นำส่งประกาศและหนังสือเวียนของธนาคาร แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday January 7, 2000 19:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            7   มกราคม   2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
ที่ สนส. ว. 15 /2543 เรื่อง นำส่งประกาศและหนังสือเวียนของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์
ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์โดยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 5 มกราคม 2543 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และหนังสือที่ ธปท.สนส.ว. 53/2543 เรื่อง ข้อหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ลงวันที่ 7 มกราคม 2543 จึงขอส่งประกาศและหนังสือเวียนดังกล่าวมาเพื่อทราบ พร้อมนี้
อนึ่ง ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันพุธที่ 26 มกราคม 2543 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคาร 3 โดยกำหนดผู้เข้าฟัง ดังนี้
(1) ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ แห่งละไม่เกิน 10 ท่าน
(2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แห่งละไม่เกิน 3 ท่าน
(3) สาขาธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานวิเทศธนกิจ แห่งละไม่เกิน 1 ท่าน
และโปรดแจ้งรายชื่อมายังคุณนฤมล เจริญวงศ์สวัสดี หมายเลขโทรศัพท์ 283-5804, 283-5834, 282-5877 ภายใน วันที่ 21 มกราคม 2543
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาลินี วังตาล)
รักษาการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศ ธปท. ลงวันที่ 5 มกราคม 2543
2. หนังสือเวียน ธปท. ลงวันที่ 7 มกราคม 2543
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5836
หมายเหตุ [X
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ 26 มกราคม 2543 เวลา 14.00 น.
[
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ พ.ศ. 2543
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2541
ข้อ 2 ในประกาศนี้
(1) “ธนาคาร” หมายความว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) “บริษัทบริหารสินทรัพย์” หมายความว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ตามพระราชกำหนดบริษัท บริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
ข้อ 3 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หมายถึง สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือสินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542 และให้หมายรวมไปถึงสินทรัพย์จัดชั้นที่สถาบันการเงินได้จำหน่ายออก จากบัญชีไปแล้วและทรัพย์สินรอการขายที่อยู่ในข่ายต้องจัดชั้นเนื่องจากมีมูลค่าตลาดต่ำกว่าต้นทุน ที่ได้มาด้วยการดำเนินกิจการบริหารสินทรัพย์
ข้อ 4 ในการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องยื่นแผนงานการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ธนาคารทราบก่อนทุกครั้ง โดยแผนงานดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ชื่อสถาบันการเงินที่เป็นผู้จำหน่ายสินทรัพย์
(2) ประเภทของสินทรัพย์ที่จะรับซื้อหรือรับโอน
(3) มูลค่าของสินทรัพย์ที่จะรับซื้อหรือรับโอนและหลักเกณฑ์การประเมินราคาสินทรัพย์
(4) วันที่จะรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์
(5) สัญญาหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ในการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์
ข้อ 5 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจะต้องดำเนินการดังนี้
5.1 นำสินทรัพย์และภาระผูกพันของบริษัทไปรวมเข้ากับสินทรัพย์และภาระผูกพันของสถาบันการเงินในการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงิน ที่เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากนั้น
5.2 บริษัทบริหารสินทรัพย์จะถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่รับซื้อหรือ รับโอนมาจากสถาบันการเงินได้เป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 10 ปี โดยระยะเวลาถือครองจะเริ่มต้นนับปีถัดจากปีที่ได้รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินเป็นปีที่ 1 ทั้งนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องเร่งทยอยจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอการขายออกไปโดยเร็ว ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องถือ ครองเกินกว่า 5 ปี บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องทยอยจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอการขายดังกล่าว ออกไปในปีที่ 6 จนหมดจำนวนในปีที่ 10 โดยจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอ การขายในแต่ละปีนั้น จะต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีสุทธิของปีก่อนหน้าปีที่ต้องจำหน่ายหารด้วยจำนวนปีที่เหลือ (นับรวมปีที่ต้องจำหน่ายจนถึงปีสุดท้าย) ดังตัวอย่างการคำนวณตามที่แนบ สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้มาเนื่องจากการรับชำระหนี้นั้น ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ถือปฏิบัติในทำนองเดียวกันกับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินดังกล่าวข้างต้น
การนับจำนวนหุ้นที่ถือในบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้นับจำนวนหุ้นที่มีการถือแทนโดยบุคคลที่ระบุในหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.งพ.(ว) 2693/2538 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2538 และ ธปท.งก. (ว) 2815/2538 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทอื่นเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในลักษณะที่ให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทนด้วย
ข้อ 6 บริษัทบริหารสินทรัพย์อาจมีสำนักงานสาขาได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจาก ธนาคาร ในการอนุญาต ธนาคารจะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
ข้อ 7 ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัทบริหารสินทรัพย์อาจดำเนินการใด ๆ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ที่รับซื้อหรือรับโอนมาให้ดำเนินกิจการต่อไปได้และมีความสามารถในการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึง
(1) ให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ที่รับซื้อหรือรับโอนมา
(2) เรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม และค่าบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(3) แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการ แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(4) ปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้
(5) ถือหุ้นในกิจการที่ได้มาจากการชำระหนี้ของลูกหนี้
(6) รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน
(7) กระทำการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการบริหารหรือฟื้นฟูลูกหนี้ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่น การให้เช่า ให้เช่าซื้อ ขายลูกหนี้ ตลอดจนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับซื้อหรือรับโอนมา และที่ได้รับจากการชำระหนี้
(8) กระทำการอื่นใดโดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคารการจัดหาเงินทุน
ข้อ 8 บริษัทบริหารสินทรัพย์อาจจัดหาเงินทุนได้ด้วยวิธีการดังนี้
(1) กู้ยืมเงินจากในหรือนอกราชอาณาจักร
(2) ออกหลักทรัพย์ เฉพาะ (2.1) หุ้นหรือหุ้นกู้ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (2.2) ตราสารหนี้อื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคาร ทั้งนี้ การจัดหาเงินทุนดังกล่าวไม่รวมถึงการรับฝากเงินจากประชาชน อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
ข้อ 9 ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าปรากฎว่าสัญญาเดิมกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นอัตราลอยตัวและไม่มีฐานในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเดิมให้อ้างอิงได้ ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์คำนวณอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกหนี้ตามสัญญาเดิมดังกล่าวได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ประเภทนั้น ๆ ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ณ วันที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตามสัญญาเดิมการจัดทำบัญชีและการยื่นรายงาน
ข้อ 10 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมตามนัยการนับจำนวนหุ้นในข้อ 5 วรรคท้าย ต้องดำเนินการกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนมาตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติซึ่งจะต้องทยอยกันสำรองให้ครบถ้วนภายในสิ้นปี พ.ศ. 2543 ดังนี้
(1) กรณีที่สถาบันการเงินใช้ราคาตามบัญชีในการโอนขายสินทรัพย์ ให้เริ่มนับ ระยะเวลาค้างชำระต่อเนื่องจากสถาบันการเงินเสมือนหนึ่งสินทรัพย์นั้นยังอยู่ที่สถาบันการเงิน
(2) กรณีที่สถาบันการเงินใช้ราคายุติธรรมในการโอนขายสินทรัพย์ ให้เริ่มต้น นับระยะเวลาค้างชำระใหม่ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้แต่ละรายไม่มาทำข้อตกลงหรือทำสัญญาใหม่กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนด หรือวันที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินให้บริษัทบริหาร สินทรัพย์ได้ตามข้อตกลงหรือสัญญาใหม่ตามแต่กรณี สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ให้กันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด
ข้อ 11 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมตามนัยการนับจำนวนหุ้นในข้อ 5 วรรคท้าย ให้จัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินถือปฎิบัติ และใช้รูปแบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้นสำหรับสถาบันการเงินโดยอนุโลม
สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ให้จัดทำบัญชี แสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องมาตรฐานการบัญชี และใช้รูปแบบที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนดขึ้นสำหรับสถาบันการเงินโดยอนุโลม และปิดบัญชีทุกงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือน
ข้อ 12 ภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชี ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ประกาศงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยผู้สอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน หรือลูกจ้าง หรือตัวแทนของบริษัทที่ตนเป็นผู้สอบบัญชี ทั้งนี้ รวมถึงหัวหน้าสำนักงานสอบบัญชีที่ตน ปฏิบัติงานอยู่หรือเทียบเท่า ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นหรือเทียบเท่า หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอื่น หรือผู้ช่วย ผู้สอบบัญชีในสำนักงานสอบบัญชี ที่มีส่วนต่อการตัดสินใจในการแสดงความเห็นของตน และให้ รวมถึงคู่สมรสและบุตรของตนและของบุคคลดังกล่าวนั้นด้วย สำหรับผู้สอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมตามนัยการนับจำนวนหุ้นในข้อ 5 วรรคท้ายนั้น จะต้องเป็นผู้สอบบัญชีรายเดียว กันกับผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินที่เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น
ข้อ 13 บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องยื่นรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อธนาคารตามแบบที่ธนาคารกำหนดเป็นประจำทุกไตรมาสภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นไตรมาส
ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 5 มกราคม 2543
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป90-กส14001-25430107ด
(สำเนา)
7 มกราคม 2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.ว. 53 /2543 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่องการกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ จึงขอยกเลิกหนังสือที่ ธปท.ง.(ว)5048/2541 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2541 และให้สถาบันการเงินรับทราบและถือปฏิบัติใหม่ ดังนี้
1. อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 (5) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ที่แก้ไขแล้ว และมาตรา 20 (4) และมาตรา 54 (6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้สถาบันการเงินซื้อหรือมีหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์โดยมีเงื่อนไขที่สถาบันการเงินต้องถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.1 สถาบันการเงินที่ถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ว่าโดยตรงหรือโดย อ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ต้องจัดทำงบการเงินรวมของสถาบันการเงินนั้นกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชี ทุกไตรมาสและสิ้นงวดการบัญชี และนำสินทรัพย์และภาระผูกพันของบริษัทบริหารสินทรัพย์มารวมเข้ากับสินทรัพย์และภาระผูกพันของสถาบันการเงินในการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินนั้น ตามแนวทางการกำกับดูแลแบบ consolidated supervision
การนับจำนวนหุ้นที่มีในบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้นับจำนวนหุ้นที่มีการ ถือแทนโดยบุคคลที่ระบุในหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.งพ. (ว) 2693/2538 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2538 และ ธปท.งก. (ว) 2815/2538 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทอื่นเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในลักษณะที่ให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทนด้วย
1.2 เปิดเผยจำนวนเงินให้สินเชื่อหรือเงินให้กู้ยืมที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน (Non-Performing Loans) ในหมายเหตุประกอบงบการเงินในงบการเงินที่แสดงต่อสาธารณชน โดยให้แสดงจำนวนเงินให้สินเชื่อดังกล่าวทั้งในส่วนของสถาบันการเงินและในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์ นอกจากนี้ ให้เปิดเผยปริมาณเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินคิดกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และงบกระแสเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของสถาบันการเงินด้วย
1.3 ให้สถาบันการเงินกำหนดให้ผู้สอบบัญชีของตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริหารสินทรัพย์นั้นด้วย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจหนใดเงื่อนไขอื่น ๆ ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กำหนดข้างต้นได้ตามควรแก่กรณี
2. ในการขายสินทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ให้สถาบันการเงินกำหนดราคาที่ใช้ในการโอนขายอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้
2.1 ราคาซึ่งเป็นราคายุติธรรม (fair value) ซึ่งมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีความรู้และเต็มใจในการแลกเปลี่ยน และสามารถต่อรองราคากันได้อย่างเป็นอิสระในลักษณะของผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
(2) เป็นราคาที่ประเมินโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือผู้ประเมินราคาอิสระ โดยผู้ประเมินราคารายนั้นต้องมิใช่ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น รวมทั้งไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใด ๆ กับสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น
2.2 ราคาตามบัญชีซึ่งเป็นราคาหลังจากกันสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
2.3 สำหรับกรณีที่โอนขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ให้ใช้ราคาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนให้ความเห็นชอบ
3. ในกรณีที่สินทรัพย์ที่สถาบันการเงินขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นลูกหนี้ที่คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้กำหนดรายชื่อไว้แล้วว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่สถาบันการเงินจะต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งลูกหนี้ที่คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะกำหนดชื่อขึ้นใหม่ในอนาคต ให้สถาบันการเงินผู้ขายดูแลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องจากสถาบันการเงินจน เสร็จสิ้นกระบวนการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4. บริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดดังกล่าว หรือวันที่บริษัทจำกัดจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เพื่อขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น สถาบันการเงินจะต้องลดการถือครองหุ้นในบริษัทจำกัดดังกล่าวลงให้อยู่ภายในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดภายในเวลา 90 วันนับแต่วันครบกำหนดที่บริษัทจำกัดต้อง ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ในหนังสือฉบับนี้เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฎิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 283-5836, 283-5805, 283-5865
หมายเหตุ [ X
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจง
[
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส14001-25430107ด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ