1 กุมภาพันธ์ 2543
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สกส.(01) ว.260/2543 เรื่อง การกำหนดให้ยื่นแบบรายงานลับต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 40 เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน และหนังสือเวียนที่ ธปท.สนส.(21)ว.4291/2542 เรื่องการบัญชีเกี่ยวกับเงินลงทุน ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2542 ธนาคารเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงแบบรายงานที่กำหนดให้บริษัทยื่นต่อธนาคาร ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 กำหนดให้ยื่นแบบรายงาน ดังนี้
1. ให้ยกเลิกแบบรายงานพร้อมคำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานตามนัยหนังสือเวียนที่ ธปท.งว.(ว)2960/2540 ลงวันที่ 24 กันยายน 2540 ดังต่อไปนี้
1.1 รายงานฐานะการเงิน (แบบ บ.ง.3)
1.2 รายงานรายได้และค่าใช้จ่าย (ตาราง บ.ง.3/3)
1.3 รายงานรายละเอียดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (ตาราง บ.ง.3/5)
2. ให้บริษัทเงินทุน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทุกบริษัทยื่นรายงานตามแบบ และคำอธิบายประกอบการจัดทำรายงาน ตลอดจนวิธีและระยะเวลาการยื่นรายงานตามแบบที่กำหนดขึ้นใหม่ซึ่งแนบมาพร้อมนี้ ดังนี้
2.1 รายงานฐานะการเงิน (แบบ บ.ง.3)
2.2 รายงานรายได้และค่าใช้จ่าย (ตาราง บ.ง.3/3)
2.3 รายงานรายละเอียดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (ตาราง บ.ง.3/5)
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้สำหรับการรายงานข้อมูลตั้งแต่งวดสิ้นสุดเดือนมกราคม 2543 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล)
รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพสถาบันการเงิน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. แบบรายงานพร้อมคำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานข้างต้น
2. Record Specification Format สำหรับการส่งรายงานข้างต้นในรูป CRF
ฝ่ายกำกับ 1
โทร. 283-5796
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่……………..ณ……………….
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
คำอธิบายประกอบการจัดทำรายงานฐานะการเงิน
(แบบ บ.ง. 3)
ข้อความทั่วไป
1. ให้บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จัดทำรายงานฐานะการเงิน (แบบ บ.ง.3) ณ สิ้นเดือนของทุกเดือนตามแบบที่กำหนด พร้อมงบทดลอง ดังนี้
1.1 รายงานฐานะการเงิน (แบบ บ.ง. 3) ของสำนักงานใหญ่รวมสาขาและสำนักงานอำนวยสินเชื่อ (ถ้ามี) พร้อมงบทดลองรวม
1.2 งบทดลองของรายสำนักงาน กรณีที่บริษัทมีสำนักงานอำนวยสินเชื่อหรือสาขาทั้งนี้ การแสดงยอดคงค้างของสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพัน แต่ละรายการ ในแบบรายงาน ให้แสดงเป็นหน่วยบาท เศษของหนึ่งบาทตั้งแต่ห้าสิบสตางค์ขึ้นไปให้ปัดขึ้นเป็นหนึ่งบาท และให้ใส่เครื่องหมายจุลภาค "," หลังหลักพันและหลักล้าน
ในกรณีที่สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพัน ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้แปลงค่าเป็นเงินบาท โดยใช้อัตราอ้างอิงตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่รายงานกรณีที่ไม่มีประกาศอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศไว้ครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รายงาน ทั้งนี้ ให้ถือตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
ก) กรณีเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างธนาคาร
ข) กรณีเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินอื่น ให้ใช้อัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อถัวเฉลี่ยและอัตราขายถัวเฉลี่ยทางโทรเลข ตามที่ปรากฏในประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
ค) สำหรับสกุลเงินอื่นที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้ประกาศอัตราซื้อถัวเฉลี่ยและอัตราขายถัวเฉลี่ยไว้ ให้ใช้วิธีคำนวณจากอัตราไขว้ (Cross Rate) โดยอิงกับอัตราปิดที่ตลาดนิวยอร์ก
อนึ่ง กรณีที่เงินตราต่างประเทศนั้นบันทึกด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward rate) หรือมีข้อตกลงในจำนวนที่แน่นอนที่ต้องจ่ายเป็นเงินบาท ไม่ต้องแปลงค่าใหม่ทุกเดือนตามเกณฑ์ข้างต้น ยกเว้นกรณีของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศจะต้องแปลงค่าใหม่ทุกสิ้นเดือนในทุกกรณี
2. รายการบัญชีในงบทดลองตามข้อ 1.1 ทุกรายการให้แสดงหมายเลขของรายการในแบบบ.ง. 3 กำกับไว้ท้ายรายการในงบทดลองทุกรายการเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง หากรายการบัญชีในงบทดลองรายการใดจำเป็นต้องแยกแสดงในแบบ บ.ง. 3 เกินกว่า 1 รายการ ก็ให้แสดงหมายเลขกำกับให้ครบถ้วนทุกรายการ
3. ให้ยื่นรายงานดังกล่าวข้างต้นตามข้อ 1 ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ให้ยื่นรายงานตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต่อฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
อนึ่ง กรณีที่บริษัทไม่มีสาขาหรือสำนักงานใด ๆ ให้ยื่นรายงานตามข้อ 1.1 เท่านั้น
3.2 บริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในเขตภูมิภาค ให้ยื่นสำเนารายงานตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ของสำนักงานที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ต่อส่วนกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาที่รับผิดชอบในเขตภูมิภาคนั้น ดังนี้
ก) ภาคเหนือ ให้ยื่นสำเนารายงานต่อสายงานกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 หรือ ตู้ไปรษณีย์ 275 ปณจ. เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000
ข) ภาคใต้ ให้ยื่นสำเนารายงานต่อสายงานกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ถนนเพชรเกษม อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
ค) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ยื่นสำเนารายงานต่อสายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนศรีจันทร์ อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
3.3 ให้ยื่นสำเนารายงานตามข้อ 1.1 ต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
4. การยื่นรายงานตามข้อ 3 ให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ต้องรายงาน
5. ให้บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จัดทำและยื่นรายงานดังกล่าวตามข้อ 1.ในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ (Computer Readable Form : CRF) ตามรูปแบบ (Record Specification Format) ที่ธนาคารกำหนด โดยให้ยื่นพร้อมกันกับรายงานตามข้อ 1.1 ต่อฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
6. หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับรายงานนี้ โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนพัฒนาการกำกับ ฝ่ายกำกับ 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 283-5796, 283-5797
ความหมายของรายการสินทรัพย์
1. เงินสดและเงินฝาก หมายถึง เงินสดและเงินฝากทั้งที่เป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย
1.1 เงินสด หมายถึง ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ที่บริษัทมีอยู่ ให้แยกแสดงเป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ
1.2 เงินฝากในประเทศ หมายถึง เงินฝากทุกประเภทที่ฝากไว้กับธนาคารและสถาบันการเงินที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย รวมถึงสาขาธนาคารพาณิชย์หรือสาขาสถาบันการเงินต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยแยกแสดงดังนี้
1.2.1 เงินฝากธนาคาร หมายถึง เงินฝากธนาคารทุกประเภท รวมทั้งบัตรเงินฝากที่ออกโดยธนาคาร
1.2.2 เงินฝากสถาบันการเงินอื่น หมายถึง เงินฝากกับสถาบันการเงินอื่น รวมทั้งบัตรเงินฝากที่ออกโดยสถาบันการเงินอื่น
1.3 เงินฝากต่างประเทศ หมายถึง เงินฝากทุกประเภทที่ฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยหรือสาขาของสถาบันการเงินอื่นของไทยในต่างประเทศ
1.4 รายได้รอการตัดบัญชี หมายถึง รายได้ส่วนลดบัตรเงินฝากที่ยังไม่ถือเป็นรายได้
2. เงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงิน หมายถึง เงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ให้แก่สถาบันการเงินในประเทศและสถาบันการเงินในต่างประเทศ แต่ไม่รวมถึงเงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินที่ถูกถอนใบอนุญาต ซึ่งให้แสดงไว้ในรายการ 6
สถาบันการเงินในประเทศ หมายถึง สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้ กู้ยืมของสถาบันการเงิน อันได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม สหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และสถาบันอื่น ตามประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้เป็นสถาบันการเงิน
3. หลักทรัพย์ซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืน หมายถึง หลักทรัพย์ที่บริษัทซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืน โดยให้แยกแสดงประเภท ดังนี้
3.1 หลักทรัพย์รัฐบาล หมายถึง หลักทรัพย์ที่บริษัทซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืนตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการซื้อขายพันธบัตรโดยมีสัญญาว่าจะซื้อคืนหรือขายคืน
3.2 หลักทรัพย์อื่น หมายถึง หลักทรัพย์ที่บริษัทซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืนนอกเหนือจากที่ระบุในข้อ 3.1
4. เงินลงทุนในหลักทรัพย์ หมายถึง หลักทรัพย์ทุกประเภท ทั้งที่เป็นตราสารหนี้และตราสารทุนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท จัดประเภทเป็นเงินลงทุนชั่วคราว และเงินลงทุนระยะยาว โดยเงินลงทุนชั่วคราวหมายถึง เงินลงทุนที่บริษัทตั้งใจจะถือไว้ไม่เกิน 1ปี ซึ่งรวมถึง หลักทรัพย์เพื่อค้า หลักทรัพย์เผื่อขายเงินลงทุนทั่วไป และตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปี ส่วนเงินลงทุนระยะยาวหมายถึง เงินลงทุนที่บริษัทตั้งใจจะถือไว้เกิน 1 ปี ซึ่งรวมถึง หลักทรัพย์เผื่อขาย ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนดและ เงินลงทุนทั่วไป ทั้งนี้ ให้แสดงรายละเอียดของหลักทรัพย์ในตาราง บง.3/5 : รายละเอียดเงินลงทุนใน หลักทรัพย์แนบด้วย
4.1 หลักทรัพย์เพื่อค้า หมายถึง เงินลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุนในความต้องการของตลาดที่บริษัทถือไว้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะขายในอนาคตอันใกล้ ทำให้บริษัทถือ หลักทรัพย์นั้นไว้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อหากำไรจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ ทั้งนี้ให้แสดงหลักทรัพย์เพื่อค้าทุกประเภทด้วยราคาทุน
4.2 หลักทรัพย์เผื่อขาย หมายถึง เงินลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุนในความต้องการของตลาดซึ่งไม่ถือเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้า และในขณะเดียวกันไม่ถือเป็นตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด ทั้งนี้ให้แสดงหลักทรัพย์เผื่อขายที่เป็นตราสารหนี้ด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย และตราสารทุนด้วยราคาทุน
4.3 ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด หมายถึง เงินลงทุนในตราสารหนี้ที่บริษัทมีความตั้งใจแน่วแน่และมีความสามารถที่จะถือไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน ทั้งนี้ให้แสดงตราสารหนี้ประเภทนี้ด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย
4.4 เงินลงทุนทั่วไป หมายถึง เงินลงทุนในตราสารทุนอื่นที่บริษัทไม่สามารถจัดประเภทเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้า หรือหลักทรัพย์เผื่อขายได้ ให้แสดงด้วยราคาทุน
4.5 ค่าเผื่อการปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ หมายถึง จำนวนเงินที่ตั้งไว้เผื่อกำไร (ขาดทุน)สุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นของหลักทรัพย์เพื่อค้า และหลักทรัพย์เผื่อขาย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ในการปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ที่กล่าวให้ใช้ราคาตลาด หรือราคายุติธรรมหรือราคาตามวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด กรณีไม่สามารถหาราคาตลาดได้
4.6 ค่าเผื่อการด้อยค่าของหลักทรัพย์ หมายถึง จำนวนเงินที่ตั้งไว้เผื่อการเสื่อมค่าของเงินลงทุน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินสำรองตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
หลักทรัพย์ตามที่กล่าวในข้อ 4.1 ข้อ 4.2 ข้อ 4.3 และข้อ 4.4 ให้หมายถึง หลักทรัพย์ประเภทต่อไปนี้
1. ตราสารหนี้ หมายถึง พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงินที่ออกเพื่อการระดมทุนจากประชาชนและมีลักษณะคล้ายหุ้นกู้ FRN (Floating rate note) FRCD (Floating rate certificate of deposit) หรือตราสารหนี้อื่นที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้หรือคล้ายคลึงหุ้นกู้ และตราสารหนี้ประเภทอื่นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกำหนดเป็นหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ รวมถึงที่ประกาศกำหนดในกฎกระทรวง ตราสารหนี้ดังกล่าวให้หมายถึงตราสารหนี้ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ
2. หุ้นทุน หมายถึง หุ้นทุนในภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ทั้งที่จดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในประเทศและในต่างประเทศหรือหุ้นบุริมสิทธิ หน่วยลงทุน ตราสาร หรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของโครงการลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Warrant) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบสำคัญแสดงการเข้าชื่อซื้อหุ้นสามัญรวมถึงใบตอบรับยืนยันการจองซื้อหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ต่างประเทศ หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ในภาครัฐและเอกชนของไทยที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศด้วย
สกสว32-กส25104-25430201ด
-ยก-