วันที่มีผลบังคับใช้ - วันที่สิ้นสุดผลบังคับใช้ - สถาบันผู้เกี่ยวข้อง
1.ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ
2.ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
3.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
4.บริษัทเงินทุน
-
ธนาคารแห่งประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้ระบบสถาบันการเงินปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตัลได้อย่างรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพและครบวงจรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการข้อมูลของสถาบันการเงินและช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นควรให้สถาบันการเงินสามารถจัดทำ จัดเก็บและจัดส่งข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ให้สถาบันการเงินสามารถเลือกที่จะจัดทำ จัดเก็บและจัดส่งข้อมูลต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องมีความพร้อมในด้านระบบงานและกระบวนการภายในเพื่อรองรับการจัดทำหรือจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย และไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงิน หากต้องการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาทดแทนเอกสารตัวจริงในรูปแบบกระดาษ
2. ให้สถาบันการเงินสามารถเลือกที่จะแจ้งข้อมูลหรือเปลี่ยนแปลงการแจ้งข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ใช้บริการทางการเงินเป็นรายลูกค้าตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสถาบันการเงินต้องมีการตกลงร่วมกันกับผู้ใช้บริการทางการเงินสำหรับรูปแบบและช่องทางการแจ้งข้อมูลก่อนการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องมีกระบวนการที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้ใช้บริการทางการเงินจะได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
3. ให้สถาบันการเงินสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ใช้บริการทางการเงินเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสถาบันการเงินยังต้องสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงินตามที่ได้รับการร้องขอ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย