สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday April 11, 2000 09:49 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                        10  เมษายน  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร *
ที่ สนส.(12) ว. 38 /2543 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 117 ตอนพิเศษ 26 ง ลงวันที่ 22 มีนาคม 2543
สาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวมีดังนี้
1. ขยายระยะเวลาในการประเมินราคาหรือตีราคาอสังหาริมทรัพย์จากทุก 6 เดือนเป็นทุก 12 เดือน โดยธนาคารพาณิชย์ต้องกันเงินสำรอง 100% สำหรับผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือตีราคาในทันที
2. การเลือกใช้การประเมินราคาหรือการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้หรือซื้อจากการขายอดตลาด ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติดังนี้
2.1 อสังหาริมทรัพย์แต่ละแปลงที่มีราคาตามบัญชีตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปให้ใช้การประเมินราคา
2.2 อสังหาริมทรัพย์แต่ละแปลงที่มีราคาตามบัญชีต่ำกว่า 5 ล้านบาท จะใช้การตีราคาหรือการประเมินราคาก็ได้
2.3 อสังหาริมทรัพย์หลายแปลงที่ไม่สามารถแยกจำหน่ายจากกันได้ หากมีราคาตามบัญชีรวมกันตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปให้ใช้การประเมินราคา
* ไม่รวมกิจการวิเทศธนกิจ
3. สำหรับสินทรัพย์อื่นที่เป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเป็นรายหลักทรัพย์ เฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาทุนที่สูงกว่าราคาตลาดหรือราคายุติธรรม โดยให้กันเงินสำรองเฉพาะส่วนที่เป็นผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคาตลาด หรือราคายุติธรรม
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาลินี วังตาล)
รักษาการผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศ ธปท.เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัย ว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 17 มีนาคม 2543
2. ตัวอย่างการกันเงินสำรองสำหรับเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทเผื่อขาย
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5843
หมายเหตุ [….
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ……….. ณ …………
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์
ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้
อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2528 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ภายใต้บังคับข้อ 16 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542
ข้อ 2 ในประกาศฉบับนี้
(1) สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หมายถึง สินทรัพย์จัดชั้นสูญ
(2) สินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หมายถึง
(ก) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ
(ข) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย
(ค) สินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน
(ง) สินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ
(จ) สินทรัพย์จัดชั้นปกติ
(3) เงินสำรอง หมายถึง เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อการลดราคา ค่าเผื่อการด้อยค่า ค่าเผื่อการปรับมูลค่า สำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นแต่ละประเภทตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่ระบุในประกาศฉบับนี้
ข้อ 3 สินทรัพย์จัดชั้นสูญดังต่อไปนี้ให้ตัดออกจากบัญชี
(1) สิทธิเรียกร้องซึ่งได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แต่ไม่มีทางที่จะได้รับชำระหนี้แล้ว โดยให้พิจารณาตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญไปและไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้
(ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้
(ค) ธนาคารพาณิชย์ได้ฟ้องลูกหนี้หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง และในกรณีนั้น ๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้
(ง) ธนาคารพาณิชย์ได้ฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้น ๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว
(2) สิทธิเรียกร้องซึ่งตามพฤติการณ์ไม่อาจเรียกให้ชำระหนี้ได้
(3) สินทรัพย์อื่นซึ่งชำรุด เสียหาย หรือหมดราคา
(4) ส่วนสูญเสียที่เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (ยังมีต่อ)
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ