การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday August 29, 2000 10:13 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            29  สิงหาคม  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
ที่ สนส.(02)ว. 948/2543 เรื่อง การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือที่ สนส.(02)ว. 700/2543 ลงวันที่ 19 เมษายน 2543 นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 7 เมษายน 2543 ให้ธนาคารพาณิชย์ทราบและถือปฏิบัติ นั้น
เนื่องจากสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารต่างชาติ ได้สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับด้านการปฏิบัติตามประกาศฉบับที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งมีข้อเสนอให้ปรับปรุงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในด้านการปฏิบัติให้มากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จึงได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 117 ตอนพิเศษ 85 ง ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2543 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2543 โดยส่วนที่ได้แก้ไขหรือเพิ่มเติมได้แสดงด้วยอักษรตัวเอน
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติ ในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์โทร 2836829
หมายเหตุ* ไม่รวมกิจการวิเทศธนกิจ
[
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่..............ณ............
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว10-กส31003-25430829ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 7 เมษายน 2543
ข้อ 2. ในประกาศนี้
"บัญชีเงินฝาก" หมายความว่า การรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน หรืออาจได้รับอนุญาตในอนาคต
"ผู้ฝากเงิน" หมายความรวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์แทน หรือในนามของผู้อื่น
ข้อ 3. ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้ผู้ฝากเงินแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองอย่างละเอียด ในแบบรายการคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดขึ้นพร้อมลงลายมือชื่อ
แบบรายการคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งจะต้องมีรายการละเอียดของผู้ฝากเงินอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน อาชีพ สถานที่ทำงาน สถานที่ที่สะดวกในการติดต่อ
(2) ในกรณีเป็นนิติบุคคลให้แสดงรายละเอียดข้อมูล เกี่ยวกับประเภทธุรกิจ หรือวัตถุประสงค์ของผู้ฝากเงินที่เป็นธุรกิจในทางการค้าปกติ
ข้อ 4. ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีเอกสารแสดงตน หรือสำเนา เอกสารดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอเปิดบัญชีเงินฝาก อย่างน้อย ดังต่อไปนี้ และต้องให้ผู้ฝากเงินลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวไว้ด้วย
(1) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดาเอกสารที่ต้องมีอย่างน้อยต้องเป็นเอกสารที่ระบุเลขประจำตัวประชาชนของบุคคลนั้นไว้ด้วย
(2) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยเอกสารที่ต้องมี ได้แก่ หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารที่แสดงว่าคณะกรรมการบริษัท หรือหุ้นส่วนเห็นชอบให้เปิดบัญชี รวมทั้งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายโดยผู้มีอำนาจลงนามรับรองพร้อมทั้งประทับตรา (ถ้ามี) พร้อมเอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม เอกสารที่กล่าวให้เป็นไปเช่นเดียวกับที่กำหนดตามข้อ 4(1)
(3) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นส่วนราชการ องค์กรของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือแสดงความจำนงขอเปิดบัญชี อำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่าย พร้อมเอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม เอกสารที่กล่าวให้เป็นไปเช่นเดียวกับที่กำหนดตามข้อ 4(1)
(4) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นสหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม สโมสร วัด มัสยิด ศาลเจ้า และนิติบุคคลอื่น เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือจดทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หนังสือแต่งตั้งหรือมอบอำนาจ รายงานการประชุมกรรมการหรือหนังสือแสดงความประสงค์ขอเปิดบัญชี รวมทั้งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายโดยผู้มีอำนาจลงนามรับรองพร้อมประทับตราพร้อมเอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม เอกสารที่กล่าวให้เป็นไปเช่นเดียวกับที่กำหนดตามข้อ 4(1)
(5) สำหรับผู้ฝากเงินที่ไม่ใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย หรือไม่ใช่นิติบุคคลในประเทศไทยเอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ เอกสารหลักฐานแสดงตนที่ออกหรือรับรองโดย หน่วยงานหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ
เอกสารที่กล่าวข้างต้นให้หมายความรวมถึง ใบแทน หรือบัตรชั่วคราวที่ใช้ระหว่างรอการออกเอกสารดังกล่าวด้วย
ข้อ 5. ธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน หรือสำเนาเอกสารหลักฐานในข้อ 4. ตามปกติวิสัยที่พึงปฏิบัติ โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ และต้องจัดเก็บรักษาเอกสารหรือ สำเนาเอกสารหลักฐานที่ผู้ฝากเงินได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องแล้วในห้องมั่นคง หรือสถานที่ที่ปลอดภัย ณ ธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่วันเปิดบัญชีเงินฝากและเก็บรักษาต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ลูกค้าปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ หรือใช้ประกอบในการสอบสวนหรือดำเนินคดี
ข้อ 6. ธนาคารพาณิชย์จะให้ผู้ฝากเงินเปิดบัญชีเงินฝากโดยปกปิดชื่อจริงของผู้ฝากเงิน ใช้ชื่อแฝง หรือใช้ชื่อปลอมมิได้
ข้อ 7. สำหรับผู้ฝากเงินที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เว้นแต่ บัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวและธนาคารพาณิชย์ได้แจ้งทางจดหมายลงทะเบียนให้ผู้ฝากเงินดำเนินการแล้ว
ข้อ 8. ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2543
( ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป10-กส31002-25430823ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ