นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday November 29, 2007 11:40 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                 16 พฤศจิกายน 2550      
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ฝนส.(21) ว.179/2550 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง
การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุน ในตราสาร Collateralized Debt Obligation ได้ตั้งแต่ปี 2547 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และกรอบ ในการทำธุรกรรมรวมทั้งการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องไว้แล้วนั้น
เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงการที่จะต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับ การทำธุรกรรมดังกล่าวอย่างรัดกุม และมีการบันทึกบัญชีและการประเมินมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรมดังกล่าวที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากล ในสภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความ ผันผวนเพิ่มมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว โดยยกเลิก ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2547 และขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522
สรุปสาระสำคัญในการแก้ไขประกาศครั้งนี้
1. ความเพียงพอของเงินกองทุนที่จะรองรับการทำธุรกรรม
ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรมและนำผลขาดทุนสุทธิไปหักออกจากเงินกองทุน (รายละเอียดตามที่กำหนดในประกาศ) โดยเงินกองทุนที่คำนวณได้นั้น ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (8.5% ในกรณีของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ และ 7.5% ในกรณีของสาขาของธนาคารต่างประเทศ) และมีเพียงพอที่จะรองรับการทำธุรกรรมใหม่ มิฉะนั้นธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกรรมเพิ่มไม่ได้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องประเมิน มูลค่ายุติธรรมของธุรกรรม และคำนวณเงินกองทุนตามที่กล่าวอย่างต่อเนื่อง
2. การจัดประเภทเงินลงทุน การบันทึกบัญชี และการประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับธุรกรรม Collateralized Debt Obligation
ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดประเภท บันทึกบัญชี และประเมินมูลค่ายุติธรรมธุรกรรม Collateralized Debt Obligation ตามมาตรฐานการบัญชีสากล ซึ่งปัจจุบันคือ International Accounting Standard No.39 Financial Instrument : Recognition and Measurement
3. กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
เพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติและสอดคล้องกับความซับซ้อนและความเสี่ยงของธุรกรรมที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีในส่วนของธุรกรรมที่ได้ทำไปก่อนหน้าที่ประกาศ มีผลบังคับใช้ ให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีให้เป็นไปตาม ข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว ตั้งแต่งวดการบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป สำหรับงวดบัญชี 6 เดือนหลังที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ให้ธนาคารพาณิชย์เปิดเผย ข้อมูลการทำธุรกรรมรวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่องบการเงินและเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในประกาศนี้ ในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน)
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย : ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุน
ในตราสาร Collateralized Debt Obligation ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทรศัพท์ : 0-2283-6820 0-2283-5307
หมายเหตุ [
] มีการจัดประชุมชี้แจงในวันที่..................ณ
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ สนส. 8/2550
เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation
1. เหตุผลในการออกประกาศ
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation ได้ตั้งแต่ปี 2547 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการลงทุนและบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องไว้แล้วนั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเห็นว่าในสภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ไทยควรมีระบบบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมเพื่อรองรับธุรกรรม ที่กล่าว และมีการบันทึกบัญชีและการประเมินมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารดังกล่าว ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากล ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นสมควรยกเลิกประกาศ ดังกล่าว โดยปรับปรุงมาเป็นประกาศฉบับนี้แทน
2. อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation ตามข้อกำหนดในประกาศนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ยกเว้นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย
4. เนื้อหา
ข้อ 4.1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2547
ข้อ 4.2 ตราสาร Collateralized Debt Obligation (CDO) หมายถึง ตราสารที่ออกโดย นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงกระจายตัวอยู่ใน อุตสาหกรรมต่างประเภท หรือต่างภูมิภาคกัน และมีข้อตกลงว่าจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทน ทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้ทรงตราสารโดยอ้างอิงกับเงื่อนไขหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ (Credit Event) ของกลุ่มสินทรัพย์อ้างอิงที่กำหนดไว้ คุณภาพของกลุ่มสินทรัพย์อ้างอิง และลำดับของสิทธิที่กำหนดไว้ในตราสาร
สำหรับสินทรัพย์อ้างอิงตามวรรคแรก อาจเป็นบัญชีลูกหนี้หรือตราสารหนี้(Cashflow CDO) หรือเป็นการทำข้อตกลงรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิต (Synthetic CDO) เช่น สัญญา Credit Default Swap โดยผู้ออกตราสาร CDO จะนำเงินที่ได้รับจากการออกขายตราสารไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ชั้นดี ก็ได้
ข้อ 4.3 ธนาคารพาณิชย์จะลงทุนในตราสาร Synthetic CDO ได้ เฉพาะในกรณี ที่นิติบุคคลเฉพาะกิจฯ จะนำเงินที่ได้รับจากการออกขายตราสารดังกล่าวไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ชั้นดีที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ AA หรือเทียบเท่า ขึ้นไป จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสากลในกรณีที่เป็นตราสารซึ่งออกขายในต่างประเทศ
ข้อ 4.4 ก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสาร CDO ทุกครั้ง ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมิน มูลค่ายุติธรรมของการลงทุนในตราสาร CDO และการทำธุรกรรม Credit Linked Notes/Deposits First to default Credit Linked Notes/Deposits Proportionate Credit Linked Notes/Deposits และธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง ที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงธุรกรรมที่ใช้ใน การป้องกันความเสี่ยง (Hedging Instruments) สำหรับธุรกรรมตามที่กล่าวข้างต้น (ถ้ามี)1หากมีผลขาดทุนสุทธิ ให้นำมาหักออกจากเงินกองทุน ณ สิ้นงวดการบัญชีล่าสุดของธนาคารพาณิชย์ก่อน โดยเงินกองทุนที่ยังเหลืออยู่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราตามที่กฎหมายกำหนดและมีพียงพอที่จะรองรับธุรกรรม CDO ที่ต้องการจะลงทุนเพิ่ม มิฉะนั้น ธนาคารพาณิชย์จะลงทุนในธุรกรรม CDO ดังกล่าวไม่ได้
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องประเมินมูลค่ายุติธรรมของตราสาร CDO อย่างต่อเนื่อง2 และนำผลขาดทุนสุทธิจากการประเมินมูลค่าดังกล่าวมาหักออกจาก เงินกองทุน ณ สิ้นงวดการบัญชีล่าสุดของธนาคารพาณิชย์ โดยผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวให้รวม ผลจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรม Credit Linked Notes/Deposits First to default Credit Linked Notes/Deposits Proportionate Credit Linked Notes/Deposits และธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงที่ได้ทำไปแล้ว รวมถึงธุรกรรมที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง (Hedging Instruments) สำหรับธุรกรรมตามที่กล่าวข้างต้น (ถ้ามี) มาคำนวณด้วย หากมีผลทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการตาม นโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร โดยรวมถึงการรายงานต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตามระดับความรุนแรงของปัญหาและระยะเวลาในการดำเนินการด้วย โดยนโยบายที่กล่าวจะต้องอนุมัติโดยคณะกรรมการธนาคาร สำหรับปัญหาที่รุนแรงจะต้องรายงาน ต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาสั่งการ และแจ้งให้ ธปท. รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วย
ข้อ 4.5 ห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร CDO ที่มีสินทรัพย์อ้างอิง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี
(1) ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (บัญชีมาร์จิ้น)
(2) ตราสารที่นับเข้าเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ผู้ลงทุน
(3) ตราสาร CDO
ข้อ 4.6 ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะลงทุนในตราสาร CDO จะต้องลงทุนเฉพาะใน ตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ BBB ขึ้นไปหรือเทียบเท่าจากสถาบัน จัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสากลในกรณีที่เป็น ตราสารซึ่งออกขายในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากภายหลังตราสารดังกล่าวถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ลงจนต่ำกว่าระดับ BBB ธนาคารพาณิชย์จะสามารถถือตราสารต่อไปได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการธนาคารเท่านั้น โดยธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บหลักฐานในการอนุมัติดังกล่าว ไว้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบด้วย
ข้อ 4.7 ธนาคารพาณิชย์ที่ลงทุนในตราสาร CDO จะต้องมีความรู้และความเข้าใจ ในลักษณะความเสี่ยงของสินทรัพย์อ้างอิงปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่า ของสินทรัพย์อ้างอิงประเภทต่างๆ รวมทั้งจะต้องมีการวิเคราะห์แนวโน้มของปัจจัยความเสี่ยง ที่กล่าว เพื่อรองรับการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงนั้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตลอดระยะเวลา การลงทุนตลอดจนการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่สินทรัพย์อ้างอิงที่กล่าวกระจุกตัว ในสินทรัพย์อ้างอิงประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือผู้ออกสินทรัพย์อ้างอิงรายใดรายหนึ่ง หรือ อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งด้วย นอกจากนี้ หากสินทรัพย์อ้างอิง ของตราสารนี้เป็น Structured Finance Securities เช่น Asset Backed Securities, Mortgage Backed Securities ฯลฯ ธนาคารผู้ลงทุนก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจในความเสี่ยงของสินทรัพย์อ้างอิงของ Structured Finance Securities ด้วย
ข้อ 4.8 ให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร CDO ที่ออกโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกรรม CDO ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ หรือคู่สัญญาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเพิ่มเติมเท่านั้น
ข้อ 4.9 ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและ เหมาะสม และให้ถือปฏิบัติดังนี้
(1) คณะกรรมการธนาคาร หรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่เกี่ยวข้องในประเทศหรือต่างประเทศในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ จะต้องเข้าใจลักษณะของตราสารและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้กำหนดและอนุมัตินโยบาย และกลยุทธ์ เกี่ยวกับการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนโยบายและ กลยุทธ์การลงทุนจะต้องระบุขอบเขตและประเภทของธุรกรรมที่สามารถลงทุนได้อย่างชัดเจนรวมทั้งเพดานขั้นสูงของการลงทุนซึ่งอาจแยกเป็นประเภทตามความเหมาะสม โดยจะต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากประเภทและโครงสร้างของธุรกรรม CDO ที่อนุญาตให้ลงทุนอย่างละเอียดโดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับโครงสร้างที่ไม่เป็นมาตรฐาน หรือมีการ Leverage ความเสี่ยง เป็นต้น สำหรับนโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงควรครอบคลุมถึง โครงสร้าง การบริหารความเสี่ยง ผู้รับผิดชอบในแต่ละระดับขั้น ระบบงานที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงการกำหนดเพดานความเสี่ยงต่างๆ เพื่อควบคุมความเสี่ยง เช่น Stop loss limit และ Limit ที่เกี่ยวข้องกับการกระจุกตัวในทุกปัจจัยที่กล่าวในข้อ 4.7 และการรายงานความเสี่ยงต่อ คณะกรรมการธนาคารหรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในประเทศ หรือต่างประเทศในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนโยบายและกลยุทธ์การลงทุนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ธนาคาร หรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในประเทศหรือต่างประเทศ ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ก่อนทุกครั้ง
(2) คณะกรรมการย่อยและผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการลงทุนดังกล่าวจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของตราสารและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างดีและจะต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลการลงทุนดังกล่าวตามนโยบายและกลยุทธ์ที่ได้รับความเห็นชอบอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุน ทั้งนี้ จะต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกรรมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งก่อนการลงทุน สำหรับในกรณีที่เป็นธุรกรรมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตหรือเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตตาม (1) นั้น จะต้องนำเสนอคณะกรรมการธนาคารหรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเพื่อขออนุมัติก่อนการทำธุรกรรมทุกครั้ง
(3) ธนาคารพาณิชย์จะต้องกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการลงทุน การบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และการควบคุมภายใน ไว้อย่างละเอียด ชัดเจน และเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ จะต้องกำหนดรายละเอียดของระบบที่ใช้ในการติดตามและควบคุมความเสี่ยง ตั้งแต่กระบวนการในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของสินทรัพย์อ้างอิง การติดตามความเสี่ยงซึ่งรวมถึงการทดสอบ Stress test ด้วยขั้นตอนการปฏิบัติกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น CDS spread หรือ อันดับความน่าเชื่อถือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นผลเสียกับธนาคารพาณิชย์ ขั้นตอนการปฏิบัติงานกรณี CDO ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งขั้นตอนการรายงานกรณีเกิดความ เสียหายเกินกว่าเพดานที่กำหนดด้วย นอกจากนี้ ขั้นตอนการปฏิบัติดังกล่าวจะต้องกำหนดระยะเวลา หรือความถี่ในการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนด้วย
(4) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีหน่วยงานบริหารความเสี่ยง(Risk management unit) ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น หน่วยงานลงทุน ทั้งในด้านการจัดโครงสร้างองค์กรและในทางปฏิบัติ โดยหน่วยงานดังกล่าวจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ ระบบงาน และเครื่องมือที่จะสามารถใช้ในการประเมิน ติดตาม ควบคุม ตรวจสอบดูแลการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของธนาคารพาณิชย์นั้นที่เกิดจากการทำธุรกรรม CDO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และจะต้องมีการรายงานข้อมูลโดยตรงต่อคณะกรรมการธนาคารผ่านทางคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหน่วยงานบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอาจตั้งอยู่ในต่างประเทศก็ได้ โดยจะต้องมีการรายงานให้ ผู้รับผิดชอบในประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ทราบอย่างสม่ำเสมอ
(5) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถและ ประสบการณ์เพียงพอที่จะรองรับการลงทุนในตราสาร CDO อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ซึ่งครอบคลุมทั้ง Front office, Middle office และ Back office
(6) ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีระบบควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบที่สามารถรองรับการลงทุนดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอและเหมาะสม มีระเบียบและวิธีปฏิบัติในการควบคุมภายในที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร มีการกำหนดโครงสร้างการควบคุม และมีการแบ่งแยกหน้าที่อย่างเหมาะสม มีการตรวจสอบระบบควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ และมีระบบข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจสอบ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ในกรณีของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ โดยหน่วยงานดังกล่าวอาจตั้งอยู่ในต่างประเทศก็ได้
(7) ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดเก็บหลักฐานในการลงทุนในตราสาร CDO ไว้ที่ธนาคารพาณิชย์เอง โดยมีรายละเอียดของข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ วันที่ทำธุรกรรม ลักษณะและโครงสร้างของธุรกรรม รวมทั้งลักษณะพิเศษ (ถ้ามี) สินทรัพย์อ้างอิงทั้งหมดในกลุ่ม สกุลเงินของสินทรัพย์อ้างอิง สกุลเงินของตราสารระดับความน่าเชื่อถือของตราสาร จำนวนเงิน วันครบกำหนดของตราสาร และจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับระดับความน่าเชื่อถือของตราสารอย่างน้อยเป็นรายไตรมาส เป็นต้น เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบ หรือจัดส่งสำเนาให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อมีการร้องขอ
ข้อ 4.10 ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดทำระบบงานภายในเพื่อควบคุมดูแลไม่ให้ ธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงอันเกิดจากสินทรัพย์อ้างอิงรายใดรายหนึ่งเมื่อสิ้นวันหนึ่งๆ เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์นั้น สำหรับการคำนวณเงินลงทุนในสินทรัพย์ อ้างอิงที่เกิดจากตราสาร CDO ให้ใช้วิธีการ Proportionate เงินลงทุนในตราสารตามอัตราส่วนของสินทรัพย์อ้างอิงในกลุ่มและต้องมีหลักฐานไว้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบ หรือจัดส่ง สำเนาให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอ
ทั้งนี้ ในการคำนวณจำนวนเงินลงทุนสูงสุดในสินทรัพย์อ้างอิงรายใดรายหนึ่ง ให้ธนาคารพาณิชย์นับเงินลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงที่เกิดจากการลงทุนในตราสาร CDO ตามแนวทางการคำนวณที่กำหนดไว้ในวรรคแรกนั้นรวมเข้ากับธุรกรรมการให้สินเชื่อ หรือลงทุน ในกิจการ หรือก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลนั้นด้วย
ข้อ 4.11 การลงทุนในตราสาร CDO ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือ บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน หรือมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 4.12 ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดประเภทเงินลงทุนบันทึกบัญชี บันทึกการ ด้อยค่าและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในตราสาร CDO ให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีสากล โดยในเรื่องของการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีสำหรับตราสาร CDO สามารถสรุปได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในเอกสารแนบ 1
ข้อ 4.13 ในการพิจารณาจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีสำหรับตราสาร CDO ตาม 4.12 นั้น จะต้องพิจารณาทั้งรูปแบบและเนื้อหาในสัญญาร่วมกับความตั้งใจและความสามารถ ในการลงทุนรวมทั้งจะต้องพิจารณาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของตราสารหลักและอนุพันธ์แฝง ประกอบด้วย ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องมีกระบวนการที่ใช้ในการพิจารณาจัดประเภทและบันทึกบัญชี ตลอดจนจัดเก็บหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณาดังกล่าวไว้เพื่อให้ ผู้สอบบัญชีและธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ในการตรวจสอบ หรือนำส่งเมื่อมีการร้องขอด้วย
ข้อ 4.14 ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมที่จะใช้ในการบันทึกบัญชี ธนาคารพาณิชย์ จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชี ดังกล่าว ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีสากล โดยสามารถสรุปได้ตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดในเอกสารแนบ 2 นอกจากนี้ ในกรณีธนาคารพาณิชย์ประเมินมูลค่ายุติธรรม โดยใช้เทคนิคการประเมินมูลค่า3 เทคนิคดังกล่าวจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระให้การรับรองด้วย อนึ่ง ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบวิธีการที่ใช้ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมที่กล่าว แล้วพบว่าธนาคารพาณิชย์ยังถือปฏิบัติไม่รัดกุมหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาสั่งการให้ดำเนินการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
ข้อ 4.15 สำหรับตราสาร CDO ที่ธนาคารพาณิชย์ได้ลงทุนไปก่อนที่ประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ให้เปลี่ยนการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชี รวมทั้งประเมินมูลค่ายุติธรรม ของตราสาร CDO ให้ถูกต้องตามข้อ 4.12 - 4.14 ตั้งแต่งวดการบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป สำหรับงวดบัญชี 6 เดือนหลังที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ให้ธนาคารพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลการลงทุนในตราสาร CDO รวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่องบการเงินหรือเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ของประกาศนี้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย
ข้อ 4.16 ธนาคารพาณิชย์ที่ลงทุนในตราสาร CDO จะต้องมีการรายงานตาม แบบรายงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ข้อ 4.17 ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร CDO ในอนาคตตามความเหมาะสม รวมทั้งอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาสั่งการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตรวจสอบพบการถือปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ใดที่ไม่รัดกุมหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
5. วันเริ่มต้นการถือปฏิบัติ
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
เอกสารแนบ 1
การจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีสำหรับตราสาร CDO
ในการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีสำหรับตราสาร CDO ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามแนวทางของ International Accounting Standard No.39 Financial Instrument:Recognition and Measurement (IAS 39)รวมทั้งฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดการจัดประเภทเงินลงทุนและบันทึกบัญชีสำหรับตราสาร CDO สรุปได้ดังนี้
1. กรณี Cashflow CDO ซึ่งไม่มีอนุพันธ์ด้านเครดิตเป็นองค์ประกอบ ให้จัดประเภทตามวัตถุประสงค์ในการถือตราสาร ซึ่งต้องพิจารณาทั้งจากรูปแบบและเนื้อหาในสัญญาร่วมกับความตั้งใจและความสามารถในการลงทุนประกอบด้วย โดยสามารถจัดประเภท เป็นได้ทั้งถือจนครบกำหนด เผื่อขาย และเพื่อค้า
2. กรณี Synthetic CDO ซึ่งเป็นตราสารที่มีองค์ประกอบของอนุพันธ์ด้านเครดิตกับสัญญาหลัก ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วยอนุพันธ์แฝง โดยให้พิจารณาว่าอนุพันธ์แฝงและสัญญาหลักมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดหรือไม่ กรณีที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน อย่างใกล้ชิดจะต้องมีการแยกการจัดประเภทและบันทึกบัญชี ดังนี้
- กรณีที่สามารถแยกหามูลค่าอนุพันธ์แฝงและสัญญาหลักได้อย่างน่าเชื่อถือ ให้จัดอนุพันธ์แฝงดังกล่าวเป็นเงินลงทุนประเภทเพื่อค้า และประเมินมูลค่ายุติธรรมส่วนที่เป็นอนุพันธ์แฝงโดยบันทึกกำไรขาดทุนจากการประเมินมูลค่าดังกล่าวเข้าบัญชีกำไรขาดทุน สำหรับสัญญาหลักให้จัดเป็นเงินลงทุนตามวัตถุประสงค์ในการถือตราสาร ซึ่งต้องพิจารณาจากรูปแบบและ เนื้อหาในสัญญาร่วมกับความตั้งใจและความสามารถในการลงทุนประกอบด้วย ซึ่งอาจจัดประเภทสัญญาหลักเป็นได้ทั้งถือจนครบกำหนด เผื่อขาย และเพื่อค้า
- กรณีไม่สามารถแยกหามูลค่าอนุพันธ์แฝงและสัญญาหลักได้อย่างน่าเชื่อถือ ให้ประเมินมูลค่ายุติธรรมทั้งสัญญาและจัดเป็นเงินลงทุนประเภทเพื่อค้า โดยบันทึกกำไรขาดทุนจากการประเมินมูลค่าดังกล่าวเข้าบัญชีกำไรขาดทุน
3. สำหรับ CDO(ทั้งกรณี Cashflow และ Synthetic CDO) ที่มีลักษณะพิเศษให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
- กรณีผู้ลงทุนสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์อ้างอิงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำกำไรจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสินทรัพย์อ้างอิงด้วยตนเอง หรือการจ้างผู้จัดการบริหารแทน โดยรับรู้กำไรที่กล่าวในรูปแบบใดๆ ก็ตาม เช่น เงินสด การเพิ่ม Coupon หรือการเพิ่ม Subordination ฯลฯ ไม่อนุญาตให้ถือเป็นเงินลงทุนประเภทถือจนครบกำหนด
- กรณี CDO ที่ผู้ออกสามารถ 1) ชำระคืนก่อนกำหนด และ 2) ในจำนวนที่ ลดต่ำลงกว่าจำนวนเงินลงทุนเริ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขตาม IAS 39 ที่จะจัดเป็นตราสารที่ถือจนครบกำหนดนั้น เช่น ตราสาร CDO ตั้งแต่ Mezzanine tranche ลงไปอาจเข้าข่าย ได้รับชำระคืนในจำนวนเงินที่ต่ำกว่าจำนวนเงินลงทุนเริ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญตาม 2) ข้างต้นจึงอาจไม่เข้าเงื่อนไขตาม IAS 39 ที่จะจัดเป็นตราสารที่ถือจนครบกำหนดซึ่งจะต้องพิจารณา รายละเอียดของธุรกรรมเป็นรายกรณี
เอกสารแนบ 2
การประเมินมูลค่ายุติธรรมที่มีความน่าเชื่อถือ
ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของตราสารทางการเงิน ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามแนวทาง ของ International Accounting Standard No.39 Financial Instrument : Recognition and Measurement รวมทั้งฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดแนวทางการวัดมูลค่า ยุติธรรมที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนี้
1. ราคาเสนอซื้อขายในตลาดซื้อขายคล่อง(Quoted price in an active market) :
หากตราสารดังกล่าวมีราคาที่เผยแพร่อยู่ในตลาดที่มีการซื้อขายคล่อง(Quoted price in an active market) ถือว่าเป็นราคาที่สามารถเชื่อถือได้ดีที่สุด
2. เทคนิคการประเมินมูลค่า (Valuation technique) :
ในกรณีที่ตราสารดังกล่าวไม่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายคล่อง ให้ใช้เทคนิคในการประเมินมูลค่า ดังนี้
2.1 ราคาล่าสุดที่มีการซื้อ/ขายระหว่างบุคคลที่มีความรู้และความเต็มใจในการ ตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมเพื่อวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจปกติ และสามารถต่อรองราคาได้อย่างเป็นอิสระ ในลักษณะของผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
2.2 มูลค่ายุติธรรมของตราสารอื่นที่มีลักษณะเหมือนกับตราสารที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องการหามูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ
2.3 วิธีการคิดลดกระแสเงินสด (Discounted cash flow analysis)
2.4 วิธีการหามูลค่า Option (Option Pricing Model) หรือ
2.5 เทคนิคการประเมินมูลค่าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายระหว่างผู้เล่นในตลาด ดังกล่าว ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคนิคที่ให้ราคาที่เชื่อถือได้โดยมีการซื้อ/ขายกันจริงในตลาด
ทั้งนี้ เทคนิคการประเมินมูลค่าจะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- ครอบคลุมปัจจัยทุกอย่างที่ผู้เล่นในตลาดใช้ในการพิจารณากำหนดราคา
- ใช้ข้อมูลตลาดให้มากที่สุด และใช้ข้อมูลของตนเองให้น้อยที่สุด
- สอดคล้องกับหลักวิชาการในการกำหนดราคาที่เป็นที่ยอมรับ
- มีการทดสอบความถูกต้องเป็นประจำ (Back testing)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ