การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีลูกหนี้หนีของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday January 24, 2001 10:28 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            24 มกราคม 2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษํทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ
บริษัทบริหารสินทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(21)ว.157/2544 เรื่อง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีลูกหนี้หนีของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น
ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่373) พ.ศ.2543 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อนำเงินได้มาชำระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด โดยอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวจะต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนีนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงิน นั้น
กรมสรรพากรได้จัดทำแบบหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน คำอธิบายการจดทะเบียนและการกรอกรายการ และคำอธิบายการคำนวณเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีอากรเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับแสดงต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงขอส่งเอกสารดังกล่าวมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธารษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ (แทน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 373) พ.ศ.2543
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์
โทร.283-6827,283-6828
หมายเหตุ ( ) ธปท. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่....ณ....
(x) ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส15101-25440124ด
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 373)
พ.ศ. 2543
____________________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2543
เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราช กฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542
"มาตรา 8 ทวิ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษี ธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ ผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอน อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครง สร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุง โครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะ ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ อยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกัน หนี้กับ สถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
การโอนอสังหาริมทรัพย์และการกระทำตราสารตามวรรคหนึ่งต้องเป็นการ กระทำในระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และ ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนอง เป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ก่อนวันที่ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
______________________________________________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทย ประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอันส่งผล กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน ทำให้สถาบันการเงินต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระ หนี้ของลูกหนี้ ซึ่งได้มีการตราพระราช กฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร เพื่อกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้และเจ้า หนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้อื่น เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่โดยที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มิได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้ของ สถาบันการเงินที่โอนอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจำนอง เป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินได้ที่ได้รับจากการ โอนอสังหาริมทรัพย์มาชำระหนี้สถาบันการเงิน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลบรรลุผล สมควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้ในกรณีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 97 ก วันที่ 31 ตุลาคม 2543)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ