ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสำหรับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday November 27, 2000 10:50 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            27  พฤศจิกายน  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุกหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซอเอร์ ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(01)ว. 3258/2543 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติสำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์
ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับปรุงหลักทรัพย์การปฏิบัติเกี่ยวกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ จึงขอยกเลิกหนังสือท ธปท.สนส.ว.53/2543 ลงวันที่ 7 มกราคม 2543 และให้สถาบันการเงินรับทราบและถือปฏิบัติใหม่ ดังนี้
1. อาศัยอำนาจตามมาตรา 12(5)แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่แก้ไขแล้ว และมาตรา 20(4) และมาตรา 54(6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซีเอร์ พ.ศ.2522 ที่แก้ไขแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางพิจารณาอนุญาตคำขอของสถาบันการเงินในการซื้อหรือมีหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์โดยอาจกำหนดเงื่อนไขใดๆ ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินที่ถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นต้องถือปฏิบัติดังนี้
1.1 จดทำงบการเงินรวมของสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามมาตรฐานการบัญชีทุกไตรมาสและสิ้นงวดการบัญชี และนำสินทรัพย์และภาระผูกพันของบริษัทบริหารสินทรัพย์มาร่วมเข้ากับสินทรัพย์และภาระผูกพันของสถาบันการเงิน ในการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสียของสถาบันการเงินนั้น ตามแนวทางการกำกับดูแลแบบ concolidated supervision
การนับจำนวนหุ้นที่มีในบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้นับจำนวนหุ้นที่มีการถือแทนโดยบุคคลที่ระบุในหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ท ธปท.งพ.(ว)2693/2538 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เรื่อง การซื้อหรอมหุ้นในบริษัทอื่นเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในลักษณะที่ให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทนด้วย
1.2 เปิดเผยจำนวนเงินให้สินเชื่อหรือเงินให้กู้ยืมที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน (Non-Performing Loans) ในหมายเหตุประกอบงบการเงินในงบการเงินที่แสดงต่อสาธารณชน โดยให้แสดงจำนวนเงินให้สินเชื่อดังกล่าวทั้งในส่วนของสถาบันการเงินและในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์
นอกจากนี้ ให้เปิดเผยปริมาณเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยสถาบันการเงินคิดกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และงบกระแสเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของสถาบันการเงินด้วย
1.3 กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กำหนดข้างต้นได้ตามควรแก่กรณี
2. ในการขายสินทรัพย์ให้แก่บริาทบริหารสินทรัพย์ ให้สถาบันการเงินกำหนดราคาที่ใช้ในการโอนขายอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้
2.1 ราคาซึ่งเป็นราคายุติธรรม (fair value) ซึ่งมีความหมายเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
2.2 ราคาตามบัญชีซึ่งเป็นราคาหลังจากกันสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
2.3 สำหรับกรณีที่โอนขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ให้ใช้ราคาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนให้ความเห็นชอบ
3. การโอนขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์จะถือเป็นการขายขาดซึ่งสถาบันการเงินผู้โอนจะตัดบัญชีสินทรัพย์นั้นออกจากงบการเงินของผู้อื่นได้ต่อเมื่อการโอนขายนั้นเป็นไปตามแนวปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการโอนสินทรัพย์ทางการเงิน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2543
ในกรณีการโอนขายสินทรัพย์ไม่เข้าเงื่อนไขตามแนวปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการโอนสินทรัพย์ทางการเงินข้างต้น สถาบันการเงินจะต้องบันทึกการโอนดังกล่าวเป็นการกู้ยืมโดยมีสินทรัพย์ที่โอนเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ เงินกู้ยืมดังกล่าวจะต้องมีจำนวนไม่เกินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันหรือมูลค่าตามบัญชีตามแต่กรณี
4. ในกรณีที่สินทรัพย์ที่สถาบันการเงินขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นลูกหนี้ที่คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้กำหนดรายชื่อไว้แล้วว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่สถาบันการเงินจะต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งลูกหนี้ที่คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะกำหนดซื้อขึ้นใหม่ในอนาคต ให้สถาบันการเงินผู้ขายดูแลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องจากสถาบันการเงินจนเสร็จสิ้นกระบวนการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
5. บริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจดทะเบียนเป็นบรษัทบริหารสินทรัพย์ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดดังกล่าว หรือวันที่บริษัทจำกัดจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เพื่อขอจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น สถาบันการเงินจะต้องลดการถือครองหุ้นในบริษัทจำกัดดังกล่าวลงให้อยู่ภายในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดภายในเวลา 90 วันนับแต่วันครบกำหนดที่บริษัทจำกัดต้องยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ในหนังสือฉบับนี้เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินโทร. 283-5804, 283-5865
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์
ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ
พ.ศ.2543
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ลงวันที่ 5 มกราคม 2543
ข้อ 2 ในประกาศนี้
(1) "ธนาคาร" หมายความว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) "บริษัทบริหารสินทรัพย์" หมายความว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ตามพระ ราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541
การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
ข้อ 3 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หมายถึงสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดขั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือสินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 17 มีนาคม 2543 และให้หมายรวมไปถึงสินทรัพย์จัดชั้นที่สถาบันการเงินได้จำหน่ายออกจากบัญชีไปแล้วและทรัพย์สินรอการขาย
การดำเนินกิจการบริหารสินทรัพย์
ข้อ 4 ในการรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องยื่นแผนงานการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ธนาคารทราบก่อนทุกครั้ง โดยแผนงานดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ซื้อสถาบันการเงินที่เป็นผู้จำหน่ายสินทรัพย์
(2) ประเภทสินทรัพย์ที่จะรับซื้อหรือรับโอน
(3) มูลค่าของสินทรัพย์ที่จะรับซื้อหรือรับโอนและหลักเกณฑ์การประเมินราคาสินทรัพย์
(4) วันที่จะรับซื้อรับโอนสินทรัพย์
(5) สัญญาหรือเงื่อนไขอื่นๆ ในการจะรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์
ข้อ 5 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจะต้องดำเนินการดังนี้
5.1 นำสินทรัพย์และภาระผูกพันของบริษัทไปรวมเข้ากับสินทรัพย์และภาระผูกพันของสถาบันการเงินในการคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินที่เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากนั้น
5.2 บริษัทบริหารสินทรัพย์จะถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่รับซื้อหรือรับโอนมากจากสถาบันการเงินได้เป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 10 ปี โดยระยะเวลาถือครองจะเริ่มต้นนับปีถัดจากปีที่ได้รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินเป็นปีที่ 1 ทั้งนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องเร่งทยอยจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอการขายออกไปโดยเร็ว ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องถือครองเกินกว่า 5 ปี บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องทยอยจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอการขายดังกล่าวออกไปในปีที่ 6 จนหมดจำนวนในปีที่ 10 โดยจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอการขายในแต่ละปีนั้น จะต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญขีสุทธิของปีก่อนหน้าปีที่ต้องจำหน่ายหารด้วยจำนวนปีที่เหลือ (นับรวมปีที่ต้องจำหน่ายจนถึงปีสุดท้าย) ดังตัวอย่างการคำนวณตามที่แนบ
สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายทีมบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้มาเนื่องจากการรับชำระหนี้นั้น ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ถือปฏิบัติในทำนองเยวกันกับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินดังกล่าวข้างต้น
การนับจำนวนหุ้นที่ถือในบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้นับจำนวนหุ้นที่มีการถือแทนโดยบุคคลที่ระบุในหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.งพ.(ว)2693/2538 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 และ ธปท.งก.(ว)2815/2538 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เรื่อง การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทอื่นเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในลักษณะที่ให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทนด้วย
ข้อ 6 บริษัทบริหารสินทรัพย์อาจมีสำนักงานสาขาได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารในการอนุญาต ธนาคารจะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
ข้อ 7 ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัทบริหารสินทรัพย์อาจดำเนินการใดๆ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ที่รับซื้อโอนมาให้ดำเนินกิจการต่อไปได้และมีความสามารถในการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึง
(1) ให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ที่รับซื้อหรือรับโอนมา
(2) เรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม และค่าบริการทางการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(3) แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(4) ปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้
(5) ถือหุ้นในกิจการที่ได้มาจากการชำระหนี้ของลูกหนี้
(6) รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน
(7) กระทำการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการบริหารหรือฟื้นฟูลูกหนี้ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่น การให้เช่า ให้เช่าซื้อ ขายลูกหนี้ ตลอดจนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับซื้อหรือรับโอนมาและที่ได้จากการชำระหนี้ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต้องเป็นการนำอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างค้างไว้ไปพัฒนาต่อให้เสร็จสิ้นเท่านั้นไม่รวมถึงการนำที่ดินเปล่าไปพัฒนา
(8) นำอสังหาริมทรัพย์รอการขายไปลงทุนกับผู้ลงทุนรายอื่นหรือบริษัทอื่น ซึ่งมีความสามารถเฉพาะด้านในการบริหารอสังหาริมทรัพย์รอการขายตและประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคงมูลค่าของสินทรัพย์ไว้ ในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์รอการขายนั้นอยู่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องทยอยจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์รอการขายนั้นออกไปให้หมดภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยถือปฏิบัติตามเงื่อนไขการถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2
(9) กระทำการอื่นใดโดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร
การจัดหาเงินทุน
ข้อ 8 บริษัทบริหารสินทรัพย์อาจจัดหาเงินทุนได้ด้วยวิธีการดังนี้
(1) กู้ยืมเงินจากในหรือนอกราชอาณาจักร
(2) ออกหลักทรัพย์เฉพาะ
(2.1) หุ้นหรือหุ้นกู้ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2.2) ตราสารหนี้อื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคาร
ทั้งนี้ การจัดหาเงินทุนดังกล่าวไม่รวมถึงการรับฝากเงินจากประชาชน
อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
ข้อ 9 ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ถ้าปรากฎว่าสัญญาเดิมกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นอัตราลอยตัวและไม่มีฐานในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเดิมให้อ้างอิงได้ ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์คำนวณอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกหนี้ตามสัญญาเดิมดังกล่าว ได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทนันๆ ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ณ วันที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตามสัญญาเดิม
การจัดทำบัญชีและการยื่นรายงาน
ข้อ 10 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมตามนัยการนับจำนวนหุ้นในข้อ 5 วรรคท้าย ต้องดำเนินการกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนมาตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติต่อสินทรัพย์ทางการเงินที่ได้รับซื้อหรือรับโอนตามแนวปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการโอนและการรับโอนสินทรัพย์ทางการเงิน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2543 อย่างเคร่งครัด
ข้อ 11 บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนห้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมตามนัยการนับจำนวนหุ้นในข้อ 5 วรรคท้าย ให้จัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติและใช้รูปแบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้นสำหรับสถาบันการเงินโดยอนุโลก
สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ให้จัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องมาตรฐานการบัญชี และใช้รูปแบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้นสำหรับสถาบันการเงินโดยอนุโลก และปิดบัญชีทุกงวดการบัญชีในระยะเวลาหักเดือน
ข้อ 12 ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ติดประกาศงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่ไดรับการรับรองจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ไว้ในที่เปิดเผยภายในสำนักงานที่ใช้ติดต่อกับประชาชนภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและได้รับการผ่อนผันจากธนาคาร ในการผ่อนผันนั้น ธนาคารจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
สำหรับผู้สอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมตามนัยการนับจำนวนหุ้นในข้อ 5 วรรคท้ายนั้น จะต้องเป็นผู้สอบบัญชีรายเดียวกันกับผู้สอบบัญชีของสถาบันกาาเงินที่เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น
ข้อ 13 บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องยื่นรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อธนาคารตามแบบที่ธนาคารกำหนดเป็นประจำทุกไตรมาสภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นไตรมาส
ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ