การปรับปรุงแบบรายงานที่กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์ยื่น

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday January 13, 2000 19:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                13  มกราคม  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส. (02) ว. 96 /2543 เรื่อง การปรับปรุงแบบรายงานที่กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์ยื่น
ตามที่ธนาคารได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542 นั้น
เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศฉบับที่กล่าวข้างต้น ธนาคารจึงได้ยกเลิกแบบรายงานสรุปสินทรัพย์จัดชั้นและการกันเงินสำรอง (ธ.พ. 9.3) ที่ออกตามหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 2410/2542 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 และให้ใช้แบบรายงานที่แนบมาพร้อมนี้แทน สำหรับการรายงานข้อมูลตั้งแต่งวดสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2542 เป็นต้นไป
สรุปสาระสำคัญของการปรับปรุงได้ดังนี้
1. ให้สามารถนำมูลค่าของหลักประกันมาหักออกจากสินทรัพย์จัดชั้นปกติและกล่าวถึงเป็นพิเศษก่อนกันเงินสำรอง เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้หักได้เฉพาะสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัยและสงสัยจะสูญ
2. ขยายความคำอธิบายการจัดชั้นและเงินสำรองที่ต้องกันทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น โดยให้จัดชั้นและกันเงินสำรองจากส่วนต่างของราคาจริงกับราคาตามบัญชี เฉพาะหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่นที่มีราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคาจริง
3. ปรับปรุงคำอธิบายเรื่องลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่อยู่ระหว่างติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินใหม่ให้ชัดเจนขึ้นว่า ในกรณีของการกันเงินสำรอง ลูกหนี้ที่จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานและกล่าวถึงเป็นพิเศษให้กันเงินสำรองโดยใช้เกณฑ์ส่วนสูญเสีย หากมีส่วนสูญเสียสูงกว่าเงินสำรองตามเกณฑ์การจัดชั้น ส่วนลูกหนี้จัดชั้นปกติที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเกิดส่วนสูญเสีย ต้องกันเงินสำรองทั้งตามเกณฑ์จัดชั้นและส่วนสูญเสีย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย แบบรายงาน ธ.พ. 9.3 พร้อมคำอธิบายที่ได้ปรับปรุงแล้ว
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์
โทร. 283-5867 และ 283-5894
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจง……………..ณ…………………
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
คำอธิบายประกอบการจัดทำรายงาน
สรุปสินทรัพย์จัดชั้นและการกันเงินสำรอง (ธ.พ. 9.3)
ก. ข้อความทั่วไป
1. รายงานสรุปสินทรัพย์จัดชั้นและการกันเงินสำรอง (ธ.พ. 9.3) เป็นรายงานแสดงยอดคงค้างของสินทรัพย์จัดชั้นแต่ละประเภท จำแนกตามสถานะการจัดชั้น และเงินสำรองที่ต้องกันทั้งสิ้น รวมทั้งเงินสำรองที่ต้องกันตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542 และที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
2. ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำรายงานสรุปสินทรัพย์จัดชั้นและการกันเงินสำรอง (ธ.พ. 9.3) เป็นประจำทุกไตรมาส โดย
2.1 ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไทย จัดทำรายงานชุดรวมทุกสำนักงาน
2.2 สาขาธนาคารต่างประเทศ จัดทำรายงานชุดไม่รวมกิจการวิเทศธนกิจ
ยื่นรายงานจำนวน 2 ชุด ต่อฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในสิ้นเดือน นับจากวันสิ้นสุดไตรมาสที่ต้องรายงาน โดยให้แสดงยอดคงค้างแต่ละรายการเป็นหน่วยพันบาท และให้ใส่เครื่องหมายจุลภาค “,” หลังหลักพันและหลักล้าน
3. ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำรายงานสรุปสินทรัพย์จัดชั้นและการกันเงินสำรองดังกล่าวในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (Computer Readable Form) ลงในแผ่น Diskette ตามรูปแบบ (Record Specification Format) และคำอธิบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยให้จัดส่งพร้อมกับรายงานตามข้อ 2
4. หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับรายงานนี้ โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 283-5867 และ 283-5894
ข. ความหมายของรายการ
1. สินทรัพย์จัดชั้น หมายถึง ยอดรวมสินทรัพย์จัดชั้นทุกประเภท ได้แก่
1.1 ลูกหนี้จัดชั้น ประกอบด้วย
- สินเชื่อจัดชั้น หมายถึง สินเชื่อจัดชั้นเฉพาะต้นเงิน (รวมเงินให้สินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงิน)
- สินทรัพย์อื่นที่เกี่ยวข้อง หมายถึง สินทรัพย์อื่นที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ เช่น ดอกเบี้ยค้างรับ เงินทดรองจ่ายในการดำเนินคดี ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายแทนลูกค้า เป็นต้น สำหรับลูกหนี้จัดชั้นปกติและกล่าวถึงเป็นพิเศษ ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ
- รวมลูกหนี้จัดชั้น หมายถึง ผลรวมของสินเชื่อจัดชั้นและสินทรัพย์อื่นที่เกี่ยวข้อง
- หนี้จัดชั้นที่ไม่ต้องกันสำรอง หมายถึง หนี้จัดชั้นที่ไม่ต้องกันสำรองตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น หนี้จัดชั้นที่กระทรวงการคลังค้ำประกันหรือที่รัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชำระหนี้ให้ เป็นต้น
- หนี้ปรับปรุงโครงสร้างระหว่างติดตามผลที่ใช้เกณฑ์ส่วนสูญเสีย หมายถึง ลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาที่อยู่ระหว่างติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินใหม่ ซึ่งจัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐานและกล่าวถึงเป็นพิเศษที่เลือกใช้เกณฑ์ส่วนสูญเสีย เนื่องจากมีส่วนสูญเสียสูงกว่าเงินสำรองตามเกณฑ์การจัดชั้น
- หลักประกัน ในที่นี้ให้แสดงมูลค่าของหลักประกันซึ่งประเมินราคาตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เฉพาะส่วนที่สามารถหักออกจากลูกหนี้จัดชั้นได้
- ลูกหนี้จัดชั้นส่วนที่ต้องกันสำรองตามเกณฑ์จัดชั้น หมายถึง ยอดรวมลูกหนี้จัดชั้น หักด้วยหนี้จัดชั้นที่ไม่ต้องกันสำรอง หนี้ปรับปรุงโครงสร้างระหว่างติดตามผลที่ใช้เกณฑ์ส่วนสูญเสีย และหลักประกัน
1.2 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ในที่นี้ให้แสดง ส่วนต่างของราคาจริงกับราคาตามบัญชีเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคาจริง ทั้งนี้ ราคาจริงของเงินลงทุนในหลักทรัพย์นั้นให้ถือตามราคาซื้อขายในตลาดหรือหากไม่มีราคาดังกล่าว ให้ใช้ราคายุติธรรมที่ประเมินโดยผู้ประเมินราคาอิสระ หรือที่ประเมินโดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า หากไม่มีราคายุติธรรมดังกล่าว ให้ประเมินตามมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกิจการ หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
1.3 สินทรัพย์อื่น ในที่นี้ให้แสดง ส่วนต่างของราคาจริงกับราคาตามบัญชีเฉพาะสินทรัพย์อื่นที่มีราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคาจริง สินทรัพย์อื่นดังกล่าวได้แก่ ทรัพย์สินรอการขาย ความเสียหายจากการทุจริต เป็นต้น ทั้งนี้ ราคาจริงของสินทรัพย์นั้นให้ถือตามราคาซื้อขายในตลาด หรือหากไม่มีราคาดังกล่าวให้ใช้ราคายุติธรรมที่ประเมินโดยผู้ประเมินราคาอิสระ หรือที่ประเมินโดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
2. เงินสำรองที่ต้องกันทั้งสิ้น หมายถึง จำนวนเงินสำรองที่ต้องกันสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นทุกประเภท ได้แก่
2.1 ลูกหนี้ตามเกณฑ์การจัดชั้น ในที่นี้ให้แสดง เงินสำรองที่ต้องกันสำหรับลูกหนี้ตามเกณฑ์การจัดชั้น โดยคำนวณจากลูกหนี้จัดชั้นส่วนที่ต้องกันสำรองตามเกณฑ์จัดชั้น คูณด้วยอัตราการกันเงินสำรองไม่ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
2.2 ส่วนสูญเสียทั้งสิ้น ในที่นี้ให้แสดง เงินสำรองที่ต้องกันสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการคำนวณราคาตามบัญชีใหม่ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดทั้งจำนวนสำหรับลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อไปนี้
- ในระหว่างติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เฉพาะรายที่มีเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นสูงกว่าเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ตามสถานะการจัดชั้นหลังปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐานและกล่าวถึงเป็นพิเศษ
- สำหรับลูกหนี้จัดชั้นปกติต้องกันเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียด้วย (หากมี)
- ลูกหนี้ที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ โดยชำระเงินตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือนหรือ 3 งวดการชำระเงิน แล้วแต่ระยะเวลาใดจะนานกว่า และเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติแล้ว
- ลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จัดชั้นปกติได้ทันที โดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
2.3 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ในที่นี้ให้แสดง เงินสำรองที่ต้องกันทั้งจำนวน สำหรับส่วนต่างของราคาจริงกับราคาตามบัญชีเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคาจริง หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
2.4 สินทรัพย์อื่น ในที่นี้ให้แสดง เงินสำรองที่ต้องกันทั้งจำนวนสำหรับส่วนต่างของราคาจริงกับราคาตามบัญชีเฉพาะสินทรัพย์อื่นที่มีราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคาจริง หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในกรณีของลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีส่วนสูญเสีย ซึ่งสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ และเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติแล้ว หากต่อมาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้และถูกจัดชั้นเป็นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย หรือสงสัยจะสูญ ให้กันเงินสำรองตามเกณฑ์การจัดชั้น โดยไม่ต้องกันเงินสำรองตามเกณฑ์ส่วนสูญเสียอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เงินสำรองที่เคยกันไว้ตามเกณฑ์ส่วนสูญเสียสำหรับลูกหนี้ดังกล่าว สามารถนำมาใช้เป็นเงินสำรองตามเกณฑ์การจัดชั้นได้
3. เงินสำรองที่มีอยู่ หมายถึง เงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นทุกประเภทที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ ณ สิ้นไตรมาส
4. เงินสำรองที่ต้องกันให้ครบ หมายถึง เงินสำรองขั้นต่ำที่ต้องกันให้ครบตาม
หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดย
- กรณีลูกหนี้ตามเกณฑ์การจัดชั้น เงินสำรองที่ต้องกันให้ครบจะเท่ากับเงินสำรองที่ต้องกันทั้งสิ้นสำหรับลูกหนี้ตามเกณฑ์การจัดชั้น คูณ อัตราการทยอยกันที่กำหนด ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังของปี 2543 หลังจากนั้นต้องกันเงินสำรองเต็มจำนวน
- กรณีส่วนสูญเสียทั้งสิ้น เงินสำรองที่ต้องกันให้ครบจะเท่ากับส่วนสูญเสียทั้งสิ้น คูณ อัตราการทยอยกันที่กำหนด ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังของปี 2543 หลังจากนั้นต้องกันเงินสำรองเต็มจำนวน
- กรณีเงินลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น เงินสำรองที่ต้องกันให้ครบจะเท่ากับจำนวนที่ต้องกันทั้งสิ้น
ในการคำนวณโดยใช้อัตราการทยอยกันนั้น หากวันสิ้นไตรมาสไม่ตรงกับวันสิ้นงวดการบัญชี ให้ใช้อัตราทยอยกัน ณ วันสิ้นงวดการบัญชีก่อนหน้า
5. เกิน / (ขาด) หมายถึง เงินสำรองที่มีอยู่ หัก เงินสำรองที่ต้องกันให้ครบ ณ สิ้นไตรมาส
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์
สายนโยบายสถาบันการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
มกราคม 2543
สนสว90-กส25101-25430113ด (ยังมีต่อ)
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ