12 มิถุนายน 2543เรียน ผู้จัดการ
สำนักงานวิเทศธนกิจทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(11)ว. 1319/2543 เรื่อง ขอบเขตการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
ตามที่ธนาคารได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. กิจการวิเทศธนกิจอาจมีสินทรัพย์เป็นเงินบาทไว้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเงินลงทุน ในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้
2. กิจการวิเทศธนกิจสามารถลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-6877, 283-5878
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่…..เวลา………ณ…………….
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว14-กส40001-25430612ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์
เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ข้อ 2. ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ต้องแยกกิจการ วิเทศธนกิจออกจากกิจการธนาคารพาณิชย์อื่นเสมือนหนึ่งเป็นคนละนิติบุคคล เช่น การแยกทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐาน และบัญชี เป็นต้น
ข้อ 3. ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ต้องแยกกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ และกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศออกจากกัน
ข้อ 4. ห้ามมิให้กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ใด ๆโอนเงินของกิจการให้แก่กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศที่เป็นกิจการของธนาคารพาณิชย์เดียวกันนั้น หรือให้กู้ยืม หรือฝากเงินกับกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศที่เป็นกิจการของธนาคารพาณิชย์อื่น
ข้อ 5. ห้ามมิให้กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ใด ๆ ชำระหนี้ตามภาระผูกพันอันเกิดจากการอาวัล รับรอง หรือค้ำประกันหนี้ใด ๆ แทนกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศที่เป็นกิจการของธนาคารพาณิชย์เดียวกันหรือของธนาคารพาณิชย์อื่น
ข้อ 6. ในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
(1) เงินรับฝากและเงินกู้ยืมต้องมีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ
(2) การชำระคืนเงินรับฝาก เงินกู้ยืม และดอกเบี้ยของกิจการวิเทศธนกิจ ต้องกระทำในต่างประเทศในกรณีของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ การเบิกถอนเงินให้กู้ยืม การชำระคืนเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ย ต้องกระทำในต่างประเทศ และหากการชำระคืนเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยดังกล่าวกระทำโดยบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่ผู้กู้ บุคคลนั้นต้องมีถิ่นที่อยู่นอกประเทศด้วย
ความใน (1) และ (2) ไม่ใช้บังคับกรณีที่เป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือกิจการวิเทศธนกิจอื่น
(3) การเบิกถอนเงินให้กู้ยืมจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศของผู้กู้แต่ละรายต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนโดยสถาบันการเงิน หรือเป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีที่มียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า หรือ เป็นกรณีการให้กู้ยืมอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการให้กู้ยืมดังกล่าวจะต้องเป็นผลมาจากสัญญากู้ยืมเดิม
การเบิกถอนเงินให้กู้ยืมจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศของผู้กู้แต่ละรายที่เป็นผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายหรือให้บริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีที่มียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(4) การทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างกิจการวิเทศธนกิจกับลูกค้า กิจการวิเทศธนกิจต้องดำเนินการให้ลูกค้าให้ชื่อ ที่อยู่ และข้อมูลที่แท้จริง และในการจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้า กิจการวิเทศธนกิจต้องจัดทำเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวให้ตรงต่อความเป็นจริง
(5) ห้ามรับฝากเงินที่ใช้เช็คในการเบิกถอนเงิน
(6) การรับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันการชำระหนี้ให้แก่กิจการวิเทศธนกิจอื่นต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการรับรอง รับอาวัล หรือค้ำประกันให้แก่กิจการส่วนใดของกิจการวิเทศธนกิจอื่นนั้น
(7) รายรับจากการประกอบธุรกิจของกิจการวิเทศธนกิจต้องเป็นเงินตราต่างประเทศ เว้นแต่เป็นรายรับจากกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมเงินบาทในต่างประเทศ หรือรายรับจากธุรกิจตามข้อ 15.
ข้อ 7. ให้กิจการวิเทศธนกิจสามารถรับโอนสินทรัพย์ หนี้สิน หรือกิจการต่าง ๆ ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกิจการวิเทศธนกิจ จากกิจการส่วนอื่นของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการวิเทศธนกิจ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างอื่น และให้กิจการวิเทศธนกิจแจ้งการรับโอนตามวรรคหนึ่งให้บรรดาลูกหนี้ของธุรกิจที่รับโอนดังกล่าวทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันรับโอน
ข้อ 8. กิจการวิเทศธนกิจอาจมีสินทรัพย์ซึ่งเป็นเงินบาทไว้ในประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้
(1) สินทรัพย์เพื่อการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามมาตรา 11 ตรี
(2) สินทรัพย์ที่สำรองไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในมูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท ในรูปของสินทรัพย์ดังต่อไปนี้
1) สถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งเครื่องใช้สำนักงานต่าง ๆ โดยหักค่าเสื่อมราคาตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ
2) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือหลักทรัพย์ที่รัฐบาลไทยค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยให้คำนวณตามราคาตลาดหรือราคาทุนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
3) หุ้นกู้ที่ไม่อาจแปลงสภาพแห่งสิทธิเป็นหุ้นได้ บัตรเงินฝาก หรือตราสารแห่งหนี้ ซึ่งออกโดยนิติบุคคลหรือสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและเสนอขายในประเทศไทย ให้คำนวณตามราคาตลาดหรือราคาทุนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
4) เงินสดหรือบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศไทย
5) เงินทดรองจ่ายแก่พนักงาน ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานและเงินค่ามัดจำ
(3) สินทรัพย์ที่ออกโดยสถาบันการเงินตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตราสารที่ออกโดยบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ทางการมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว
(4) พันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ
(5) เงินลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 9. กิจการวิเทศธนกิจอาจเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนเงินบาท ซึ่งเป็นผลกำไรหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชี เพื่อส่งผลกำไรนั้นกลับไปยังกิจการส่วนอื่นของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจ ทั้งนี้ กิจการส่วนอื่นนั้นต้องอยู่ในต่างประเทศด้วย
(2) เปลี่ยนเงินบาทที่เกิดจากการจำหน่ายสินทรัพย์ตามข้อ 8. หรือที่เกิดจากการจำหน่ายสินทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ เพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมตามข้อ 11.
(3) เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจตามข้อ 8. หรือเพื่อการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามมาตรา 11 ตรี และเปลี่ยนเงินบาทจากการลดยอดของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามมาตรา 11 ตรี เพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมตามข้อ 11. รวมทั้งการทำสัญญาประกันความเสี่ยงสำหรับจำนวนเงินที่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว
(4) เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตราสารที่ออกโดยบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ทางการมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และเปลี่ยนเงินบาทเพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมตามข้อ 11.
การเปลี่ยนเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้กับธนาคารรับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในส่วนที่ไม่ใช่กิจการวิเทศธนกิจ
ข้อ 10. สินทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ หรือกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศให้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ของกิจการวิเทศธนกิจนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่สินทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้เป็นเงินบาท สินทรัพย์นั้นไม่ให้นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ที่เป็นเงินบาทที่กิจการวิเทศธนกิจพึงมีได้ตามข้อ 8.
สินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งที่เป็นเงินบาท ต้องเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อนำกลับไปประกอบธุรกรรมทุกประเภทตามที่กิจการวิเทศธนกิจส่วนนั้นจะพึงกระทำได้ตามข้อ 11.
ข้อ 11. ผลกำไรหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชี หรือเงินตราต่างประเทศ ซึ่งได้มาจากการเปลี่ยนเงินบาทตามข้อ 9. ให้ถือว่ามีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งกิจการวิเทศธนกิจสามารถนำกลับไปประกอบธุรกรรมทุกประเภทตามที่กิจการวิเทศธนกิจจะพึงกระทำได้ตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ และตามประกาศฉบับนี้แต่ไม่รวมถึงการให้กู้ยืมเงินบาทของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ
ข้อ 12. การโอนผลกำไรหรือผลขาดทุนหลังหักภาษี ณ สิ้นงวดบัญชีไปให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น กิจการวิเทศธนกิจต้องแจ้งการโอนดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โอน
ข้อ 13. กิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ อาจเปิดบัญชีเงินฝากแบบไม่มีดอกเบี้ยไว้กับกิจการส่วนอื่นของธนาคารพาณิชย์เจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้นซึ่งอยู่ในประเทศไทยเพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจได้ แทนการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ (Nostro Account)โดยตรง ทั้งนี้ ณ สิ้นวัน บัญชีเงินฝากดังกล่าวจะต้องไม่มียอดคงค้างใด ๆ
ข้อ 14. ให้กิจการวิเทศธนกิจสามารถลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้
ข้อ 15. นอกจากการประกอบธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์แล้ว กิจการวิเทศธนกิจอาจประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากกิจการวิเทศธนกิจ ดังต่อไปนี้ได้ด้วย
(1) การให้บริการข่าวสาร ข้อมูลทางการเงินและเศรษฐกิจทั่วไป
(2) การให้บริการจัดทำหรือวิเคราะห์โครงการเพื่อการลงทุน
(3) การเป็นที่ปรึกษาในการซื้อกิจการ รวมกิจการ หรือควบกิจการ
(4) การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
(5) การจัดการออก (Arranging) หรือการจัดจำหน่าย (Underwriting) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ในกรณีที่ผู้ออกตราสารอยู่ในประเทศ กิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องประกอบ ธุรกิจนี้ร่วมกับกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(6) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินตราต่างประเทศภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1) กิจการวิเทศธนกิจสามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินในประเทศ สถาบันการเงินที่จดทะเบียนในต่างประเทศ หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โดยการเบิกถอนเงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินให้กู้ยืมในประเทศที่รับซื้อหรือรับโอนของผู้กู้แต่ละราย ต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนโดยสถาบันการเงิน หรือเป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีมียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
การเบิกถอนเงินให้กู้ยืมที่เป็นเงินให้กู้ยืมในประเทศที่รับซื้อหรือรับโอนของผู้กู้แต่ละรายที่เป็นผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายหรือให้บริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่เป็นการเบิกถอนงวดสุดท้าย หรือเป็นกรณีที่มียอดคงค้างที่เบิกถอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
2) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ต้องเป็นการรับซื้อโดยเด็ดขาดตามสภาพของหนี้ที่เป็นอยู่ทั้งการจัดชั้นและระยะเวลาที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น
3) ในการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม กิจการวิเทศธนกิจต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมโดยเคร่งครัด
(7) การค้ำประกันการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ไทยหรือจากต่างประเทศที่เป็นเงินตราต่างประเทศแก่ลูกค้าในประเทศ ต้องมีวงเงินขั้นต่ำในการค้ำประกันไม่น้อยกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ลูกค้าในประเทศที่เป็นผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายหรือให้บริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีวงเงินขั้นต่ำในการค้ำประกันไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(8) การรับซื้อลดตราสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่เป็นเงินตราต่างประเทศเฉพาะกรณีที่ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ส่งออกที่มีภูมิลำเนาหรือจดทะเบียนในประเทศไทย ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1) รับซื้อลดตั๋วแลกเงินที่เกี่ยวกับการส่งออกทั้งกรณีมี เลตเตอร์ออฟเครดิต(Export Bill under L/C) และไม่มีเลตเตอร์ออฟเครดิต (Export Bill under D/A or D/P)
2) รับซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการส่งสินค้าออก และได้ออกตามเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
2.1) เลตเตอร์ออฟเครดิตที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
2.2) สัญญาซื้อขายหรือคำสั่งซื้อสินค้า
2.3) ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้า หรือใบรับจำนำสินค้าของธนาคารพาณิชย์อันเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ส่งออกมีสินค้าพร้อมจะส่งออกเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าหรือสถานที่เก็บสินค้าที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความเชื่อถือ
2.4) ตั๋วแลกเงินอันเกิดจากการที่ผู้ส่งออกได้ส่งสินค้าออกแล้ว
(9) การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตที่เป็นเงินตราต่างประเทศเฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าตามข้อตกลงแห่งเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นมีภูมิลำเนาหรือจดทะเบียนในประเทศไทย และต้องมีวงเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพื่อผลิตสำหรับการส่งออก โดยมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีวงเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(10) การให้กู้ยืมโดยทำสัญญาทรัสต์รีซีท (Trust Receipt) ที่เป็นเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ซื้อสินค้าที่มีภูมิลำเนาหรือจดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งที่มีหรือไม่มีเลตเตอร์ออฟเครดิตประกอบ และต้องมีวงเงินการให้กู้ยืมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพื่อผลิตสำหรับการส่งออก โดยมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน หรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งจากการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้ส่งออกซึ่งมีรายได้จากการส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ต้องมีวงเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
(11) การให้เช่าซื้อหรือการให้เช่าแบบลีสซิ่ง ภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1) ในข้อกำหนดนี้
“ผู้เช่า” หมายความว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้เช่าแบบลีสซิ่ง
“เงินรายงวด” หมายความว่า เงินที่ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระแก่กิจการวิเทศธนกิจในแต่ละงวด ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นดอกผลเช่าซื้อและราคาเงินสดประจำงวดตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ
“ค่าเช่า” หมายความว่า ค่าเช่าตามสัญญาแบบลีสซิ่ง
“การปรับโครงสร้างหนี้” หมายความว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
“เช่าซื้อ” หมายความว่า เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“การให้เช่าแบบลีสซิ่ง” หมายความว่า การให้เช่าทรัพย์สินเพื่อให้ ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ในกิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการบริการอย่างอื่นเป็นทางค้าปกติ โดยผู้เช่ามีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า ทั้งนี้ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะซื้อหรือเช่าทรัพย์สินนั้นต่อไปในราคาหรือค่าเช่าที่ได้ตกลงกัน
2) ให้กิจการวิเทศธนกิจให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่ง ซึ่งทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาเพื่อชำระหนี้จากลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้
3) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง เมื่อผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระเงินรายงวดหรือค่าเช่าสองงวดติด ๆ กัน หรือเมื่อผู้เช่ากระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ กิจการวิเทศธนกิจต้องแจ้งการบอกเลิกสัญญาพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือดังกล่าว ในหนังสือบอกเลิกสัญญานั้นให้ระบุด้วยว่าหากผู้เช่าชำระค่าเช่างวดที่ค้างชำระ หรือแก้ไขการผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญดังกล่าวแล้วแต่กรณี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา การบอกเลิกสัญญานั้นเป็นอันระงับไป
ในกรณีที่ผิดนัดไม่ชำระเงินรายงวดหรือค่าเช่าสองงวดติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ หากผู้เช่าชำระค่าเช่างวดที่ค้างชำระเงินรายงวดที่ค้างชำระหรือแก้ไขการผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ให้การบอกเลิกสัญญานั้นเป็นอันระงับไป
4) เมื่อสิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2544 กิจการวิเทศธนกิจจะประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อ หรือการให้เช่าแบบลีสซิ่งเพิ่มขึ้นอีกไม่ได้
กิจการวิเทศธนกิจต้องแยกบัญชีในการประกอบธุรกิจตามข้อ 15 นี้ต่างหากจากบัญชีอื่น ๆ ของกิจการวิเทศธนกิจอย่างชัดเจน
ข้อ 16. สถานที่ทำการของกิจการวิเทศธนกิจต้องมีเพียงแห่งเดียว และต้องอยู่ในสถานที่ เดียวกับที่ทำการของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกิจการวิเทศธนกิจนั้น
ข้อ 17. กิจการวิเทศธนกิจต้องนำส่งค่าธรรมเนียมรายปี ปีละ 500,000 บาท
การชำระค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง ให้ชำระที่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน ทำการแรกของทุกปี เว้นแต่ปีแรกให้ชำระเมื่อรับใบอนุญาต
ข้อ 18. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543
(ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป14-กส40001-25430612ด
-ยก-