24 กันยายน 2544
เรียน ผู้จัดการ บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สกง.(14)ว. 2108/2544 เรื่อง ปรับปรุงวิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ตามหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.สกง.(14)ว. 463/2544 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 เรื่อง วิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท แจ้งให้ทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง (Direct Loan) แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident : NR) รวมทั้ง การเข้าไปรับรองหรือค้ำประกันในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของ NR นั้น
เพื่อความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ NR ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าการลงทุนในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสมควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. ผ่อนผันการปฏิบัติตามหนังสือที่ ธปท.สกง.(14)ว. 463/2544 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 โดยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง (Direct Loan) ให้แก่ NR ได้เฉพาะกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาและได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าวด้วย โดยมียอดคงค้างการให้กู้ยืมเงินบาทแก่ NR แต่ละราย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (รวมทุกสถาบันการเงิน) ไม่เกิน5 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินขอหนังสือรับรองจาก NR ผู้กู้ว่า NR นั้นมีภาระหรือยอดคงค้างการกู้ยืมเงินบาทกับสถาบันการเงินอื่นอยู่ก่อนหรือไม่ จำนวนเท่าใดและให้ระบุเงื่อนไขในหนังสือรับรองดังกล่าวด้วยว่า หากคำรับรองที่ NR ให้ไว้ไม่ตรงตามความเป็นจริง สถาบันการเงินผู้ให้กู้สามารถเรียกคืนเงินกู้จาก NR ก่อนที่สัญญาจะครบกำหนดได้ นอกจากนั้นให้สถาบันการเงินจัดเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการนำเงินกู้บาทไปใช้จ่ายของ NR ไว้อย่างน้อย 3 ปี เพื่อการตรวจสอบภายหลัง รวมทั้งให้รายงานธุรกรรมดังกล่าวในตารางที่ 22 Report of Outstanding Balance of THB Lending Transactions with Non-Resident (With Underlying) ภายในวันทำการถัดจากวันให้กู้ยืม
2. การปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง (Direct Loan) ของสถาบันการเงินให้แก่ NR ตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทตามหนังสือที่ ธปท.สกง.(14) ว. 463/2544 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ไม่รวมถึงการที่สถาบันการเงินออกบัตรเครดิตให้แก่ NR
3. อนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคา หรือหนังสือค้ำประกันการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลทั่วไปในประเทศไทยให้แก่ NR ได้ ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับหลักประกันจากสถาบันการเงินในต่างประเทศของ NR เป็น Standby L/C เพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันของสถาบันการเงินแก่ NR(เป็นลักษณะการทำค้ำประกันแบบ back-to-back) และจะต้องมีเงื่อนไขกำหนดในหลักประกันนั้น ๆ ว่าหากสถาบันการเงินต้องชำระหนี้แทน NR ตามหนังสือค้ำประกัน สถาบันการเงินสามารถเรียกชดใช้เงินได้จากสถาบันการเงินในต่างประเทศของ NR ได้เต็มจำนวนภายในวันเดียวกัน หรือสามารถเรียกเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศได้ก่อนที่สถาบันการเงินจะชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2544 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ขอแสดงความนับถือ
(นายเชษฐทวี เจริญพิทักษ์)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ส่วนควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรองสายตลาดการเงิน
โทร. 0-2283-5326-7
หมายเหตุ ( X ) ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
-ยก-