วันที่ออกหนังสือเวียน 5 กันยายน 2562 วันที่มีผลบังคับใช้ - วันที่สิ้นสุดผลบังคับใช้ - สถาบันผู้เกี่ยวข้อง
1.ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ
2.ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
3.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
4.บริษัทเงินทุน
-
1. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าสำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบด้วย 2 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ (1) การแสดงตนของลูกค้า (Identification) และ (2) การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (Verification) เพื่อให้สถาบันการเงินมีกระบวนการรู้จักลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
2. สถาบันการเงินสามารถให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากได้ทั้งแบบพบเห็นลูกค้าต่อหน้า (Face-to-Face) และแบบไม่พบเห็นลูกค้าต่อหน้า (Non Face-to-Face) โดยในส่วนของการแสดงตนของลูกค้า (Identification) ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางการ สำหรับการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (Verification) สถาบันการเงินสามารถพิสูจน์ตัวตนลูกค้าด้วยสถาบันการเงินเองหรือพิสูจน์ตัวตนลูกค้าด้วยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เช่น ผ่าน National Digital ID Platform (NDID Platform) ได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกระดับการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าในการเปิดบัญชีเงินฝากให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและสะท้อนความเสี่ยงตามลักษณะของธุรกรรมและช่องทางในการเปิดบัญชีเงินฝาก โดยกำหนดแนวทางให้สถาบันการเงินใช้ตรวจสอบความถูกต้อง ความแท้จริง และความเป็นปัจจุบันของข้อมูลและเอกสารหลักฐานการแสดงตน รวมถึงตรวจสอบว่าบุคคลที่มาเปิดบัญชีเงินฝากเป็นบุคคลเดียวกันกับบุคคลในเอกสารหลักฐานการแสดงตน
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตเป็นการทั่วไปให้สถาบันการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลชีวมิติของลูกค้าในรูปแบบต่าง ๆ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าได้ โดยสถาบันการเงินยังคงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย