ขอแก้ไขคำผิดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขออนุมัตนนับมูลค่าส่วนที่เพิ่มเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday November 27, 2000 08:44 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            27 พฤศจิกายน 2543
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(12) ว.3262/2543 เรื่อง ขอแก้ไขคำผิดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขออนุมัตินับมูลค่าส่วนที่เพิ่มเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขออนุมัตินับมูลค่าส่วนที่เพิ่มเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2543 ซึ่งได้นำส่งให้บริษัทเงินทุนรับทราบและถือปฏิบัติแล้ว นั้น
เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบความผิดพลาดในถ้อยคำในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงขอแก้ไข ดังนี้
1) หน้าที่ 2/7 ข้อ 6.2 บรรทัดที่ 6 คำว่า "ธนาคารพาณิชย์" ขอแก้ไขเป็น "บริษัทเงินทุน"
2) หน้าที่ 4/7 ข้อ 7.2 บรรทัดที่ 6 คำว่า "ธนาคารพาณิชย์" ขอแก้ไขเป็น "บริษัทเงินทุน"
พร้อมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แนบหน้าที่ 2/7 และ 4/7 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ซึ่งได้แก้ไขคำผิดแล้วมาเพื่อโปรดใช้แทนฉบับเดิม ธนาคารแห่งประเทศไทยขออภัยมา ณ ที่นี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นางธารษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
แทน
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารหน้าที่ 2/7 และ 4/7 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขออนุมัตินับมูลค่าส่วนที่ เพิ่มเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2543 ซึ่งได้แก้ไขคำผิดแล้ว
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินโทร. 283-5303
-ยก-
หมายเหตุ { } ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่...........ณ.................
{X} ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว31-กส22106-25431127ด
ข้อ 3 บริษัทเงินทุนอาจนับเงินสำรองจากการตีราคาที่ดิน อาคาร หรือห้องชุด ในอาคารชุดเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศนี้
ข้อ 4 บริษัทเงินทุนซึ่งประสงค์จะนับเงินสำรองตามข้อ 3 เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต้องยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และให้นับรวมเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว
ข้อ 5 การตีราคาและการบันทึกบัญชีที่ดิน และอาคาร ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องของสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย
ข้อ 6 การนับมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาที่ดินเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
6.1 ที่ดินที่สามารถนับมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ ต้องมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นที่ดินตามนัยมาตรา 20(2) (ก) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528
(2) เป็นที่ดินที่บริษัทเงินทุนนั้นมีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิ์ครอบครองตามหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่เพียงผู้เดียว และปราศจากภาระผูกพันเหนือที่ดินดังกล่าว
(3) เป็นที่ดินซึ่งมีการตีราคาไว้ไม่เกินกว่า 6 เดือน นับจากวันที่ในรายงานที่ให้มูลค่าทรัพย์สินที่ออกโดยบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เว้นแต่การยื่นคำขอสำหรับงวดปี 2543 หากบริษัทเงินทุนได้ตีราคาโดยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ บริษัทเงินทุนอาจใช้ราคาที่ตีไว้เกินกว่า 6 เดือนได้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลในรายละเอียดประกอบคำขอ
6.2 การตีราคาที่ดินเพื่อขออนุมัตินับมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 บริษัทเงินทุนต้องใช้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นต้องไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องกับบริษัทเงินทุนดังกล่าว
6.3 ในการยื่นคำขอต้องเป็นการยื่นคำขอสำหรับที่ดินทุกแปลงที่เข้าข่ายตามข้อ 6.1 ในคราวเดียวกัน โดยให้ปฏิบัติโดยยึดหลักความสม่ำเสมอ แต่จะยื่นคำขอมากกว่า 1 ครั้ง ในระยะ 3 ปีไม่ได้
6.9 เมื่อบริษัทเงินทุน จำหน่ายที่ดินที่เคยตีราคาเพิ่มและนับเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้บริษัทเงินทุนรายการการจำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใน 7 วัน นับแต่วันจดทะเบียน โอนที่ดินและให้หักมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาของที่ดินแปลงนั้นออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 2 ในอัตราส่วนเดียวกับจำนวนที่จำหน่ายออกไป
ข้อ 7 การนับมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
7.1 อาคารหรือห้องชุในอาคารชุดที่สามารถนับมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ ต้องมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นอาคารที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่บริษัทเงินทุนมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิ์ครอบครองตามหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน และที่ดินดังกล่าวต้องปราศจากภาระผูกพัน
(2) เป็นอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด ตามนัยมาตรา 20(2)(ก) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528
(3) เป็นอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่บริษัทเงินทุนมีกรรมสิทธิแต่เพียงผู้เดียวและปราศจากภาระผูกพันใดๆ
(4) เป็นอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่เอาประกันอัคคีภัยไว้เต็มมูลค่าและระบุให้บริษัทเงินทุนนั้นเป็นผู้รับประโยชน์เพียงผู้เดียว
(5) เป็นอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดซึ่งมีการตีราคาไว้ไม่เกินกว่า 6 เดือน นับจากวันที่ในรายงานที่ให้มูลค่าทรัพย์สินที่ออกโดยบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เว้นแต่การยื่นคำขอสำหรับงวดปี 2543 หากบริษัทเงินทุนได้ตีราคาโดยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ บริษัทเงินทุนอาจใช้ราคาที่ตีไว้เกินกว่า 6 เดือน ได้โดยให้ชี้แจงเหตุผลในรายละเอียดประกอบคำขอ
7.2 การตีราคาอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อขออนุมัตินับมูลค่าส่วนที่เพิ่มเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 บริษัทเงินทุนต้องใช้ บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นต้องไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องกับบริษัทเงินทุนดังกล่าว
สนสป31-กส22106-25431127ด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ