียนว่า ประเด็นการจัดชั้นลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุน นั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ได้มีข้อยกเว้นแล้วว่า หากมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่ากิจการของลูกหนี้มีโอกาสทำกำไรพอชดเชยผลขาดทุน สถาบันการเงินก็ไม่ต้องจัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยมีหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 4823/2541 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2541 ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่อาจยังมีความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงขอยกเลิกหนังสือซักซ้อมความเข้าใจฉบับดังกล่าว และขอซักซ้อมความเข้าใจในประเด็นข้างต้นรวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่ยังมีความไม่ชัดเจน และกำหนดกระบวนการในการปฏิบัติ ในกรณีที่สถาบันการเงินไม่แน่ใจว่าเป็นลูกหนี้ที่เข้าข่ายจะต้องถูกจัดชั้นหรือไม่ ดังต่อไปนี้
1. การจัดชั้นลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุน
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับข้างต้นมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดชั้นลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนว่า ลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนเป็นเวลาตั้งแต่สามปีติดต่อกันขึ้นไปหรือลูกหนี้ที่มียอดขาดทุนสะสมจนทำให้สินทรัพย์ต่ำกว่าหนี้สินที่มีอยู่ และลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนเป็นเวลาตั้งแต่สองปีติดต่อกันขึ้นไปหรือลูกหนี้ที่มียอดขาดทุนสะสมจนทำให้สินทรัพย์หลังหักหนี้สินต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของทุนซึ่งชำระแล้ว จะต้องถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย หรือชั้นต่ำกว่ามาตรฐานตามลำดับ โดยมีข้อยกเว้นว่าไม่ต้องจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวได้ หากมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่ากิจการของลูกหนี้มีโอกาสทำกำไรพอชดเชยผลขาดทุน
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอชี้แจงหลักเกณฑ์ข้างต้นว่า ในกรณีของลูกหนี้ที่มีผลขาดทุนดังกล่าวแต่ยังคงเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดชำระ จะไม่ถูกจัดชั้นหากเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินกิจการ หรือการดำเนินโครงการ โดยลูกหนี้รายดังกล่าวจะต้องสามารถดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ได้
(2) เป็นลูกหนี้ที่มีผลขาดทุนตามภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป เช่น การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องมีเหตุให้เชื่อได้ว่าลูกหนี้ดังกล่าวจะสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้เมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับสู่สภาพปกติ
(3) เป็นลูกหนี้ที่สถาบันการเงินได้วิเคราะห์แล้วว่าแผนการดำเนินธุรกิจหรือโครงการของลูกหนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถทำกำไรได้ในอนาคต
(4) เป็นลูกหนี้ SMEs ที่สถาบันการเงินได้พิจารณาแล้วว่าวงเงินสินเชื่อที่ให้มีความจำเป็นต่อการดำเนินกิจการของลูกหนี้ ทั้งนี้ ลูกหนี้ SMEs ดังกล่าวต้องเป็นลูกหนี้ที่ยังมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA เป็นบวก) โดยสถาบันการเงินควรกระตุ้นให้ลูกหนี้ SMEs มีการปรับปรุงระบบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป
ทั้งนี้ ในงบการเงินของลูกหนี้จะต้องไม่ปรากฎว่า ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของกิจการ หรือไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนดังกล่าวเช่นเดียวกัน
2. การจัดชั้นเป็นรายลูกหนี้
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับข้างต้น ข้อ 9 มีข้อกำหนดว่า ลูกหนี้รายใดรายหนึ่งที่มีหนี้หลายประเภท และหนี้แต่ละประเภทจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่างกัน สถาบันการเงินจะต้องจัดชั้นหนี้ทุกประเภทของลูกหนี้รายนั้นเป็นระดับชั้นคุณภาพต่ำสุด โดยมีข้อยกเว้นตามข้อ 9(1) ว่าหากสถาบันการเงินสามารถแบ่งแยกการใช้เงินตามโครงการใดโครงการหนึ่งของลูกหนี้ออกจากหนี้ประเภทอื่นที่มีอยู่ได้อย่างชัดเจน ก็สามารถแยกหนี้ส่วนนั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติได้ นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้
(1) หากเป็นบัญชีเงินทุนหมุนเวียนที่ยังเดินปกติ สถาบันการเงินสามารถจัดชั้นบัญชีที่ยังหมุนเวียนเป็นชั้นปกติได้
(2) หากเป็นบัญชีวงเงินเบิกเกินบัญชีที่ยังใช้ไม่เต็มวงเงิน และบัญชียังมีความเคลื่อนไหว สถาบันการเงินสามารถจัดชั้นบัญชีดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้
นอกจากนั้น สำหรับข้อ 9(2) ที่กำหนดว่า ถ้าลูกหนี้มีหนี้ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติมากกว่าร้อยละ 90 ของราคาตามบัญชีรวมดอกเบี้ยค้างรับ สถาบันการเงินสามารถจัดชั้นหนี้ส่วนนี้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติได้ นั้น อัตราส่วนร้อยละ 90 ดังกล่าว ให้คำนวณจากยอดหนี้ตามบัญชีเท่านั้น หากมีการตัดหนี้สูญไปแล้วจะไม่นำหนี้ส่วนที่ได้ตัดหนี้สูญไปแล้วมารวมคำนวณด้วย ทั้งนี้ ในการพิจารณาข้อ 9(1) และ 9(2) นั้น ให้พิจารณาแยกจากกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นหนี้ส่วนที่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 9(1) ก็สามารถจัดชั้นปกติได้เลย โดยไม่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกับข้อ 9(2) ว่าคิดเป็นร้อยละ 90
3. การจัดชั้นตามคุณภาพของผู้ค้ำประกันตามข้อ 5(7) ของประกาศข้างต้น กำหนดว่า หากผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ตามข้อ 5(1)-(6) จะต้องจัดชั้นลูกหนี้รายดังกล่าวเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย นั้น หากลูกหนี้รายดังกล่าวยังมีคุณภาพดี โดยมีการค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดชำระ ในการจัดชั้นลูกหนี้รายดังกล่าว ก็ไม่ต้องนำผู้ค้ำประกันมาพิจารณา และหากลูกหนี้มีการค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 3 เดือน นับจากวันครบกำหนดชำระ ในการจัดชั้นให้สถาบันการเงินพิจารณาจากคุณภาพลูกหนี้เป็นสำคัญ
4. การจัดชั้นลูกหนี้เป็นกลุ่ม
ประกาศฉบับข้างต้นไม่มีข้อกำหนดให้มีการจัดชั้นลูกหนี้เป็นกลุ่ม แต่ให้มีการพิจารณาการจัดชั้นตามลูกหนี้แต่ละราย
5. สำหรับข้อกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย.เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2532 ข้อ 2(5) ซึ่งมีข้อกำหนดว่าบุคคลซึ่งตามพฤติการณ์ไม่ชำระหนี้ได้ หรืออาจชำระหนี้ได้โดยยากได้แก่ บุคคลที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนเป็นเวลาตั้งแต่ 3 ปีติดต่อกันขึ้นไป หรือขาดทุนเกินกว่าทุนซึ่งชำระแล้ว นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอเรียนชี้แจงว่าประกาศฉบับดังกล่าวออกตามความในมาตรา 22(4) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 เกี่ยวกับการให้สินเชื่อหรือลงทุนเกินอัตราที่กำหนด หรือให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีเจตนาเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อในลักษณะที่คาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ซึ่งมุ่งเน้นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์
6. หากสถาบันการเงินไม่แน่ใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของลูกหนี้ตามข้อ 1-4 ข้างต้น ให้สถาบันการเงินดำเนินการตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนี้
(1) ให้ผู้สอบบัญชีภายนอก และที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินและผู้สอบบัญชีภายนอกรายดังกล่าว เป็นผู้พิจารณารับรองว่าเป็นลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวจริง โดยในช่วง 2 ปีนับจากวันที่ในหนังสือเวียนฉบับนี้ให้สถาบันการเงินจัดส่งคำพิจารณารับรองของผู้สอบบัญชีภายนอกและที่ปรึกษาทางการเงินให้สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบด้วย ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกับลูกหนี้รายที่เป็นผู้พิจารณารับรองด้วย
(2) ให้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับลูกหนี้ดังกล่าวให้สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบว่าเป็นลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวจริง โดยหากสายกำกับสถาบันการเงินไม่มีหนังสือแจ้งขัดข้องภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือพร้อมข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนจากสถาบันการเงิน ก็ถือว่าได้พิจารณาเห็นชอบ ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถเลือกใช้แนวทางตามข้อ 6(2) ได้ภายใน 2 ปีนับจากวันที่ในหนังสือเวียนฉบับนี้เท่านั้น
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร.283-5304, 283-5837
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ……….…….. ณ ………………
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส33801-25440517ด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ