นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday November 28, 2007 14:15 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  16 พฤศจิกายน 2550      
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ฝนส.(21) ว.178/2550 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง
การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงได้ตั้งแต่ปี 2547 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ และกรอบในการทำธุรกรรมรวมทั้งการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องไว้แล้วนั้น
เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงการที่จะต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับ การทำธุรกรรมดังกล่าวอย่างรัดกุม และมีการบันทึกบัญชีและการประเมินมูลค่ายุติธรรมของ ธุรกรรมดังกล่าวที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากล ในสภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความ ผันผวนเพิ่มมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว โดยยกเลิก ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือ เงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2547 และขอนำส่งประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 และมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535
สรุปสาระสำคัญในการแก้ไขประกาศครั้งนี้
1.ความเพียงพอของเงินกองทุนที่จะรองรับการทำธุรกรรม
ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรมและนำผลขาดทุนสุทธิไป หักออกจากเงินกองทุน(รายละเอียดตามที่กำหนดในประกาศ) โดยเงินกองทุนที่คำนวณได้นั้นต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด(8.5% ในกรณีของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ และ 7.5% ในกรณีของสาขาของธนาคารต่างประเทศ) และมีเพียงพอที่จะรองรับการทำธุรกรรมใหม่ มิฉะนั้นธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกรรมเพิ่มไม่ได้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องประเมินมูลค่า ยุติธรรมของธุรกรรม และคำนวณเงินกองทุนตามที่กล่าวอย่างต่อเนื่อง
2.การจัดประเภทเงินลงทุน การบันทึกบัญชี และการประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับ ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง
ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์จัดประเภท บันทึกบัญชี และประเมินมูลค่ายุติธรรมธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืม ที่มีอนุพันธ์แฝง ตามมาตรฐานการบัญชีสากล ซึ่งปัจจุบันคือ International Accounting Standard No.39 Financial Instrument : Recognition and Measurement
3. กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
เพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติและสอดคล้องกับความซับซ้อนและความเสี่ยงของ ธุรกรรมที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีในส่วนของธุรกรรมที่ได้ทำไปก่อนหน้าที่ประกาศ มีผลบังคับใช้ ให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีให้เป็นไปตาม ข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว ตั้งแต่งวดการบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป สำหรับงวดบัญชี 6 เดือนหลังที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ให้ธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมรวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่องบการเงินและเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในประกาศนี้ ในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน)
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย : ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์
ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง โทรศัพท์ : 0-2283-5307 0-2283-6820
หมายเหตุ [
] มีการจัดประชุมชี้แจงในวันที่..........................ณ
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ สนส. 7/2550
เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง
1. เหตุผลในการออกประกาศ
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ได้ตั้งแต่ปี 2547 โดยกำหนด หลักเกณฑ์และกรอบในการทำธุรกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องไว้แล้วนั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเห็นว่าในสภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความ ผันผวนเพิ่มมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ไทยควรมีระบบบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมเพื่อรองรับธุรกรรม ที่กล่าว และมีการบันทึกบัญชีและการประเมินมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรมดังกล่าวที่สอดคล้องกับ มาตรฐานการบัญชีสากล ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นสมควรยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยปรับปรุงมาเป็นประกาศฉบับนี้แทน
2.อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 และมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ทั้งในฐานะที่เป็นผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืม และผู้ฝากหรือ ผู้ให้กู้ยืม ตามข้อกำหนดในประกาศนี้
3.ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ยกเว้นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย
4.เนื้อหา
ข้อ 4.1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคาร พาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2547
ข้อ 4.2 นิยาม
ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง หมายถึง ธุรกรรมดังต่อไปนี้
(1) ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร โดย อัตราผลตอบแทนดังกล่าวขึ้นอยู่กับตัวแปรอ้างอิงที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยปกติ
(2) ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่ให้สิทธิคู่สัญญาในการชำระคืนหรือรับชำระ คืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นตราสารหนี้ตามประเภทและอัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หรือให้สิทธิ ผู้รับฝาก (หรือผู้กู้ยืม) ในการขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือผู้ฝาก (หรือผู้ให้กู้ยืม) ในการซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามสกุลเงินและอัตราที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า
(3) ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่ให้สิทธิผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืมที่จะขยายระยะเวลา หรือไถ่ถอนก่อนครบกำหนดตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่ให้สิทธิผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืมในการไถ่ถอนก่อนครบกำหนดตามประเพณีปฏิบัติตามปกติของตลาดตราสารทางการเงิน
ข้อ 4.3 หลักการ
(1) ธนาคารพาณิชย์จะต้องสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำ ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) ธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่เสนอธุรกรรมดังกล่าวในลักษณะที่จะทำให้ เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน เช่น การทำธุรกรรมในลักษณะที่เป็นตัวกลาง ในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศโดยทางอ้อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน
(3) ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานในการทำธุรกรรมเพียงพอ แก่การตรวจสอบไว้ในสถานที่ทำการของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตรวจสอบหรือจัดส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอ พร้อมทั้งจะต้องรายงานข้อมูล การทำธุรกรรมตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(4) ธนาคารพาณิชย์จะต้องชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจลักษณะธุรกรรมและความ เสี่ยงที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมอย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีหลักฐานแสดงว่าธนาคารพาณิชย์ได้ ปฏิบัติตามขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสมของลูกค้า
(5) ธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรมนี้ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ข้อ 4.4 ลักษณะธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงที่ได้รับอนุญาต
(1) ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือ เงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ในฐานะที่เป็นผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืม ภายในขอบเขตดังต่อไปนี้
(ก) ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงซึ่งมี การจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรในประเทศ หรือให้สิทธิผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืมที่จะขยาย ระยะเวลาหรือไถ่ถอนก่อนครบกำหนดตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา กับผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ ระบุไว้ในเอกสารแนบ 1 และบุคคลทั่วไปได้ โดยจะต้องมีการชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนให้แก่ บุคคลดังกล่าวในฐานะผู้ฝากหรือเจ้าหนี้
(ข)ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงซึ่งมี การจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างประเทศหรืออัตราแลกเปลี่ยน กับผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบ 1 หรือบุคคลที่มีภาระที่จะต้องส่งมอบหรือรับมอบเงินตราต่างประเทศ ในอนาคตได้ โดยจะต้องมีการชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนให้แก่บุคคลดังกล่าวในฐานะผู้ฝากหรือ เจ้าหนี้
ทั้งนี้ การรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินจากบุคคลที่มีภาระที่จะต้องส่งมอบหรือ รับมอบเงินตราต่างประเทศในอนาคต ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศเป็น ตัวแปรอ้างอิงเท่านั้น และต้องเรียกเอกสารหลักฐานที่แสดงภาระการส่งมอบหรือรับมอบเงินตราต่างประเทศในอนาคตประกอบด้วย
(ค) ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งให้สิทธิคู่สัญญาในการชำระคืนหรือรับชำระคืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นตราสารหนี้ตาม ประเภทและอัตราที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า กับผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในเอกสาร แนบ 1 นี้ได้
(ง) ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงซึ่งให้สิทธิผู้รับฝาก (หรือผู้กู้ยืม)ในการขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือผู้ฝาก (หรือ ผู้ให้กู้ยืม)ในการซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามสกุลเงินและอัตราที่ได้กำหนดไว้ ล่วงหน้าได้ เฉพาะกับสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ หรือบุคคลที่มีภาระที่จะต้องส่งมอบเงินตราต่างประเทศสกุลที่กำหนดในสัญญา อนุพันธ์แฝงในอนาคตเท่านั้น โดยการทำธุรกรรมกับบุคคลดังกล่าวธนาคารพาณิชย์จะต้องถือ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไร ค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย
(จ) ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในประกาศฉบับนี้ กับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศได้ โดย จะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปราม การเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงตาม ข้อ 4.4 (1)(ก)-(ง) ต้องมีจำนวนเงินขั้นต่ำ 10 ล้านบาทหรือเทียบเท่า
(2) ตัวแปร หรือกลุ่มตัวแปรที่นำมาใช้ในการอ้างอิงการทำธุรกรรมเงินฝากหรือ เงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ได้แก่
(ก) อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงภายในประเทศ
(ข) อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในต่างประเทศ
(ค) ราคาของกลุ่มหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ง) ราคาของกลุ่มหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
(จ) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
(ฉ) ดัชนีทางการเงิน
(ช) ตัวแปรอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเพิ่มเติม
(3) ดัชนีทางการเงินตามข้อ 4.4 (2) (ฉ) ที่ธนาคารพาณิชย์จะนำมาใช้เป็นตัวแปร อ้างอิงในการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัว แปรได้ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(ก) เป็นดัชนีทางการเงินที่เกิดจากการคำนวณโดยใช้ตัวแปรอ้างอิงที่ กำหนดไว้ในข้อ 4.4(2) หรือราคาหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
(ข) เป็นดัชนีทางการเงินที่พัฒนาโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ
(ค) เป็นดัชนีทางการเงินที่นิยมแพร่หลายในตลาดการเงินไทยหรือสากล
(ง) เป็นดัชนีทางการเงินที่มีการเสนอราคาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ผ่านสื่อที่เสนอข่าวที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ และ
(จ) เป็นดัชนีทางการเงินที่มีการกำหนดวิธีการคำนวณไว้อย่างชัดเจน โดยมี การระบุแหล่งข้อมูลของตัวแปรและปัจจัยที่นำมาใช้ในการคำนวณ ทั้งนี้ ตัวแปรและปัจจัยที่นำมาใช้ ในการคำนวณดังกล่าวต้องมีการเคลื่อนไหวตามสภาวะตลาดอย่างเป็นอิสระ โดยไม่มีบุคคลใด สามารถมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตัวแปร ปัจจัย หรือดัชนีทางการเงินนั้นได้
(4) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งมีการ ชำระคืนหรือรับชำระคืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นตราสารหนี้ จะต้องกระทำภายในขอบเขต ดังนี้
(ก) กรณีเป็นตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ หากทำธุรกรรมกับผู้ลงทุน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ คู่สัญญาดังกล่าวต้องเป็น ผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยจะต้อง ปฏิบัติตามเงื่อนไขและรายงานข้อมูลต่างๆ ตามที่เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนด โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นการขายตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศต่อให้แก่ผู้ลงทุนประเภท สถาบันในประเทศ
(ข) กรณีเป็นตราสารหนี้สกุลเงินบาท ตราสารหนี้ดังกล่าวจะต้องเป็น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจและหุ้นกู้ที่ รัฐบาลค้ำประกัน หรือตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับ BBB หรือเทียบเท่าขึ้นไปจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเพิ่มเติม
(5) การทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง หากมีการออกบัตรเงินฝาก หรือตราสารหนี้ จะต้องระบุเงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือ ยกเว้นในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกสามารถ ควบคุมดูแลการโอนเปลี่ยนมือให้อยู่ภายในกลุ่มผู้ลงทุนตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์อาจไม่กำหนดเงื่อนไขการห้ามเปลี่ยนมือดังกล่าวได้
อนึ่ง หากธนาคารพาณิชย์ใดมีข้อสงสัยว่าธุรกรรมที่จะทำนั้นอยู่ในขอบเขตที่ได้รับ อนุญาตหรือไม่ ให้หารือธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนทำธุรกรรมดังกล่าว
ข้อ 4.5 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน
การทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงและการป้องกันความเสี่ยง สำหรับธุรกรรมดังกล่าวต้องไม่ขัดกับกฎหมายและระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการ ป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 4.6 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
ธนาคารพาณิชย์ที่จะทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสอดคล้องกับการทำธุรกรรม และถือปฏิบัติ ดังนี้
(1) คณะกรรมการธนาคาร หรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความ รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในประเทศหรือต่างประเทศ (ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) จะต้องเข้าใจลักษณะธุรกรรมและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และจะต้องเป็นผู้กำหนดและอนุมัตินโยบาย ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกรรม การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายในและการตรวจสอบ เป็นลายลักษณ์อักษร
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ข้างต้นจะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารหรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่ เกี่ยวข้องในประเทศหรือต่างประเทศ (ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) ก่อนทุกครั้ง
(2) คณะกรรมการย่อยและผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลใน การประกอบธุรกรรมดังกล่าวจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในธุรกรรมดังกล่าวและความเสี่ยงที่ เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และจะต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำธุรกรรมดังกล่าวตามนโยบายซึ่งรวมถึง กลยุทธ์ที่ได้รับความเห็นชอบอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจาก การทำธุรกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกรรมอย่างเป็น ลายลักษณ์อักษรทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรม เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์ได้เคยดำเนินการวิเคราะห์ความ เสี่ยงของธุรกรรมดังกล่าวแล้ว หรือธุรกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจาก ธุรกรรมที่ธนาคารพาณิชย์ได้เคยดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว
(3) นโยบายซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกรรม การบริหารความเสี่ยง และ การควบคุมภายในและการตรวจสอบ อย่างน้อยจะต้องครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้
(ก) การทำธุรกรรม ต้องครอบคลุมขอบเขตและลักษณะของธุรกรรมที่ สามารถทำได้ทั้งในด้านที่เป็นผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืม และผู้ฝากหรือผู้ให้กู้ยืม อย่างชัดเจน โดยอาจ แบ่งเป็น ประเภทตัวแปรอ้างอิงหรือกลุ่มของตัวแปรอ้างอิงของธุรกรรมที่สามารถทำได้ ซึ่งในการ พิจารณาจะต้องทำการพิจารณาข้อมูล และวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากประเภท โครงสร้างธุรกรรม และตัวแปรอ้างอิงแต่ละตัวแปรหรือกลุ่มของตัวแปรอ้างอิงอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะต้องกำหนด เพดานขั้นสูงของการทำธุรกรรมโดยอาจแบ่งเป็นประเภทตามความเหมาะสม
(ข) การบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งอย่างน้อย จะต้องครอบคลุมถึง โครงสร้างองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดการบริหาร (วัด ติดตาม บริหาร และ ควบคุม) ความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ระบบงานที่เหมาะสมในการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับ ลักษณะความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ บุคลากรที่รับผิดชอบเป็นลำดับขั้น การกำหนดเพดานความเสี่ยงต่างๆ ให้เหมาะสมกับระบบการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น PV01,VaR, Stop loss, Delta, Gamma, Vega, Correlation risk เป็นต้น รวมทั้งจะต้องกำหนดให้มีการรายงานต่อ คณะกรรมการธนาคาร หรือโดยผ่านคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับมอบหมาย แล้วสรุปรายงาน ประเด็นสำคัญให้คณะกรรมการธนาคารทราบ หรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่ เกี่ยวข้องในประเทศหรือต่างประเทศ (ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) อย่างสม่ำเสมอ
(ค) การควบคุมภายในและตรวจสอบ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงการ แบ่งแยกหน้าที่ และการจัดโครงสร้างองค์กร สายบังคับบัญชาที่เหมาะสมและชัดเจน รวมถึงการ รายงานการติดตามการปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติตามลำดับชั้นการรายงานอย่างต่อเนื่อง
(4) ธนาคารพาณิชย์จะต้องกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการทำธุรกรรมทั้งใน กรณีที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออกตราสาร และในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ลงทุนในตราสาร การบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และการควบคุมภายใน ไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรโดย ครอบคลุมถึงขั้นตอนในทำธุรกรรม เช่น การขออนุมัติตามอำนาจในการอนุมัติของผู้บริหารแต่ละ ระดับ การพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนและหลังทำธุรกรรม การตรวจสอบเพดาน คงเหลือ การพิจารณาสภาพคล่องของสภาวะตลาดในการบริหารความเสี่ยงของธุรกรรมนั้นๆ เป็นต้น และจะต้องครอบคลุมถึงกระบวนการและระบบที่ใช้ในการวิเคราะห์ ติดตามและควบคุมความเสี่ยง ตั้งแต่กระบวนการในการวิเคราะห์ความเสี่ยง การติดตามความเสี่ยงซึ่งรวมถึงการทดสอบ Stress Test ด้วย ขั้นตอนการปฏิบัติกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ไปในทิศทางที่เป็นผลลบ กับธนาคารพาณิชย์ โดยอาจพิจารณาในลักษณะผลกระทบต่อ Portfolio โดยรวมก็ได้ การควบคุม ระดับความเสี่ยงให้อยู่ภายในเพดาน รวมทั้งขั้นตอนการรายงานและการปฏิบัติกรณีเกิดความ เสียหายเกินกว่าเพดานที่กำหนด การทดสอบประสิทธิภาพ ความถูกต้องและแม่นยำของระบบบริหาร ความเสี่ยงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น มีการทดสอบ Back Test ของแบบจำลอง Value at Risk อย่างสม่ำเสมอ วิธีการบันทึกบัญชีของรายการดังกล่าว ระบบ/วิธีการทางภาษีอากร การจัดทำรายงาน และประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ ขั้นตอนการปฏิบัติดังกล่าว จะต้องกำหนดระยะเวลาหรือความถี่ในการปฏิบัติตามความเหมาะสมด้วย
(5) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีหน่วยงานบริหารความเสี่ยงที่เป็นอิสระ (Risk Management Unit) จากหน่วยงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งในด้านการจัดโครงสร้างองค์กร และในทางปฏิบัติ โดยหน่วยงานดังกล่าวจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะสามารถ ทำหน้าที่ประเมิน ติดตาม ควบคุม ตรวจสอบดูแลการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของธนาคาร พาณิชย์นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะต้องมีการรายงานโดยตรงต่อคณะกรรมการธนาคารผ่านทาง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอสำหรับกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ หน่วยงานบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอาจตั้งอยู่ในต่างประเทศก็ได้ โดยจะต้องมีการแจ้งให้หน่วยงาน ในประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ทราบอย่างสม่ำเสมอ
(6) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีบุคลากรในแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงาน ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง หน่วยงานบริหารความเสี่ยง หน่วยงานด้านปฏิบัติการ และหน่วยงานควบคุม ภายในที่เพียงพอที่จะรองรับการประกอบธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยบุคลากร ดังกล่าวจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถและประสบการณ์เพียงพอ
(7) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีมาตรการในการควบคุมและบริหารความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ สามารถสะท้อนและรองรับความเสี่ยงแต่ละประเภทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ อย่างชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ ทั้งนี้ ให้เน้นประสิทธิภาพของระบบบริหารความเสี่ยง 1 ด้านอัตรา ดอกเบี้ย (Interest rate Risk) ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Risk) ความเสี่ยงด้าน ราคาตราสารทุน (Equity Price Risk) ความเสี่ยงทั้งหมดที่เกิดจากการประกอบธุรกรรม Options เช่น Delta Vega Gamma Theta และ Rho ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ซึ่งรวมถึง Pre-settlement Risk และ Settlement Risk และความเสี่ยงที่เกิดจากการ เปลี่ยนแปลงของค่าสหสัมพันธ์ (Correlation risk) และมีการนำระบบบริหารความเสี่ยงดังกล่าวไปใช้ ในการควบคุมความเสี่ยงในทางปฏิบัติ เว้นแต่กรณีที่ธนาคารพาณิชย์บริหารความเสี่ยงในลักษณะ Back to Back ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีความเสี่ยงด้านตลาด จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบรองรับความเสี่ยงดังกล่าว
(8) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ใช้ในการประเมินมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ที่เหมาะสม ชัดเจน และสะท้อนมูลค่าตลาดที่แท้จริง และมีการประเมิน มูลค่ายุติธรรมของยอดคงค้างในส่วนของอนุพันธ์แฝง2 ณ ทุกสิ้นวันทำการ โดยในการประเมินมูลค่า ยุติธรรม ธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะที่ ยังไม่มีมาตรฐานบัญชีดังกล่าว ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีสากล โดยสามารถสรุปได้ ตามเอกสารแนบ 2 นอกจากนี้ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ประเมินมูลค่ายุติธรรมโดยใช้เทคนิคการประเมินมูลค่า 3 เทคนิคดังกล่าวจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระให้การรับรองด้วย อนึ่ง ในกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบวิธีการที่ใช้ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมที่กล่าวแล้วพบว่าธนาคาร พาณิชย์ยังถือปฏิบัติไม่รัดกุมพอหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจ พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
(9) ธนาคารพาณิชย์ที่จะทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงซึ่งมีการจ่าย ผลตอบแทนอ้างอิงกับกลุ่มของตัวแปร หรือมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนีทางการเงิน หรือมีการ จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มของตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยไม่มีการ กำหนดแน่ชัดว่าเป็นตัวแปรใดในกลุ่มตั้งแต่วันเริ่มต้นของสัญญาแต่กำหนดเป็นเงื่อนไขแทน ซึ่งไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมดังกล่าวโดยการทำธุรกรรมในส่วนของอนุพันธ์ทางการเงิน ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการแต่เป็นฐานะตรงกันข้าม (Back to back) ต้องมีมาตรการและระบบดังต่อไปนี้
(ก) ระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้ม อัตราผลตอบแทนของตัวแปรแต่ละประเภทที่ใช้อ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาหุ้น เป็นต้น
(ข) ระบบบริหารการลงทุนในลักษณะ Portfolio Model ที่สามารถวิเคราะห์ จัดสรรอัตราส่วนการลงทุนในตัวแปรแต่ละประเภท (Asset Allocation) เพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมดังกล่าว โดยแบบจำลองที่กล่าวจะต้องสามารถวัดและคาดการณ์ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตัวแปรแต่ละประเภท และผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในลักษณะ Portfolio ได้อย่างน้อยทุกวัน รวมทั้งจะต้องครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างตัวแปรที่ใช้อ้างอิงด้วย
(ค) มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวิเคราะห์ ทบทวน และปรับอัตราส่วน (Re-Balance) ของการลงทุนในตัวแปรแต่ละประเภท (Asset Allocation) ให้มีความเหมาะสมและ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางของภาวะตลาดเงิน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งทำให้การลงทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนที่จะจ่ายให้กับผู้ลงทุน ณ งวดการจ่ายดอกเบี้ย หรือ ณ วันครบกำหนด อย่างต่อเนื่อง
(ง) ระบบงานสำหรับวัด ติดตาม และควบคุมความเสี่ยงทั้งหมดที่เกิดขึ้นจาก การทำธุรกรรมดังกล่าวให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Limit) อย่างน้อยทุกวัน โดยระบบ บริหารความเสี่ยงดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงความเสี่ยงทั้งหมดที่เกิดจากการทำธุรกรรม Options ที่มี สินทรัพย์อ้างอิงเป็นกลุ่มของสินทรัพย์ เช่น Vega Delta Gamma และ Cross-Delta ระหว่างตัวแปรที่ใช้ อ้างอิงด้วย
(10) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการตรวจสอบระบบควบคุมภายใน และการปฏิบัติ ตามมาตรการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีระบบข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการตรวจสอบ และเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ (ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) โดยหน่วยงานดังกล่าวอาจตั้งอยู่ในต่างประเทศก็ได้
ข้อ 4.7 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลและการรายงาน
(1) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงจะต้อง จัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรม ได้แก่ เลขที่อ้างอิง วันที่ทำธุรกรรม ประเภทธุรกรรม คู่สัญญา ฐานะการทำธุรกรรม (รับฝาก/กู้ยืม หรือฝาก/ให้กู้ยืม) ตัวแปรอ้างอิง อนุพันธ์แฝง สกุลเงิน ของธุรกรรม จำนวนเงิน จำนวนเงินเป็นสกุลบาทเทียบเท่า Mark to Market/Delta Equivalent วัน ครบกำหนด ในรูปสื่อคอมพิวเตอร์ตามรูปแบบที่กำหนดตามเอกสารแนบ 3 และจัดส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประจำทุกเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน โดยจัดส่งผ่านทางระบบ บริหารข้อมูลผ่านทางช่องทาง DMS DA(Extranet) ตลอดจนจัดเก็บหลักฐานในการทำธุรกรรม ดังกล่าวไว้ที่ธนาคารพาณิชย์เอง เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบ หรือจัดส่งสำเนาให้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอ
(2) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง จะต้องดำเนินการแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อมีการนำเสนอตัวแปรอ้างอิงที่เป็น ดัชนีทางการเงินใดเป็นครั้งแรก หรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะธุรกรรมในรายละเอียด หรือทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับกลุ่มของตัวแปรเป็นครั้งแรก หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการทำธุรกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการภายใน 7 วันทำการ นับจากวันที่ทำธุรกรรมดังกล่าว โดยต้องรายงานลักษณะของธุรกรรม ซึ่งแสดงถึงส่วนประกอบ ของอนุพันธ์ทางการเงินพื้นฐาน Termsheet และวิธีการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์หยุดทำธุรกรรมในลักษณะดังกล่าวได้หากในการพิจารณาเห็นว่าธุรกรรมดังกล่าวไม่สอดคล้องตามหลักการและกรอบการทำธุรกรรมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(3) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งให้สิทธิคู่สัญญาในการชำระคืนหรือรับชำระคืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นตราสารหนี้ จะต้องรายงานการประกอบธุรกรรมการซื้อสิทธิที่จะขายหรือขายสิทธิที่จะซื้อตราสารหนี้ที่แฝงอยู่กับการ รับเงินฝากหรือการกู้ยืมเงิน หรือธุรกรรมการขายสิทธิที่จะขายหรือซื้อสิทธิที่จะซื้อตราสารหนี้ที่ แฝงอยู่กับการฝากเงินหรือการให้กู้ยืมเงิน ให้ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association(TBMA)) โดยมีรายละเอียดตามที่ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้กำหนด ทั้งนี้ ต้องจัดเก็บ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตรวจสอบ หรือจัดส่งสำเนาให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอด้วย
(4) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งให้สิทธิคู่สัญญาในการชำระคืนหรือรับชำระคืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศกับผู้ลงทุนสถาบันที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศ จะต้องรายงานข้อมูลต่างๆ ตามที่กำหนดในหนังสืออนุญาตของเจ้าพนักงานควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นการขายตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศต่อให้แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันในประเทศ
ข้อ 4.8 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและการบันทึกบัญชี
(1) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ต้องเปิดเผย ข้อมูลและบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะที่ยังไม่มี มาตรฐานดังกล่าว ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีสากล โดยในเรื่องของการจัด ประเภทรายการและการรับรู้กำไรขาดทุนจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับธุรกรรมเงินฝากหรือ เงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง สามารถสรุปได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในเอกสารแนบ 4
(2) ในการพิจารณาจัดประเภทและบันทึกบัญชีสำหรับธุรกรรมเงินฝากหรือเงิน กู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงนั้น จะต้องพิจารณาทั้งรูปแบบและเนื้อหาในสัญญาร่วมกับความตั้งใจและ ความสามารถในการลงทุน รวมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างอนุพันธ์แฝงและตราสารหลักประกอบด้วย ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดทำกระบวนการที่ใช้ในการพิจารณาจัดประเภท และบันทึกบัญชี ตลอดจนจัดเก็บหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณาดังกล่าว ไว้เพื่อให้ ผู้สอบบัญชีและธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ในการตรวจสอบ หรือนำส่งเมื่อมีการร้องขอด้วย
(3) สำหรับธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงที่ธนาคารพาณิชย์ ได้ทำไปก่อนที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้เปลี่ยนการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชี รวมทั้งประเมินมูลค่ายุติธรรมให้ถูกต้องตามข้อ 4.8 และ 4.6 (8) ตั้งแต่งวดการบัญชีที่เริ่มในหรือ หลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป สำหรับงวดบัญชี 6 เดือนหลังที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ให้ธนาคารพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง รวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่องบการเงินและเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย
ข้อ 4.9 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลลูกค้า
(1) การทำธุรกรรมกับคู่สัญญาที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์นั้น ธนาคารพาณิชย์ จะต้องมีการวิเคราะห์พร้อมทั้งมีหลักฐานแสดงว่าธนาคารพาณิชย์ได้ทำตามขั้นตอนการพิจารณา ความเหมาะสมของลูกค้าก่อนทำธุรกรรม (Client Suitability Analysis) ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้กำหนดต่อไป
(2) การทำธุรกรรมต้องชี้แจงให้คู่สัญญาเข้าใจลักษณะธุรกรรมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เงื่อนไขและวิธีการคำนวณและการจ่ายชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทน และการคิดค่าปรับ ในกรณีที่ลูกค้าต้องการถอนเงินฝากหรือเรียกคืนเงินให้กู้ยืมก่อนครบกำหนดสัญญาให้ลูกค้าเข้าใจ อย่างชัดเจนก่อนตกลงทำสัญญา รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลแก่ลูกค้าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ กำหนดต่อไป
(3) ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับคำร้องเรียนจากลูกค้า และมีการรายงานต่อคณะผู้บริหารเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไข และป้องกันการเกิดปัญหาที่เหมาะสม
ข้อ 4.10 การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (1) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง4 จะต้องประเมินมูลค่ายุติธรรมของอนุพันธ์แฝง หรือประเมินมูลค่ายุติธรรมธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืม ที่มีอนุพันธ์แฝงทั้งจำนวนในกรณีที่ไม่สามารถประเมินมูลค่ายุติธรรมส่วนที่เป็นอนุพันธ์แฝงได้ อย่างน่าเชื่อถือนอกจากนี้ จะต้องประเมินมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรม CDO Credit Linked Notes/Deposits First to default Credit Linked Notes/Deposits Proportionate Credit Linked Notes/Deposits ที่ได้ทำไปแล้ว รวมถึงธุรกรรมที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง(Hedging Instruments) สำหรับธุรกรรมตามกล่าวข้างต้น (ถ้ามี)5 มารวมคำนวณด้วย
ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินมูลค่ายุติธรรมตามความในวรรคหนึ่งอย่าง ต่อเนื่อง6 หากปรากฏว่ามีผลขาดทุนสุทธิ ให้นำผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวมาหักออกจากเงินกองทุน ณ สิ้นงวดการบัญชีล่าสุดของธนาคารพาณิชย์ ถ้ามีผลทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะต้องกำหนดไว้อย่างละเอียด ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษรโดยรวมถึงการรายงาน บุคคลที่เกี่ยวข้องตามระดับความรุนแรงและระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนด้วย สำหรับปัญหาที่รุนแรงจะต้องรายงานต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาสั่งการและเร่ง ดำเนินการแก้ไขด้วย รวมทั้งจะต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบถึงแนวทางการแก้ปัญหา ด้วย
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงเพิ่มเติม ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินมูลค่ายุติธรรมตามความในวรรคหนึ่งก่อนทุกครั้ง ถ้ามีผล ขาดทุนสุทธิให้นำมาหักออกจากเงินกองทุน ณ สิ้นงวดการบัญชีล่าสุดของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เงินกองทุนที่คำนวณได้จะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราตามที่กฎหมายกำหนดและมีเพียงพอที่จะรองรับการ ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงที่ต้องการจะทำเพิ่ม มิฉะนั้น ธนาคารพาณิชย์จะทำ ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงดังกล่าวไม่ได้ นอกจากนี้ แม้จะมีเงินกองทุนรองรับ เพียงพอที่จะทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงดังกล่าวแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะต้อง ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามความในวรรคหนึ่งและวรรคสองต่อไปด้วย
(2) ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงจะต้อง ดูแลให้สัญญามีผลบังคับตามกฎหมาย และจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ หลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน หลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาด หลักเกณฑ์การดำรง สินทรัพย์สภาพคล่อง รวมไปถึงหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธุรกรรมเงินฝากหรือ เงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ข้อ 4.11 ข้อกำหนดอื่น
(1) ห้ามธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงเกินวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(2) การทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงของสาขาธนาคารพาณิชย์ ไทยในต่างประเทศ ให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลของประเทศที่สาขานั้นตั้งอยู่ และ ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวจะต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพตามที่ระบุไว้ในข้อ 4.6 และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 4.7 4.10 ของประกาศฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ ไม่รวมถึง กรณีสาขาที่กล่าวทำธุรกรรมกับบุคคลในประเทศไทย ซึ่งจะต้องถือปฏิบัติตามกรอบและข้อกำหนดตามประกาศฉบับนี้ด้วย
ข้อ 4.12 การเปลี่ยนแปลงกรอบการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝาก หรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงในอนาคตตามความเหมาะสม รวมทั้งอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาสั่งการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบพบการถือปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ใดที่ไม่รัดกุมหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
5.วันเริ่มต้นการถือปฏิบัติ
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
เอกสารแนบ 1
เอกสารแนบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม
เงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง
ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
รายชื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
1.ธนาคารพาณิชย์
2.บริษัทเงินทุน
3.บริษัทหลักทรัพย์
4.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
5.บริษัทประกันวินาศภัย
6.บริษัทประกันชีวิต
7.นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
8.ธนาคารแห่งประเทศไทย
9.ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
10.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
11.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
12.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
13.กองทุนรวม
14.คู่สัญญาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเพิ่มเติม
หมายเหตุ นักลงทุนประเภทสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่นของทางการ
จะต้องได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมที่กล่าวจากหน่วยงานนั้นด้วย
เอกสารแนบ 2
การประเมินมูลค่ายุติธรรม
ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง หรืออนุพันธ์แฝงให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามแนวทางของ International Accounting Standard No. 39 Financial Instrument : Recognition and Measurement (IAS 39) รวมทั้งฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดแนวทางการวัดมูลค่ายุติธรรมที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนี้
1. หากมีราคาที่เผยแพร่อยู่ในตลาดที่มีการซื้อขายคล่องตัว (Quoted price in an active market) ให้ใช้ราคาดังกล่าวในการประเมินมูลค่ายุติธรรม เนื่องจากถือได้ว่าเป็นราคาที่สามารถเชื่อถือ ได้ดีที่สุด
2. ในกรณีที่ไม่มีการซื้อขายในตลาดให้ใช้เทคนิคการประเมินมูลค่า ดังนี้
2.1 ราคาล่าสุดที่มีการซื้อ/ขายระหว่างบุคคลที่มีความรู้และความเต็มใจในการ ตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมเพื่อวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจปกติ และสามารถต่อรองราคาได้อย่างเป็นอิสระในลักษณะของผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
2.2 มูลค่ายุติธรรมของตราสารอื่นที่มีลักษณะเหมือนกับตราสารที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องการหามูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ
2.3 วิธีการคิดลดกระแสเงินสด
2.4 วิธีการหามูลค่า Option (Option Pricing Model) หรือ
2.5 เทคนิคการประเมินมูลค่าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายระหว่างผู้เล่นในตลาดดังกล่าว ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคนิคที่ให้ราคาที่เชื่อถือได้โดยมีการซื้อ/ขายกันจริงในตลาด
ทั้งนี้ เทคนิคการประเมินมูลค่าจะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- ครอบคลุมปัจจัยทุกอย่างที่ผู้เล่นในตลาดใช้ในการพิจารณากำหนดราคา
- ใช้ข้อมูลตลาดให้มากที่สุด และใช้ข้อมูลของตนเองให้น้อยที่สุด
- สอดคล้องกับเทคนิคและวิธีการซึ่งเป็นที่ยอมรับ และสอดคล้องกับหลักวิชาการ
- มีการทดสอบความถูกต้องเป็นประจำ (Back testing)
คำอธิบายแบบรายงานธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง
1. Reference Number ให้รายงานเลขที่อ้างอิงสำหรับธุรกรรม เช่น เลขที่บัญชี เลขที่ Confirmation หรือเลขที่สัญญา
2. Transaction Date ให้รายงานทั้งวันทำสัญญา และวันเริ่มต้นของสัญญาในรูปแบบ DD/MM/YY
3. Types ให้รายงานประเภทของธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรหรือมีอนุพันธ์แฝงซึ่งแบ่งได้เป็น
3.1 ตั๋วแลกเงิน (B/E) หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N)
3.2 หุ้นกู้ (Debenture)
3.3 ตั๋วเงินฝาก (NCD)
3.4 สัญญาการฝากเงินประเภทมีระยะเวลา
3.5 สัญญาการกู้ยืมเงินประเภทมีระยะเวลา
3.6 อื่น ๆ
4. Counterparty ให้ระบุประเภทและชื่อคู่สัญญา โดยประเภทคู่สัญญาอาจแบ่งได้เป็น
4.1 ธพ. 4.7 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
4.2 บง. 4.8 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
4.3 บล. 4.9 กองทุนส่วนบุคคล
4.4 บค. 4.10 บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (รวม บ. ประกันภัย)
4.5 บ.ประกันชีวิต 4.11 บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ
4.6 กองทุนรวม 4.12 อื่น ๆ
5. Issuer or Investor ให้รายงานว่า ธพ. ทำธุรกรรมดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ออกตราสารหรือผู้ลงทุนโดยให้แยกรายงานเป็นตารางในฐานะผู้ออกตราสารและตารางในฐานะผู้ลงทุน
6. Reference Variables ให้ระบุประเภทตัวแปรอ้างอิงโดยแบ่งประเภทตามที่ระบุไว้ในข้อ 4.4 (2)ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หรือระบุเป็นกลุ่มของตัวแปรอ้างอิง หรือการคืนเป็น ตราสารหนี้หรือเงินตราต่างประเทศ
7. Embedded Derivatives ให้ระบุรายละเอียดการทำอนุพันธ์แฝง
8. Original Currency and amount of the Transaction ให้รายงานสกุลเงินและจำนวนเงินในการทำธุรกรรม
9. Baht Equivalent ให้รายงานจำนวนเงินในการทำธุรกรรมคิดเป็นเงินบาทเทียบเท่าโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศทางเวบไซต์ (website) ณ วันที่รายงาน ทั้งนี้ ให้ใช้อัตรากลาง(Mid rate) ระหว่างอัตราซื้อถัวเฉลี่ยทางโทรเลข (T/T) กับอัตราขาย ถัวเฉลี่ย
10. Delta Equivalent or MTM/Maximum Delta or MTM (กรณีเป็นการขายเงินตราต่างประเทศ (Short Position) ให้แสดงด้วยเครื่องหมาย (-))
- ให้รายงานมูลค่าเทียบเท่า Cash position ของสัญญา Currency Options (Delta Equivalent) ที่เกิดจากการทำธุรกรรมนี้ ณ วันที่รายงาน และ Delta Equivalent ที่สูงที่สุดของสัญญานั้น ๆ ที่เกิดจากการเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวของทุกงวดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นของธุรกรรม หรือ
- รายงานมูลค่าที่ได้จากการ Mark-to-market อนุพันธ์ทางการเงินทั้งหมดที่แฝงอยู่กับการทำธุรกรรมที่กล่าว ณ วันที่รายงาน และมูลค่า Mark-to-market ที่สูงที่สุดที่เกิดจากการเปรียบเทียบ ข้อมูลดังกล่าวของทุกงวดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นของธุรกรรม
อย่างไรก็ดี การรายงานตามหัวข้อนี้ไม่ใช้บังคับกับการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มี อนุพันธ์แฝง ซึ่งอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
11. Maturity Date ให้รายงานวันครบกำหนดสัญญาในรูปแบบ DD/MM/YY
12. การรายงานให้รายงานเรียงลำดับตาม Trade Date
เอกสารแนบ 4
การจัดประเภทและการรับรู้กำไร/ขาดทุนจากการประเมินมูลค่ายุติธรรม ในการจัดประเภทและการรับรู้กำไร/ขาดทุนจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับธุรกรรมเงินฝาก หรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง หรืออนุพันธ์แฝง ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามแนวทางของ International Accounting Standard No.39 Financial Instrument : Recognition and Measurement(IAS 39) รวมทั้งฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดแนวทาง ดังกล่าว ดังนี้
(ก) หากอนุพันธ์แฝงไม่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตราสารหลัก (Not closely related) ให้ธนาคารพาณิชย์ต้องแยกส่วนของอนุพันธ์แฝงออกจากตราสารหลัก และประเมินมูลค่า ยุติธรรมของอนุพันธ์แฝงดังกล่าวรวมทั้งรับรู้กำไร/ขาดทุนในงบกำไรขาดทุน ส่วนตราสารหลักให้ ถือปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถแยกส่วนของอนุพันธ์ แฝงออกจากตราสารหลักได้ 7 ให้ประเมินมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าวทั้งจำนวนและรับรู้ กำไร/ขาดทุนในงบกำไรขาดทุน
(ข) หากอนุพันธ์แฝงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตราสารหลัก (Closely related) ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องแยกส่วนของอนุพันธ์แฝงออกจากตราสารหลัก โดยให้จัดประเภทตรา สารตามมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้องกับตราสารหลักดังกล่าว
7 การพิจารณาว่าธนาคารพาณิชย์สามารถแยกอนุพันธ์ทางการเงินออกจากตราสารหลักได้หรือไม่ ให้พิจารณาครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่มีการรับรู้รายการสินทรัพย์ทางการเงิน รวมถึงวันที่ต่อๆ ไปในงบการเงิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ