26 ธันวาคม 2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ สนส.(03)ว. 15 /2544 เรื่อง การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือที่ สนส.(02)ว.948/2543 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2543 นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ให้ธนาคารพาณิชย์ทราบและถือปฏิบัติ นั้น
วัตถุประสงค์ของประกาศดังกล่าวคือเพื่อป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้สถาบันการเงินปฏิบัติในการรับฝากเงินให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังนั้นจึงออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 118 ตอนพิเศษ 129 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2544
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวปรางทิพย์ บุศยศิริ)
ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ฝ่ายเงินกองทุนและบริการข้อมูล
โทร. 0-2283-6836
หมายเหตุ *ไม่รวมกิจการวิเทศธนกิจ
[
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ....…......... ณ..................
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
_____________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543
ข้อ 2 ในประกาศนี้
"บัญชีเงินฝาก" หมายความว่า การรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน หรืออาจได้รับอนุญาตในอนาคต
"ผู้ฝากเงิน" หมายความรวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์แทน หรือในนามของผู้อื่น
ข้อ 3 ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้ผู้ฝากเงินแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองอย่างละเอียด ในแบบรายการคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดขึ้น พร้อมลง ลายมือชื่อ
แบบรายการคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งจะต้องมีรายการละเอียดของผู้ฝากเงินอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน อาชีพ สถานที่ทำงาน สถานที่ที่สะดวกในการติดต่อ
(2) ในกรณีเป็นนิติบุคคลให้แสดงรายละเอียดข้อมูล เกี่ยวกับประเภทธุรกิจ หรือวัตถุประสงค์ของผู้ฝากเงินที่เป็นธุรกิจในทางการค้าปกติ
ข้อ 4 ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีเอกสารแสดงตน หรือสำเนาเอกสารดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอเปิดบัญชีเงินฝากอย่างน้อยดังต่อไปนี้ และต้องให้ผู้ฝากเงินลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวไว้ด้วย
(1) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา เอกสารที่ต้องมีอย่างน้อยต้องเป็นเอกสารที่ระบุเลขประจำตัวประชาชนของบุคคลนั้นไว้ด้วย
(2) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารที่แสดงว่าคณะกรรมการบริษัท หรือหุ้นส่วนเห็นชอบให้เปิดบัญชี รวมทั้งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายโดยผู้มีอำนาจลงนามรับรองพร้อมทั้งประทับตรา (ถ้ามี) พร้อมเอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม เอกสารที่กล่าวให้เป็นไปเช่นเดียวกับที่กำหนดตามข้อ 4(1)
(3) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นส่วนราชการ องค์กรของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐ เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือแสดงความจำนงขอเปิดบัญชี อำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่าย พร้อมเอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม เอกสารที่กล่าวให้เป็นไปเช่นเดียวกับที่กำหนดตามข้อ 4(1)
(4) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นสหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม สโมสร วัด มัสยิด ศาลเจ้า และนิติบุคคลอื่น เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือจดทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงอื่น หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หนังสือแต่งตั้งหรือมอบอำนาจ รายงานการประชุมกรรมการหรือหนังสือแสดงความประสงค์ขอเปิดบัญชี รวมทั้งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายโดยผู้มีอำนาจลงนามรับรองพร้อมประทับตราพร้อมเอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม เอกสารที่กล่าวให้เป็นไปเช่นเดียวกับที่กำหนดตามข้อ 4(1)
(5) สำหรับผู้ฝากเงินที่ไม่ใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย หรือไม่ใช่นิติบุคคลในประเทศไทย เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ เอกสารหลักฐานแสดงตนที่ออกหรือรับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ
เอกสารที่กล่าวข้างต้นให้หมายความรวมถึง ใบแทน หรือบัตรชั่วคราวที่ใช้ระหว่างรอการออกเอกสารดังกล่าวด้วย
ข้อ 5 ธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน หรือสำเนาเอกสารหลักฐานในข้อ 4 ตามปกติวิสัยที่พึงปฏิบัติ โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ และต้องจัดเก็บรักษาเอกสาร หรือสำเนาเอกสารหลักฐานที่ผู้ฝากเงินได้ลงลายมือชื่อรับรองความ ถูกต้องแล้วในห้องมั่นคง หรือสถานที่ที่ปลอดภัย ณ ธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่วันเปิดบัญชีเงินฝากและเก็บรักษาต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ลูกค้าปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ หรือใช้ประกอบในการสอบสวนหรือดำเนินคดี
ข้อ 6 ธนาคารพาณิชย์จะให้ผู้ฝากเงินเปิดบัญชีเงินฝากโดยปกปิดชื่อจริงของผู้ฝากเงิน ใช้ชื่อแฝง หรือใช้ชื่อปลอมมิได้
ข้อ 7 สำหรับผู้ฝากเงินที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543 มีผลใช้บังคับ และธนาคารพาณิชย์ได้แจ้งผู้ฝากเงินให้ดำเนินการแล้ว แต่ผู้ฝากเงินมิได้ปฏิบัติตาม ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแล้ว
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2544
( ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-