17 ธันวาคม 2550
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารออมสิน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ที่ ฝกช.(02)ว.112/2550 เรื่อง การออกประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ด้วยเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเห็นสมควรผ่อนผันมาตรการดำเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศและลดภาระต้นทุนของธุรกิจไทย โดยมี สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.ให้นิติบุคคลรับอนุญาตยกเว้นการกันเงินสำรองเพิ่มเติม ตามประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน(ฉบับที่ 16) ดังนี้
1.1 กรณีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิม นำเงินตราต่างประเทศมาขายรับบาทเพื่อชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิมที่ออกขายเพิ่มเติม โดยผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในสมุดจดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันปิดสมุดทะเบียนก่อนการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ให้นิติบุคคลรับอนุญาตนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะการลงทุนในในตราสารทุนและสัญญาล่วงหน้า(Special Non-resident Baht Account for Securities: SNS) มาใช้ปฏิบัติกับเงินลงทุนที่ได้รับการยกเว้นการกันเงินสำรองดังกล่าวด้วย
1.2 กรณีนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนำเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินกู้ตามสัญญาเงินกู้เงินตราต่างประเทศ และเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ มาขายรับบาท โดยเงินกู้และตราสารหนี้ดังกล่าวจะต้องมีจำนวนเงินตามสัญญาไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ.หรือ เทียบเท่า และมีกำหนดระยะเวลาการกู้ที่ชัดเจนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
อนึ่ง ในการยกเว้นการกันเงินสำรองกรณีเงินกู้ข้างต้น ให้นิติบุคคลรับอนุญาต
2.กรณีนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่กู้เงินตราต่างประเทศแต่มีแหล่งเงินได้เงินตราต่างประเทศที่เป็นค่าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศในอนาคตเพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวได้เต็มจำนวน(Natural hedge) ให้สามารถยื่นขอนุญาตต่อเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินผ่านนิติบุคคลรับอนุญาตเพื่อขอยกเว้นการกันเงินสำรอง เมื่อนำเงินกู้เงินตราต่างประเทศดังกล่าวมาขายรับบาทได้ โดยให้นิติบุคคลรับอนุญาตจัดให้ผู้ขอยื่นเอกสารหลักฐาน ดังนี้
ก) คำขออนุญาตพร้อมชี้แจงรายละเอียดของแหล่งเงินได้ค่าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ เช่น ประมาณการรายรับในอนาคต และสรุปรายรับในปีที่ผ่านมา
ข) หลักฐานแสดงรายละเอียดของการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ เช่น สัญญาเงินกู้
ค) หลักฐานแสดงตัวของผู้ขอ เช่น หนังสือบริคณห์สนธิ หนังสือรับรองทุนจดทะเบียน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ที่กระทรวงพาณิชย์รับรอง
ทั้งนี้ ให้ยื่นขออนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550
ขอแสดงความนับถือ
(นางสุชาดา กิระกุล)
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์
และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2550
ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ
สายตลาดการเงิน
โทรศัพท์ 0-2356-7345-6
หมายเหตุ: ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน
(ฉบับที่ 16)
อาศัยจำนวนตามความในข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 เจ้าพนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (13) และ (14) ของข้อ 2 แห่งประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 29 มกราคม 2550
"(13) เงินตราต่างประเทศที่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นำมาลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิมที่ออกขายเพิ่มเติม โดยผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าว ณ วันปิดสมุดทะเบียนก่อนการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับเงินลงทุนในตราสารทุนตาม (7)
(14) เงินตราต่างประเทศที่นิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศกู้ยืม ซึ่งรวมถึง เงินกู้จากนิติบุคคลรับอนุญาต เงินกู้จากบริษัทในเครือในต่างประเทศ เงินกู้จากบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศและการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ โดยสัญญาเงินกู้หรือตราสารหนี้มีจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด และมีกำหนดระยะเวลาการกู้ที่ชัดเจนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
การรับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินกู้และเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ ที่จะได้รับการยกเว้นการกันสำรองนี้ ให้นิติบุคคลรับอนุญาตจัดให้ผู้ขายหรือผู้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยื่นแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศตามระเบียบพร้อมคำรับรองว่ามิได้ทำธุรกรรมที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการกันเงินสำรอง และให้นิติบุคคลรับอนุญาตประทับข้อความพร้อมลงลายมือชื่อรับรองในแบบว่า "ได้รับการยกเว้นการกันสำรองกรณีเงินกู้รายย่อย"
ทั้งนี้ ในการชำระคืนเงินกู้ดังกล่าว ให้นิติบุคคลรับอนุญาตขายหรือให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระคืนเงินกู้ได้เฉพาะในวันครบกำหนดชำระคืนตามสัญญาเงินกู้หรือตราสารหนี้ หรือในกรณีที่ได้เงินกู้ตามสัญญาหรือตราสารหนี้ดังกล่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี หากจะชำระคืนก่อนกำหนดเวลาที่กล่าว นิติบุคคลรับอนุญาตจะต้องจัดให้ผู้กู้ยืมขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานก่อน"
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550
ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2550
(นางสุชาดา กิระกุล)
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน