การขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday September 24, 2001 14:11 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                         24 กันยายน  2544  
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท. สนส.(11)ว.2093/2544 เรื่อง การขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว. 2600/2543 ลง วันที่ 6 ตุลาคม 2543 เรื่องการขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทเงินทุน และหนังสือที่ ธปท. สนส.(12)ว. 3459/2543 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2543 เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และ การขายชอร์ต นั้นบัดนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 (6) แห่ง พระราช-บัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สิน ( Custodian Service) ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ให้รวมถึง การดูแลและเก็บรักษาเอกสารแสดงสิทธิในทรัพย์สิน และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่าย จ่ายโอน หรือประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงขอยกเลิกหนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว. 2600/2543 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2543 เรื่อง การขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทเงินทุน และหนังสือที่ ธปท.สนส.(12)ว.3459/2543 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2543 เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจประเภทกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต และอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกตามมาตรา 20 (6) และอำนาจตามมาตรา 22 ตรีแห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขอแจ้งให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทราบและถือปฏิบัติเกี่ยวกับธุรกิจที่อนุญาตเป็นการทั่วไป และธุรกิจที่อนุญาตโดยกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ธุรกิจที่อนุญาตเป็นการทั่วไป
(1) การเป็นนายหน้าตัวแทนจัดจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลและตราสารแห่งหนี้ที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก
(2) การให้บริการข่าวสารข้อมูล ซึ่งได้แก่การศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ฯลฯ เพื่อนำเสนอและจำหน่ายแก่ประชาชน
(3) การเป็นที่ปรึกษาเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Sponsor) ซึ่งได้แก่ การดำเนินการ ดังนี้
(ก) จัดเตรียมและยื่นแบบคำขอและเอกสารต่างๆ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด
(ข) ติดต่อประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ค) กระทำการใดๆ จนเป็นที่พอใจว่าผู้บริหารของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เข้าใจถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฏระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวิธีการปฏิบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน
(ง) ให้ความเห็นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทที่ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีทีมงานบริหาร ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน
(4) ธุรกิจการดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ บัตรเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ เอกสารแสดงสิทธิในทรัพย์สินและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่าย จ่ายโอน หรือประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (Custodian Service) ซึ่งรวมถึง
(ก) การรับหรือส่งมอบหลักทรัพย์ การรับหรือจ่ายเงินค่าหลักทรัพย์ การรับเงินปันผล และการส่งมอบผลประโยชน์อันเกิดจากหลักทรัพย์นั้นๆ และ
(ข) การเป็นตัวแทนผู้รับมอบฉันทะจากลูกค้าในการเข้าประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นและลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ การมอบฉันทะดังกล่าวจะต้องระบุชัดเจนว่าให้ลงคะแนนเสียงเรื่องใดและอย่างไร
(ค) การดูแลและเก็บรักษาเอกสารแสดงสิทธิในทรัพย์สิน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่าย จ่ายโอน หรือประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เช่น สัญญาซื้อขาย เอกสารประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น
(5) ธุรกิจการเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหลักทรัพย์ หมายถึง การเป็นตัวแทนของบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยประกอบธุรกิจภายใต้ขอบเขตดังนี้
(ก) แจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือเอกสารการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่จำหน่าย
(ข) แจกจ่ายหรือรับใบขอซื้อหรือใบจองซื้อหลักทรัพย์
(ค) รับชำระเงินค่าซื้อหลักทรัพย์หรือค่าจองซื้อหลักทรัพย์
(ง) ยืนยันการซื้อหลักทรัพย์
(จ) ส่งมอบหลักทรัพย์ให้ผู้ซื้อ
(ฉ) คืนเงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรหลักทรัพย์
(6) ธุรกิจการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ หมายถึง การให้บริการจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ การเป็นตัวแทนจ่ายเงินในกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การจ่ายเงินปันผล การจ่ายเงินเพื่อไถ่ถอนคืนหลักทรัพย์ เป็นต้น
(7) ธุรกิจการให้บริการรับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนเพื่อส่งให้บริษัทหลักทรัพย์สำหรับกองทุนปิด หรือส่งให้บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมสำหรับกองทุนเปิด ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนต้องทำหน้าที่เฉพาะการส่งผ่านคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนเท่านั้น จะไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคามิได้
ข้อ 2. ธุรกิจที่อนุญาตโดยกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข
(1) ธุรกิจการจัดการออก จัดจำหน่ายและค้าตราสารแห่งหนี้ ซึ่งบริษัทเงินทุนจะประกอบธุรกิจนี้ได้จะต้องยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย โดยบริษัทเงินทุนที่ยื่นคำขออนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการจัดการออก จัดจำหน่ายและค้าตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1
(2) ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 โดยสรุปรายละเอียดของประกาศ ดังกล่าวปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3ทั้งนี้ ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต ให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถือปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติที่ ปรากฏในสิ่งที่ส่งมาด้วย 4 ที่แนบมาพร้อมนี้
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2535 เรื่อง เงื่อนไขในการ อนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการจัดการออก จัดจำหน่ายและค้าตราสารแห่งหนี้
2. ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
3. รายละเอียดของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืม และให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543
4. วิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 0-2283-5876, 0-2283-5305
หมายเหตุ [
] ธปท. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่……….เวลา…….ณ……..
[4
]ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว32-กส37002-25440924ด
เอกสารแนบ 1
ครุฑ
ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการจัดการออก
จัดจำหน่ายและค้าตราสารแห่งหนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) แห่งประราชบัญญัติการประกอบธุรกิจ เงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการจัดการออก จัดจำหน่าย และค้าตราสารแห่งหนี้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. บริษัทเงินทุนใดประสงค์จะประกอบกิจการจัดการออก จัดจำหน่ายและค้าตราสารแห่งหนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ให้ขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะบริษัทเงินทุนที่มีคุณสมบัติดังนี้
(1) เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมีเงินกองทุนสุทธิไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมสุทธิไม่ต่ำกว่าห้าพันล้านบาท
(2) เป็นบริษัทที่มีฐานะการดำเนินงานดี โดยพิจารณาจากฐานะสภาพคล่องความสามารถในการชำระหนี้ คุณภาพของสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีหลังสุดก่อนยื่นคำขอ
(3) เป็นบริษัทที่มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในอดีตของบริษัท ประกอบกับประวัติและความสามารถของผู้บริหาร
(4) เป็นบริษัทที่มีการจัดการที่รอบคอบและเชื่อถือได้ มีระบบบัญชีตามมาตรฐานทั่วไป มีระบบการควบคุมภายในที่ดี และมีการติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
(5) เป็นบริษัทที่ให้ความร่วมมือหรือให้ความช่วยเหลือตามนโยบายของทางการเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและคำสั่งของทางการอย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ข้อ 2. ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2535
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เอกสารแนบ 2
ครุฑ
ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
______________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และมาตรา 20(6) วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์กรณีเป็นตัวแทน หรือนายหน้า ลงวันที่ 12 เมษายน 2542
ข้อ 2 ให้กิจการดังต่อไปนี้เป็นกิจการอื่นที่อนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ประกอบได้
(1) ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืม และให้ยืมหลักทรัพย์กรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้า
(2) ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เฉพาะตราสารแห่งหนี้ในฐานะเป็นคู่สัญญากับผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม
(3) การให้ยืมหลักทรัพย์เฉพาะตราสารแห่งหนี้ โดยเป็นคู่สัญญากับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
(4) การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ (การขายชอร์ต) เฉพาะตราสารแห่งหนี้
ข้อ 3 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะประกอบกิจการตามข้อ 2ต้องเป็นบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์และภาระผูกพันที่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ณ วันที่เริ่มประกอบกิจการ
ข้อ 4 ในการประกอบกิจการตามข้อ 2 (2) และ (3) บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
4.1 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะทำการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ได้เฉพาะ กับคู่สัญญาที่เป็นสถาบันเท่านั้น ซึ่งได้แก่
(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(3) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
(4) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(5) ธนาคารพาณิชย์
(6) บริษัทเงินทุน
(7 บริษัทหลักทรัพย์
(8) บริษัทประกันชีวิต
(9) สถาบันการเงินต่างประเทศที่กระทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือในฐานะตัวแทนของบุคคลอื่นที่ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(10) กองทุนรวม
(11) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(12) กองทุนส่วนบุคคล
(13) กองทุนบำเหน็จบำนาญ
(14) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(15) นิติบุคคลอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ
4.2 จำนวนเงินหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ให้ยืมกับคู่สัญญารายใดรายหนึ่งเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ให้กู้ยืมแก่ หรือลงทุนในกิจการของคู่สัญญารายนั้นต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ก่อภาระผูกพันใด ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 35 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
ในการคำนวณเงินหรือมูลค่าของหลักทรัพย์รวมกับจำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ให้กู้ยืม หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันข้างต้น ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุนโดยอนุโลม และนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้นแล้ว ในกรณีการให้ยืมหลักทรัพย์โดยมีเงินสดวางเป็นหลักประกัน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนับรวมมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืมในส่วนที่มีเงินสดวางเป็นประกันในการคำนวณจำนวน เงินดังกล่าว
ข้อ 5 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่อง เกี่ยวกับวิธีการทำธุรกรรม ระบบการควบคุมภายใน การจัดทำแบบรายงาน รวมทั้งข้อปฏิบัติหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ข้อ 6 ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะประกอบกิจการตามข้อ 2 แจ้งวันที่จะเริ่มเปิดดำเนินกิจการ และส่งแผนงานรองรับการประกอบกิจการต่อธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างน้อย 30 วัน ก่อนเริ่มเปิดดำเนินกิจการ ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท และต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) นโยบายและระเบียบปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ
(2) นโยบายการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ และการกำหนดวงเงินของคู่สัญญา
(3) ระเบียบ และวิธีการบริหารความเสี่ยงและระบบควบคุมภายใน
ทั้งนี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้มีข้อทักท้วงภายใน 30 วัน นับจากวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับแผนงานดังกล่าว ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดำเนินการประกอบกิจการดังกล่าวได้
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สิ่งที่ส่งมาด้วย 3
รายละเอียดของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืม และให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ ทางการอนุญาตเป็นการทั่วไปให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติและมีความพร้อมในด้านการประกอบธุรกิจและมีระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง ตลอดจนระบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสม สามารถประกอบธุรกิจเหล่านี้ได้ โดยให้ยื่นแผนการประกอบธุรกิจที่แสดงถึงความพร้อมดังกล่าวอันได้แก่ นโยบายและระเบียบปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ นโยบายการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและการกำหนดวงเงินของคู่สัญญา และระเบียบและวิธีการบริหารความเสี่ยงและระบบควบคุมภายในมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาอย่างน้อย 30 วัน ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ และหากธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้ทักท้วงภายใน 30 วัน ก็ให้ดำเนินการได้ และในกรณีที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบถึงการได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อนประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย โดยธุรกิจที่อนุญาต ได้แก่
(1) ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์กรณีเป็นตัวแทนหรือนายหน้าซึ่งกระทำได้ทั้งหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้และตราสารทุน หรือในฐานะเป็นคู่สัญญากับผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมซึ่งกระทำได้เฉพาะหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้ (ข้อ 2(1) และข้อ 2(2) แห่งประกาศกระทรวงการคลังที่แนบมาพร้อมนี้)
(2) การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ (การขายชอร์ต) เฉพาะหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้ (ข้อ 2(4) แห่งประกาศกระทรวงการคลังที่แนบมาพร้อมนี้)
(3) ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ต้องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ในฐานะเป็นคู่สัญญากับผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหรือในฐานะตัวแทนหรือนายหน้าแต่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครองและประสงค์จะนำหลักทรัพย์นั้นไปให้ยืม ซึ่งเท่ากับต้องการเป็นเพียงคู่ค้ากับสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ให้สามารถนำหลักทรัพย์นั้นไปให้ยืมได้ (ข้อ 2(3) แห่งประกาศกระทรวงการคลังที่แนบมาพร้อมนี้)
ในการประกอบธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ทางการมิได้กำหนดให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องเรียกหลักประกันแต่ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พิจารณาตามความเหมาะสม เพราะการประกอบธุรกรรมนี้มีความเสี่ยงเกี่ยวข้องทั้งในด้าน Credit Risk (Settlement Risk) กับคู่ค้า ความเสี่ยงด้าน Market Risk จากการมี position ในตราสารแห่งหนี้ และมี Operational Risk ในด้านการดำเนินธุรกรรม การเรียกหลักประกัน การคืนหลักประกัน และการยึดหลักประกันเมื่อคู่ค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาในกรณีที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เรียกหลักประกันจากผู้ยืมหลักทรัพย์ และหลักประกันนั้นเป็นเงินสด หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หุ้นกู้หรือพันธบัตรหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย หรือหุ้นกู้หรือพันธบัตรหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยองค์การของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นในการคำนวณจำนวนเงินหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ให้ยืม เมื่อรวมกับเงินให้กู้ยืมหรือลงทุนของ คู่สัญญารายใดรายหนึ่งซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเมื่อรวมกับจำนวนเงิน ที่ก่อภาระผูกพันใด ๆ ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 35 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ทางการอนุญาตให้นำมูลค่าหลักประกันข้างต้นมาหักออกจากการคำนวณเงินดังกล่าวได้
สิ่งที่ส่งมาด้วย 4
วิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ตรี แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจไว้ดังต่อไปนี้
1. ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เฉพาะตราสารแห่งหนี้ในฐานะเป็นคู่สัญญากับผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม และการให้ยืมหลักทรัพย์เฉพาะ ตราสารแห่งหนี้ โดยเป็นคู่สัญญากับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตามข้อ 2(2) และ (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัท เงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืม หลักทรัพย์และการขายชอร์ต ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1.1 นโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ
บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องกำหนดนโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท รวมถึงการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติด้วย
1.2 หลักเกณฑ์การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและการกำหนดวงเงินคู่สัญญา
ก่อนการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาทุกครั้ง โดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์สินเชื่อ รวมถึงการกำหนดวงเงินของคู่สัญญาแต่ละรายซึ่งต้องมีการอนุมัติโดยผู้บริหารที่ มีหน้าที่รับผิดชอบ
1.3 ระเบียบและวิธีการบริหารความเสี่ยงและระบบควบคุมภายในบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องกำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติในการควบคุมและบริหารความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องมีระบบการจัดการ ระบบบัญชีและระบบควบคุมภายใน เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย รวมถึงนโยบายและระเบียบปฏิบัติในเรื่องดัง ต่อไปนี้
(1) ระบบการวิเคราะห์ความเสี่ยงของหลักทรัพย์และหลักประกัน และการกำหนดวงเงินต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ รวมถึงวงเงิน stop loss limit
(2) นโยบายและระเบียบปฏิบัติในการเรียกหลักประกันเริ่มแรก การเรียกหลักประกันเพิ่ม และการบังคับหลักประกัน
(3) ระบบการติดตามการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์และหลักประกันเป็นประจำทุกสิ้นวันทำการ (mark to market)
(4) ระบบการควบคุมภายในเพื่อให้นโยบายและระเบียบปฏิบัติมีการปฏิบัติตามอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
(5) ระบบการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำรายงานที่มีรายละเอียดอันเป็นประโยชน์ในการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการประกอบธุรกิจ เพื่อรายงานต่อผู้บริหาร และธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ในการประกอบกิจการการขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ (การขายชอร์ต) เฉพาะตราสารแห่งหนี้ ตามข้อ 2(4) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตาม 1.1 และ 1.3 ด้วยอนึ่ง การขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง เฉพาะในกรณีที่กระทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงของตนเองและมีหลักฐานที่ชัดแจ้งว่าจะได้หลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ในอนาคต บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สามารถกระทำได้โดยไม่ถือเป็นการประกอบกิจการอื่น
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ