การจ่ายชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝากอันเนื่องจากการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday June 29, 2001 06:55 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  29  มิถุนายน  2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส.(11)ว. 1462 /2544 เรื่อง การจ่ายชดเชยความเสียหายแก่ลูกค้าเงินฝาก อันเนื่องจากการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์
ตามที่ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนที่ ธปท.สนส.(11)ว. 360/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นขอปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ นั้น
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าผู้ใช้บริการอันเนื่องจากการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนที่ ธปท.สนส.(11)ว.360/2543 โดยให้ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีที่ลูกค้าต้องการโอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่นซึ่งลูกค้าเป็นผู้เลือก ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการนี้
2. กรณีเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา ถ้าการปิดสาขาส่งผลให้ลูกค้าเงินฝากต้องถอนเงินหรือโอนเงินฝากไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์อื่นก่อนครบกำหนด และลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยต่ำกว่าจำนวนเงินที่ควรจะได้รับหากฝากเงินต่อจนครบกำหนด ให้ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาชดเชยดอกเบี้ยที่ขาดให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนการฝากเงินเสมือนหนึ่งฝากจนครบกำหนด
ตัวอย่างที่ 1 เงินฝากประจำ 3 เดือนจำนวน 10,000 บาท ฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เมื่อฝากผ่านมาแล้ว 1 เดือน มีการปิดสาขาจึงโอนไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์ใหม่ซึ่งต้องฝากอย่างน้อยอีก 3 เดือนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาจะต้องโอนเงินไปที่ธนาคารอื่นเป็นจำนวน 10,050 บาท ซึ่งประกอบด้วยต้นเงินฝากเดิมจำนวน 10,000 บาท เงินชดเชยอีก 50 บาท เนื่องจากหากลูกค้าฝากจนครบกำหนด 3 เดือนโดยไม่ถอนจะได้ดอกเบี้ย (10,000 x 4% x 3เดือน) = 100 บาท แต่เงินฝากที่โอนไปลูกค้าจะได้ดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ใหม่ 3 % สำหรับ 2 เดือน (10,000 x 3% x2 เดือน) = 50 บาท ส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องชดเชยคือ 100 - 50= 50 บาท เป็นต้น
ตัวอย่างที่ 2 เงินฝากประจำ 3 เดือน จำนวน 10,000 บาท ฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เมื่อฝากผ่านมาแล้ว 1 เดือน มีการปิดสาขาจึงโอนไปฝากต่อที่ธนาคารพาณิชย์ใหม่เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยขณะนั้นร้อยละ 2 ต่อปี ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาจะต้องโอนเงินไปที่ธนาคารอื่นเป็นเงินจำนวน 10,066.67 บาท ซึ่งประกอบด้วยต้นเงินฝากเดิมจำนวน 10,000 บาท เงินชดเชยอีก 66.67 บาท เนื่องจากหากลูกค้าฝากจนครบกำหนด 3 เดือนโดยไม่ถอนจะได้ดอกเบี้ย (10,000 x 4% x 3เดือน) = 100 บาท แต่ลูกค้าจะได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์ใหม่ 2 % สำหรับ 2 เดือน (10,000 x 2% x 2 เดือน ) = 33.33 บาท ส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องชดเชย คือ 100 - 33.33 = 66.67 บาท
ทั้งนี้ กรณีที่เป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และลูกค้าเงินฝากได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากใหม่ที่สูงขึ้น จำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปิดสาขาต้องจ่ายชดเชยคือดอกเบี้ยเงินฝากตามระยะเวลาที่ฝากจริงก่อนวันโอนเงินฝากไปธนาคารอื่น (หรือวันปิดสาขาแล้วแต่กรณี)
3. สำหรับอัตราดอกเบี้ยตลาดของเงินฝากใหม่ที่จะใช้เป็นอัตราเทียบเคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเดิมตามที่กล่าวในข้อ 2 นั้น ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติดังนี้
3.1 ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของ ธปท. ในกรณีที่ลูกค้าไม่ฝากเงินต่อในที่ใด
3.2 ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่รับโอนเงินฝากประกาศจ่ายสำหรับเงินฝากประเภทที่ลูกค้าโอนไปฝาก ในกรณีที่ลูกค้าให้โอนเงินไปฝากต่อที่ธนาคารอื่น
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ตามหนังสือเวียนฉบับนี้
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธัญญา ศิริเวทิน)
รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพสถาบันการเงิน)
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 2835939, 2835307
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ...................
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว11-กส21404-25440702ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ