5 พฤศจิกายน 2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ
ที่ สนส.(12)ว. 606 /2544 เรื่อง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับข้อหารือจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่ผ่านกระบวนการทางศาลแล้ว หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และกรณีลูกหนี้ที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือไปยังกรมสรรพากร และกรมสรรพากรได้แจ้งผลการพิจารณาแต่ละกรณี ดังนี้
1. กรณีที่สถาบันการเงินดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่สถาบันการเงินได้ฟ้องร้องและศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว หรือกับลูกหนี้ที่สถาบันการเงินได้ฟ้องร้องและคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ก็ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542
2. กรณีที่สถาบันการเงินได้ฟ้องร้องลูกหนี้และมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 ดังนั้น หากลูกหนี้โอนขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกันให้แก่บุคคลที่ 3 ในกรณีดังกล่าว ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2543 ทั้งนี้ การโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นที่มิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงิน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ฯ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2543 และในกรณีที่ลูกหนี้ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ชำระภาษีไปแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิขอคืนภาษีอากรดังกล่าวโดยการยื่นคำร้องขอคืน (ค.10) ต่อกรมสรรพากรภายในระยะเวลา ดังนี้
2.1 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
2.3 อากรแสตมป์ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ได้มีการเสียอากรแสตมป์ไปแล้วสำหรับใบรับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นอากรแสตมป์ จึงเป็นการเสียอากรแสตมป์โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย จึงมีสิทธิขอคืนค่าอากรได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันเสียค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร.0-2283-5304, 0-2283-5837
หมายเหตุ ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ……….…….. ณ ………………
ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส15105-25441106ด