วันที่ออกหนังสือเวียน 1 สิงหาคม 2561 วันที่มีผลบังคับใช้ - วันที่สิ้นสุดผลบังคับใช้ - สถาบันผู้เกี่ยวข้อง
1.ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ
2.ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
3.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
4.บริษัทเงินทุน
-
ด้วยปัจจุบันมีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล) ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ทำหน้าที่กำกับและควบคุมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่การเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering Issuer: ICO Issuer) การเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ตลอดจนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้แก่ (1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) (2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) (3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) และ (4) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการทำธุรกรรมหรือการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ธปท. จึงขอยกเลิกหนังสือที่ ธปท.ฝนส.(23)ว. 276/2561 เรื่อง ขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 และให้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินถือปฏิบัติตามแนวทาง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน: บริษัทลูกที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต สามารถออก ลงทุน หรือประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดแล้วแต่กรณี รวมทั้งต้องได้รับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับบริษัทลูกอื่นให้ขออนุญาต ธปท. เป็นรายกรณี ทั้งนี้ บริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจการเงินยังคงต้องดูแลความเสี่ยงในภาพรวมของกลุ่มธุรกิจทางการเงินด้วย
2) สถาบันการเงิน: ในระยะแรกให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติ ดังนี้ ไม่เป็นผู้ออกหรือให้บริการระบบเสนอขาย ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (ยกเว้น ออกหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน) ไม่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่เป็นผู้ชี้ชวนแนะนำการลงทุนที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าตามคำนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่
อนึ่ง ธปท. ยังคงไม่ประสงค์ให้ลูกค้าบุคคลธรรมดาของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ได้มีข้อห้ามหรือข้อกำหนดในเรื่องการเปิดบัญชีเงินฝาก การให้สินเชื่อ การก่อภาระผูกพัน หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อหรือลงทุนที่เกี่ยวข้อง
หากสถาบันการเงินหรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะทำธุรกรรมหรือประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามแนวทางข้างต้น ต้องดำเนินการดังนี้ (1) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุดของสถาบันการเงินหรือของบริษัทแล้วแต่กรณี (2) ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุม และ (3) บริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องดูแลความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินในภาพรวมและดูแลให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ธปท. ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ธปท. จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจหรือการดูแลความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย