หลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 16, 2018 15:21 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ
เลขที่ สนช. 1/2561
ประกาศ ณ วันที่          16 เมษายน 2561
วันที่ลงในราชกิจจานุเบกษา  17 เมษายน 2561
วันที่มีผลบังคับใช้          16 เมษายน 2561
วันที่สิ้นสุดผลบังคับใช้          -

สถาบันผู้เกี่ยวข้อง

1.อื่น ๆ

วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล

เพื่อกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญให้สอดคล้องกับความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผลสมบูรณ์ของการชำระเงิน (payment finality) และการดำเนินการรองรับกรณีที่สมาชิกถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อการชำระเงินในระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญที่ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว รวมถึงกำกับดูแลในด้านธรรมาภิบาล ด้านการบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย ด้านการคุ้มครองสมาชิกและสาธารณชน และด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญมีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง (systemic risk) ซึ่งนำไปสู่การมีเสถียรภาพของระบบชำระเงินและระบบการเงินโดยรวม

สาระสำคัญ

1) การคุ้มครองผลสมบูรณ์ของการชำระเงิน (payment finality) เช่น มีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และขั้นตอนการดำเนินการที่เกี่ยวกับผลสมบูรณ์ของการโอนเงินหรือการชำระดุล

2) การดำเนินการรองรับกรณีที่สมาชิกถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย เช่น มีการกำหนดกระบวนการและพิธีปฏิบัติ รองรับกรณีที่สมาชิกถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย รวมถึงมีการทดสอบและทบทวนกระบวนการร่วมกับสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3) ด้านธรรมาภิบาล เช่น จัดโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน และสอดคล้องตามหลักการ three lines of defence และมีการรายงานการดำเนินงานและแผนงานที่สำคัญแก่คณะกรรมการโดยสม่ำเสมอ

4) ด้านการบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย เช่น มีการกำหนดนโยบายและมาตรการบริหารความเสี่ยงที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ มีการตรวจสอบระบบสารสนเทศโดยผู้ตรวจสอบภายนอกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีการกำหนดและทดสอบแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (BCP) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยงกรณีการใช้บริการ outsource

5) ด้านการคุ้มครองสมาชิกและสาธารณชน เช่น การกำหนดและเปิดเผยข้อตกลงการให้บริการให้สมาชิกทราบ การแจ้งให้สมาชิกรายอื่นทราบกรณีมีการระงับหรือเพิกถอนการให้บริการกับสมาชิกรายใดรายหนึ่ง การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล และการเปิดเผยค่าธรรมเนียม

6) ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดเป้าหมายในการให้บริการที่สามารถประเมินและวัดผลได้ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมและการออกจากระบบที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง มีการประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์ผลกระทบจากการรับสมาชิกรายใหม่ที่เข้าร่วมใช้ระบบ รวมถึงมีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกเกี่ยวกับการให้บริการ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ