การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday May 4, 2005 11:30 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                  4  พฤษภาคม  2548 
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ฝสว.(21)ว. 799 /2548 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
1.1 เพื่อให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
1.2 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการให้
สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออกไปอีก 2 ปี โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมและจำกัดเฉพาะหนี้บางประเภทเท่านั้นที่สถาบันการเงินจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จึงออกหนังสือเวียนฉบับนี้เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเพิ่มเติม
2. อำนาจตามกฎหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20(4) และมาตรา 54(6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 เมษายน 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดตามความในหนังสือฉบับนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
หนังสือฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
4. เนื้อหา
4.1 การอนุญาตเป็นการทั่วไปให้ซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหนังสือฉบับนี้ ให้เฉพาะสำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญก่อนวันที่ 1 มกราคม 2548 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2547 และให้รวมถึงลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญที่กันสำรองครบร้อยละ 100 และตัดออกจากบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้บันทึกกลับเข้ามาในบัญชี
4.2 อนุญาตเป็นการทั่วไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ให้บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทลูกหนี้ เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ การอนุญาตดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงกรณีหุ้นของบริษัทอื่นที่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้นำมาตีชำระหนี้ หุ้นของผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่นำมาตีชำระหนี้ การถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าถือหุ้นหรือฟื้นฟูบริษัทลูกหนี้ และหุ้นของบริษัทจำกัดที่ได้มาจากการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ได้รับจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
หรือใช้ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นที่ได้รับจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
4.3 อนุญาตเป็นการทั่วไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ให้บริษัทเงินทุนมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อกรรมสิทธิ์ของบริษัทเงินทุนเองทั้งหมดมูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 60 ของเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน เฉพาะในกรณีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ส่วนที่เกินนั้นเป็นหลักทรัพย์ที่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์มีหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้ทั้งหมด มูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เฉพาะในกรณีหุ้นส่วนที่เกินนั้นเป็นหุ้นที่ได้มาจากการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การอนุญาตดังกล่าวให้ครอบคลุม
ถึงกรณีหุ้นของบริษัทอื่นที่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้นำมาตีชำระหนี้ หุ้นของผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่นำมาตีชำระหนี้ การถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าถือหุ้นหรือฟื้นฟูบริษัท ลูกหนี้ และหุ้นของบริษัทจำกัดที่ได้มาจากการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ได้รับจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือใช้ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นที่ได้รับจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
4.4 กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้บริษัทเงินทุนมีเงินลงทุนใน หลักทรัพย์เพื่อกรรมสิทธิ์ของบริษัทเงินทุนเองทั้งหมดมูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 60 ของเงินกองทุน เนื่องจากการถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หากบริษัทเงินทุนยังคงมีสัดส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในบริษัทจำกัดทั่วไป ซึ่งไม่ได้ถือเงินลงทุนใน หลักทรัพย์เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยน้อยกว่าร้อยละ 60 ของเงินกองทุน ให้ถือว่าบริษัทเงินทุนสามารถลงทุนเพิ่มได้จนกว่าสัดส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในบริษัทจำกัดทั่วไป จะเท่ากับร้อยละ 60 ของเงินกองทุนของบริษัทเงินทุนนั้น
กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มีหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้ทั้งหมดมูลค่ารวมกันเกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุน เนื่องจากการถือหุ้นใน บริษัทจำกัดที่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ยังคงมีสัดส่วน การถือหุ้นดังกล่าวในบริษัทจำกัดทั่วไป ซึ่งไม่ได้ถือหุ้นเนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ตาม หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินกองทุน ให้ถือว่าบริษัทเครดิตฟองซิเอร์สามารถลงทุนเพิ่มได้จนกว่า สัดส่วนการถือหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้ในบริษัทจำกัดทั่วไป จะเท่ากับร้อยละ 20 ของ เงินกองทุนของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้น
4.5 บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ที่มีหุ้นในบริษัทจำกัดเนื่องจากการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ต้องลดสัดส่วนการมีหุ้นดังกล่าวและการถือหุ้นในบริษัทจำกัดในกรณีอื่น ๆ ทั้งหมด ยกเว้นการถือหุ้นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ลงให้เหลือรวมกันไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น ๆ และให้บริษัทเงินทุน มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเงินทุนเอง เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรณีอื่น ๆ ทั้งหมด ยกเว้นการถือเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับ อนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินกองทุนของบริษัท เงินทุน และให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์มีหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้ เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และกรณีอื่น ๆ ทั้งหมด ยกเว้นการถือหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกัน ไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ในทันทีที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 4.5.1 ถึง 4.5.2 เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากธนาคารแห่งประเทศไทย
4.5.1 หุ้นที่ได้รับโอนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ต้องลดสัดส่วนลงให้เหลือไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดข้างต้น ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551
4.5.2 หุ้นที่ได้รับโอนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ต้องลดสัดส่วนลงให้เหลือไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดข้างต้น ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552
4.6 การลดสัดส่วนการมีหุ้นในบริษัทจำกัดที่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
4.6.1 การจำหน่ายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจำหน่ายในราคาไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) หรือราคาปิด (Close Price) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนวันที่บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จำหน่ายหลักทรัพย์ดังกล่าว 1 วันทำการ
ทั้งนี้ ให้บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์จัดเตรียมเอกสารที่แสดงราคาที่จำหน่ายเพื่อการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยในภายหลัง
4.6.2 การจำหน่ายหุ้นของบริษัทจำกัดที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดผลขาดทุนจากการจำหน่ายหุ้นดังกล่าวไม่เกินคราวละ 5 ล้านบาท หรือหากผลขาดทุนเกินกว่า จำนวนดังกล่าว ต้องจำหน่ายในราคาที่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินได้รับรองความเหมาะสมของ ราคาที่จำหน่ายหุ้น
ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่มีความเชี่ยวชาญในการรับรองความเหมาะสมของ ราคาดังกล่าว ผู้สอบบัญชีสามารถหาผู้เชี่ยวชาญมารับรองความเหมาะสมของราคาดังกล่าว โดยให้ ถือว่าเป็นราคาที่รับรองโดยผู้สอบบัญชี
ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้ความสมเหตุสมผลของราคาที่รับรอง ทั้งในกรณีที่ผู้สอบบัญชีรับรองเองและกรณีที่ผู้สอบบัญชีหาผู้เชี่ยวชาญมารับรอง ประกอบการพิจารณา อนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินด้วย
ทั้งนี้ ให้บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์แจ้งการขายดังกล่าวภายใน 7 วัน นับจากวันที่เกิดรายการ โดยส่งหลักฐานการรับรองราคาของผู้สอบบัญชีมาด้วย
4.6.3 กรณีอื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
อนึ่ง การคำนวณว่าการจำหน่ายหลักทรัพย์ก่อให้เกิดผลขาดทุนหรือไม่นั้นให้เปรียบเทียบราคาที่จำหน่ายกับราคาที่บันทึกบัญชี ณ วันที่ได้รับหลักทรัพย์
4.7 ให้บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รายงานการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ในรูปแบบ
ของตาราง FI Investment Position เป็นรายเดือน
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
หนังสือฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร. 0-2283-5304, 0-2283-5303
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่......เวลา......ณ................
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ฝสวว30-คส22403-25480506ด

แท็ก เครดิต   ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ