การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday August 7, 2001 13:36 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        7    สิงหาคม  2544                                                               
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร
สำนักงานวิเทศธนกิจทุกสำนักงาน
ที่ ธปท.สนส.(11)ว. 1726 /2544 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว. 658/2543 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543 ขยายระยะ เวลาการอนุญาตเป็นการทั่วไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศและสำนักงานวิเทศธนกิจมีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่ กฎหมายกำหนด เฉพาะในกรณีการได้หุ้นนั้นเป็นการได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และสนับสนุนการลงทุนของสถาบัน การเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยขอปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัด เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1. การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานวิเทศธนกิจ มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทลูกหนี้เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ดังกล่าวนั้นให้ครอบคลุมถึงกรณีหุ้นของบริษัทอื่นที่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้นำมาตีชำระหนี้ หุ้นของผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่นำมาตีชำระหนี้ และการถือหุ้นในบริษัท ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าถือหุ้นหรือฟื้นฟูบริษัทลูกหนี้ด้วย
2. การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานวิเทศธนกิจ มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดทั้งหมดมูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนของ ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ให้ครอบคลุมถึงกรณีหุ้นของบริษัทอื่นที่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้นำมาตีชำระหนี้ หุ้นของผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่นำมาตีชำระหนี้ และการถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าถือ หุ้นหรือฟื้นฟูบริษัทลูกหนี้ด้วย
3. กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานวิเทศธนกิจ มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ในบริษัทจำกัดทั้งหมดมูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุน เนื่องจากการถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ได้มาจากการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หากธนาคารพาณิชย์ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจำกัดทั่วไป ซึ่งไม่ได้ถือหุ้นเนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินกองทุน ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ สามารถลงทุนเพิ่มได้จนกว่าสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจำกัดทั่วไปจะเท่ากับ ร้อยละ 20 ของ เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์นั้น
4. ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานวิเทศธนกิจ ที่มีหุ้นใน บริษัทจำกัดเนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ต้องลดสัดส่วนการมีหุ้นดังกล่าวและการถือหุ้นในบริษัทจำกัดในกรณีอื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นการถือหุ้นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยลงให้เหลือรวมกัน ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น ๆ และไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ในทันทีที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2547 เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากธนาคารแห่งประเทศไทย
5. การลดสัดส่วนการมีหุ้นในบริษัทจำกัดที่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่สถาบันการเงินเอง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
5.1 การจำหน่ายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจำหน่ายในราคาไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value)หรือราคาปิด (Close Price)ของตลาดหลักทรัพย์ ก่อนวันที่สถาบันการเงินจำหน่ายหลักทรัพย์ดังกล่าว 1 วันทำการ
ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินจัดเตรียมเอกสารที่แสดงราคาที่จำหน่ายเพื่อการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยในภายหลัง
5.2 การจำหน่ายหุ้นของบริษัทจำกัดที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งได้จำหน่ายในราคาที่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินได้รับรองความเหมาะสมของราคาที่จำหน่ายหุ้น
ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่มีความเชี่ยวชาญในการรับรองความเหมาะสมของราคาดังกล่าว ผู้สอบบัญชีสามารถหาผู้เชี่ยวชาญมารับรองความเหมาะสมของราคาดังกล่าว โดยให้ถือว่าเป็นราคาที่รับรองโดยผู้สอบบัญชี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้ความสมเหตุสมผลของราคาที่รับรอง ทั้งในกรณีที่ผู้สอบบัญชีรับรองเองและกรณีที่ผู้สอบบัญชีหาผู้เชี่ยวชาญมารับรอง ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินด้วย
ทั้งนี้ให้สถาบันการเงินแจ้งการขายดังกล่าวภายใน 7 วัน นับจากวันที่เกิดรายการ โดยส่งหลักฐานการรับรองราคาของผู้สอบบัญชีมาด้วย
5.3 กรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
อนึ่ง การคำนวณว่าการจำหน่ายหุ้นก่อให้เกิดผลขาดทุนหรือไม่นั้น ให้เปรียบเทียบราคาที่จำหน่ายกับราคาที่บันทึกบัญชี ณ วันที่ได้รับหุ้น
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-6877, 283-5869
หมายเหตุ
[
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่…………เวลา………..ณ………
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ