29 กุมภาพันธ์ 2551
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสามแห่งประเทศไทย
ธนาคารออมสิน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทสไทย
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
บริษัทเงินทุนทุกบริษัท
บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.371/2551 เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ
ป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีหนังสือที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.1593/2549ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 และที่แก้ไข/เพิ่มเติม ขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทเพื่อจำกัดการทำธุรกรรมเงินบาทระหว่างสถาบันการเงินในประเทศกับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident: NR) ที่ไม่มีธุรกรรมการค้า การลงทุนในประเทศไทย (Underlying) รองรับ นั้น
ธปท.เห็นควรปรับปรุงมาตรการป้องปรามฯ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงินโดยมีสาระสำคัญ คือ
1.ปรับปรุงมาตรการดูแลเงินทุนนำเข้า โดยให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินบาท หรือทำธุรกรรมที่มีผลเสมือนการกู้ยืมเงินบาทจาก NR ทุกอายุสัญญาที่ไม่มีการค้าการลงทุนรองรับรวมวงเงินคงค้างในทุกธุรกรรมของแต่ละสถาบันการเงินได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR(จากเดิม จำกะดเฉพาที่มีอายุสะญญาไม่เกิน 6 เดือน และรวมวงเงินคงค้างในทุกธุรกรรมของสถาบันการเงินทุกแห่งไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR)
2.ปรับปรุงมาตรการจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท ดังนี้
2.1 ให้สถาบันการเงินปล่อยสภาพคล่องเงินบาท หรือสร้างภาระผูกพันใดๆ ที่มีผลให้ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศในอนาคตแก่ NR ที่ไม่มีการค้าการลงทุนรองรับ รวมวงเงินคงค้างในทุกธุรกรรมของแต่ละสถาบันการเงินได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR(จากเดิม รวมวงเงินคงค้างในทุกธุรกรรมของสถาบะนการเงินทุกแห่งไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR)
2.2 ให้สถาบันการเงินรับซื้อเงินตราต่างประเทศแลกบาทที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน (Value Same Day) หรือที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น(Value Tomorrow) ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ธปท.ก่อนทำธุรกรรม โดยในกรณีที่ไม่มีการค้าการลงทุนรองรับ ให้ทำได้โดยเมื่อรวมกับธุรกรรมการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทประเภทอื่นๆ ที่ไม่มี Underlying รองรับแล้วต้องมียอดคงค้างในแต่ละสถาบันการเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR(จากเดิม ที่ต้องขออนุญาต แลัต้องมี Underlying ทุกกรณี)
3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับบัญชี Non-resident Baht Account: NRBA เกี่ยวกับความหมายของ underlying และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับบัญชี Non-resident Baht Account for Securities: NRBS เกี่ยวกับความหมายของ underlying และการจำกัดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันเพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติ
อนึ่ง เพื่อความสะดวกต่อการใช้อ้างอิง และถือปฏิบัติ ธปท. เห็นควรยกเลิกหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องปรามฯ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
1) หนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.1593/2549 เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตาม มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549
2) หนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.1832/2549 เรื่อง การปรับปรุงมาตรการป้องปราม การเก็งกำไรค่าเงินบาท ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2549
3) หนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝกช.(02)ว. 132/2550 เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตาม มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ลงวันที่ 25 มกราคม 2550
4) หนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.2256/2550 เรื่อง การปรับปรุงมาตรการป้องปราม การเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เกี่ยวกับการซื้อตราสารหนี้เงินบาทที่ออกและขายโดย ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550
รวมทั้งขอความร่วมมือสถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ มาตรการป้องปรามฯ ที่ส่งมานี้แทนหนังสือเวียนที่ยกเลิก ซึ่งหนังสือเวียนฉบับนี้ได้ครอบคลุมระเบียบมาตรการป้องปรามฯ ตามหนังสือเวียนที่ได้ยกเลิกรวมทั้งที่ได้ปรับปรุงใหม่ไว้ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำรายงานตามมาตรการป้องปรามฯ ขอให้ถือปฏิบัติตามหนังสือเวียนที่ ธปท.ฝกช.(02) ว.1604/2549 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง การจัดทำรายงานตามมาตรการป้องปราม การเก็งกำไรค่าเงินบาท และที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.372/2551 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เรื่อง การจัดทำรายงานเกี่ยวกับบัญชี Non-resident Baht Account for Securities : NRBS
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อ ความคล่องตัวในช่วงยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรงนำเข้าระยะสั้น ธปท.ผ่อนผันให้บัญชี NRBA และ NRBS มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันเกินกว่า 300 ล้านบาทได้จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2551 รายละเอียดตาม หนังสือเวียนที่ ฝกช.(02)ว.37/2551 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เรื่อง กรยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นและปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย: หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท 1 ฉบับ
ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551
ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ
โทรศัพท์ 02-283-5326-7, 02-356-7639
โทรสาร 02-356-7945
หมายเหตุ: ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดประชุมชี้แจงในวันที่ 3 มีนาคม 2551 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชั้น 4 อาคาร 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม
หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ
มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติใน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาท ของสถาบันการเงินในประเทศ กับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาทอันเนื่องมาจากการเก็งกำไร หรือการทำธุรกรรมของ Non-resident ที่ไม่มีการค้าการลงทุนในประเทศรองรับ
มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย คือ
1) มาตรการจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท
2) มาตรการดูแลเงินทุนนำเข้า
3) มาตรการดูแล Non-resident Baht Account(NRBA) และ Non-resident Baht Account for Securities (NRBS)
4) มาตรการดูแลธุรกรรม Non-Deliverable Forward โดยมีหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.ขอบเขตการบังคับใช้
ขอบเขตการบังคับใช้แต่ละมาตรการกับสถาบันการเงินแต่ละประเภทเป็นดังนี้
มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัท บริษัท
พาณิชย์ ที่มีกฎหมายเฉพาะ เงินทุน หลักทรัพย์
จัดตั้งขึ้น
มาตรการจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท / / /
มาตรการดูแลเงินทุนนำเข้า / / / /
มาตรการดูแล Non-resident / /
Baht Account (NRBA) และ
Non-resident Baht Account for
Securities (NRBS)
มาตรการดูแลธุรกรรม Non-Deliverable / /
Forward (NDF)
2.นิยาม
2.1 ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident: NR) หมายถึง
(1) กิจการ สถาบัน กองทุน สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย
(2) องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย
(3) สำนักงานสาขาและตัวแทนของนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกประเทศไทย
(4) บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีใบต่างด้าว หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้
ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไม่รวมถึง
(ก) สถานทูตไทย สถานกงสุลไทย หรือหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย
(ข) สถานทูตต่างประเทศ สถานกงสุล ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ องค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทย
(ค) สำนักงานสาขาและตัวแทนของนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย
2.2 ธุรกรรมการค้า หรือการลงทุนในประเทศ (Underlying) ในแต่ละมาตรการ มีความหมายดังนี้
Underlying กิจกรรมการค้า การบริการ หรือการลงทุนของ NR ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ตามมาตรการจำกัดการ เช่น การชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศ การชำระค่าบริการต่างๆ
ปล่อยสภาพคล่องเงินบาท การให้กู้เงินบาท แก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ(Resident) การลงทุนโดยตรง
การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การลงทุนในตราสารเงินบาท เป็นต้น
Underlying 1.กิจกรรมการค้า การบริการ หรือการลงทุนของ NR ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตามมาตรการดูแลเงินทุน 2.ธุรกรรมที่ Resident ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินกู้ยืมเงินบาท หรือทำแล้วมีผล
นำเข้า เสมือนการกู้ยืมเงินบาทจากสถาบันการเงินในประเทศ เช่น ธุรกรรมอนุพันธ์
ทางการเงิน (Derivatives) ที่ Resident มีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อ
เงินตราต่างประเทศในอนาคตจากสถาบันการเงิน
Underlying กิจกรรมการค้า การบริการ การให้กู้เงินบาทแก่ Resident การลงทุนโดยตรง
ตามมาตรการดูแล NRBA ของ NR ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
Underlying กิจกรรมการลงทุนของ NR ในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินในประเทศไทย
ตามมาตรการดูแล NRBS เช่น การลงทุนในตราสารทุน การลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในหน่วยลงทุน
เป็นต้น รวมทั้ง การลงทุนในสัญญาอนุพันธ์ทางการเงินที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
2.3 ต่อราย NR หมายความว่าให้นับเฉพาะธุรกรรมของ NR รายนั้นๆ
2.4 ต่อกลุ่ม NR หมายความว่า ให้นับรวมธุรกรรมของสำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขา สำนักงาน ตัวแทน และธุรกิจในเครือที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทยทุกแห่งของ NR เป็นกลุ่มเดียว
2.5 ธุรกิจในเครือ หมายความว่า
(1) ธุรกิจที่ NR มีหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละสามสิบของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ของนิติบุคคลนั้น
(2) ธุรกิจที่นิติบุคคลตาม (1) มีหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละสามสิบของหุ้นที่จำหน่าย ได้แล้วทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
3.มาตรการจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท
3.1 หลักทั่วไป
การปล่อยสภาพคล่องเงินบาท หรือสร้างภาระผูกพันใดๆ ที่มีผลให้ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศ ในอนาคตแก่ NR เช่น การให้กู้ยืมเงินบาทโดยตรง(Direct Loan) การให้เบิกเงินเกินบัญชี(O/D)การซื้อ ตราสารหนี้เงินบาทที่ออกและขายโดย NR ธุรกรรมขาย FX/THB Outright Forward ธุรกรรม Buy-Sell FX/THB Swap ธุรกรรม Buy-Sell FX/THB Cross Currency Swap ธุรกรรม FX Option ธุรกรรม Derivatives อ้างอิงดอกเบี้ย และดัชนีอัตราดอกเบี้ยธุรกรรม Derivatives อื่นๆ ที่มีเงินบาทเกี่ยวข้องทั้ง Plain Vanilla และ Structured Derivatives ธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน(Value Same Day) หรือ ที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น (Value Tomorrow) ธุรกรรม Repurchase Agreement การซื้อขายตราสารหนี้ในลักษณะ Sell and Buy Back เป็นต้น ให้สถาบันการเงินทำได้โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
(1) กรณีไม่มี Underlying รองรับ ให้ทำได้รวมวงเงินคงค้างในทุกธุรกรรมของแต่ละสถาบัน การเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR
(2) กรณีที่มี Underlying รองรับ ให้ทำได้ไม่เกินมูลค่า Underlying
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท หรือสร้างภาระผูกพันใดๆ ที่มีผลให้ต้องจ่าย เงินตราต่างประเทศในอนาคตแก่ NR ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะธุรกรรมในข้อ 3.2 ด้วย
3.2 หลักเกณฑ์เฉพาะธุรกรรม
3.2.1 การให้กู้ยืมเงินบาทโดยตรง(Direct Loan)
ธปท.ไม่มีนโยบายให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เงินบาทโดยตรง(Direct Loan) แก่ NR ไม่ว่าจะมี Underlying รองรับหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสินทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้
(1) การปล่อยกู้เงินบาทโดยตรงแก่ NR ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและได้รับใบอนุญาต ให้ทำงานในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี และ มีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าวด้วย และต้องมียอดคงค้างการให้กู้ยืมเงินบาทแก่ NR แต่ละราย ณ ขณะใดขณะหนึ่งรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
ให้สถาบันการเงินขอหนังสือรับรองจาก NR ผู้กู้ว่า NR นั้นมีภาระหรือยอดคงค้าง การกู้ยืมเงินบาทกับสถาบันการเงินอื่นอยู่ก่อนหรือไม่ จำนวนเท่าใด และให้ระบุเงื่อนไขในหนังสือรับรอง ดังกล่าวด้วยว่า หากคำรับรองที่ NR ให้ไว้ไม่ตรงตามความเป็นจริง สถาบันการเงินผู้ให้กู้สามารถเรียกคืนเงินกู้จาก NR ก่อนที่สัญญาจะครบกำหนดได้
(2) การปล่อยกู้เงินบาทโดยตรงแก่ NR ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพพม่า สาธารณรัฐกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน (มณฑลยูนนาน) เพื่อประโยชน์ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
(ก) สถาบันการเงินที่ประสงค์ให้กู้ยืมเงินบาทโดยตรงแก่ NR ที่จัดตั้งในประเทศดังกล่าว จะต้องส่งหนังสือขออนุญาต ธปท. ก่อนดำเนินการ โดย ธปท. จะพิจารณาอนุญาตให้สถาบันการเงิน ให้กู้ยืมเงินบาทโดยตรงแก่ NR เป็นรายกรณีไป
(ข) เมื่อสถาบันการเงินได้รับอนุญาตให้ปล่อยกู้เงินบาทแก่ NR แล้วต้องนำเงินบาทที่ให้กู้ยืมเข้าบัญชีเงินบาทของ NR ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ(Special Purpose Non-resident Baht Account: SNA) ซึ่ง NR ขอเปิดไว้กับสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้เพื่อการกู้ยืมเงินตามระเบียบนี้ ซึ่งจะต้องไม่เกินหนึ่งบัญชี
(ค) ให้สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชี SNA ดูแลบัญชีดังกล่าวให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามข้อ 8
(3) การออกบัตรเครดิตให้แก่ NR
3.2.2 การให้เบิกเงินเกินบัญชี (O/D)
(1) การให้ NR เบิกเงินบาทออกไปมากกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชี เมื่อรวมกับธุรกรรม การปล่อยสภาพคล่องเงินบาทประเภทอื่นๆ ที่ไม่มี Underlying รองรับ แล้วต้องมียอดคงค้างในแต่ละ สถาบันการเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR
(2) หากมีแนวโน้มว่ายอดคงค้างรวมอาจเกิน 300 ล้านบาท เพราะมีการเบิกเงินเกินบัญชี สถาบันการเงินต้องดูแลให้ NR จัดหาเงินบาทมาเข้าบัญชี เพื่อให้ยอดคงค้าง ณ สิ้นวัน อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ทันที
(3) ในกรณีที่ยอดคงค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยเกิดจากความผิดพลาดด้านการโอนเงิน ทำให้นำเงินบาทเข้าบัญชีไม่ทันในวันนั้น สถาบันการเงินต้องรีบชี้แจงสาเหตุแก่ ธปท. และดำเนินการให้ NR เจ้าของบัญชีติดต่อให้ผู้ที่สั่งจ่ายเงินให้ตนแสดงหลักฐานว่ามีเงินบาทในบัญชีเพียงพอที่จะจ่ายเงินในวันนั้น โดยให้สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชีของผู้สั่งจ่ายเงินมีหนังสือยืนยันยอดเงินคงเหลือในบัญชีของผู้สั่งจ่ายเงิน ส่งให้ ธปท. ภายในวันที่จะขอมียอดเบิกเงินเกินบัญชีนั้น ธปท. จึงจะพิจารณาผ่อนผันให้มียอดคงค้างเกินเกณฑ์ ที่กำหนดได้
(4) ในกรณีที่นอกเหนือจาก (3) ให้ถือปฏิบัติตามข้อ 7
3.2.3 การซื้อตราสารหนี้เงินบาทที่ออกและขายโดย NR
ธปท.ไม่มีนโยบายให้สถาบันการเงินซื้อตราสารหนี้เงินบาทที่ออกและขายโดย NR ไม่ว่าจะมี Underlying รองรับหรือไม่ เว้นแต่กรณีที่สถาบันการเงินซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท ที่ออกและขายโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ออกจำหน่ายในประเทศไทย
3.2.4 การค้ำประกัน
ธปท.ไม่มีนโยบายให้สถาบันการเงินเข้าไปรับรองหรือค้ำประกันในการทำธุรกรรมต่างๆ ของ NR ซึ่งมีผลให้สถาบันการเงินอาจต้องจ่ายเงินบาทให้แก่ผู้อื่นแทน NR ในอนาคต เว้นแต่
(1) การออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาหรือหนังสือค้ำประกันให้แก่ NR ในการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลทั่วไปในประเทศไทย ได้เฉพาะในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับหลักประกันจากสถาบันการเงินในต่างประเทศของ NR เป็น Standby L/C เพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันของสถาบันการเงินแก่ NR(เป็นลักษณะการทำค้ำประกันแบบ back-to-back) และจะต้องมีเงื่อนไขกำหนดในหลักประกันนั้นๆ ว่าหากสถาบันการเงินต้องชำระหนี้แทน NR ตามหนังสือค้ำประกัน สถาบันการเงินสามารถเรียกชดใช้เงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศของ NR ได้เต็มจำนวนภายในวันเดียวกัน หรือสามารถเรียกเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศได้ก่อนที่สถาบัน การเงินจะชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกัน
(2) การค้ำประกันพันธบัตร หรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่ออกและขายโดย NR ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพพม่า สาธารณรัฐกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงคลังให้ออกจำหน่ายในประเทศไทย
3.2.5 การทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน และดัชนีอัตราแลกเปลี่ยน
(1) อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน และดัชนีอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีผลเป็นการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท หรือสร้างภาระผูกพันใดๆ ที่มีผลให้ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศในอนาคตแก่ NR ดังต่อไปนี้
(ก) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินขั้นพื้นฐาน(Plain Vanilla Derivatives) ได้แก่ การขาย FX/THB Forward, Buy-Sell FX/THB Swap, Buy-Sell FX/THB Cross Currency Swap, การซื้อ FX/THB Put Option และการขาย FX/THB Call Option
(ข) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน (Structured Derivatives) ได้แก่ ประเภทธุรกรรมตามขอบเขตประกาศ ธปท.ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมอนุพันธ์ ทางการเงินที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีผลต่อการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท หรือที่สร้างภาระผูกพันใดๆ ที่มีผลให้ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าให้แก่ NR
(2) ในกรณีที่มี Underlying รองรับก่อนสถาบันการเงินทำธุรกรรมกับ NR สถาบันการเงินต้องตรวจสอบหลักฐาน Underlying ว่าสอดคล้องกับธุรกรรมที่สถาบันการเงินจะทำกับ NR หรือไม่ เช่น จำนวนเงิน ระยะเวลา วันส่งมอบเงิน เป็นต้น และภายหลังจากที่สถาบันการเงินได้ทำธุรกรรมกับ NR แล้วสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบหลักฐาน Underlying ให้ถูกต้องครบถ้วน และติดตามอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์เพื่อให้แน่ใจว่ามูลค่า Underlying ไม่ต่ำกว่าวงเงินของธุรกรรมตลอดอายุของสัญญาหากมูลค่า Underlying ลดลงต่ำกว่าวงเงินของธุรกรรม สถาบันการเงินต้องปิดธุรกรรมกับ NR ให้เหลือวงเงินไม่เกินกว่ามูลค่าของ Underlying โดยพลัน
(3) ธุรกรรมที่นอกเหนือไปจากธุรกรรมตาม(1)ให้ขออนุญาต ธปท.เป็นรายกรณี ตามขั้นตอนในข้อ 10 ก่อนดำเนินการ ทั้งนี้ สำหรับธุรกรรมที่สถาบันการเงินไม่แน่ใจว่าขัดมาตรการ ป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือไม่ ให้สถาบันการเงินหารือฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ก่อนดำเนินการ
3.2.6 การทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยและดัชนีอัตราดอกเบี้ย
(1) อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย และ ดัชนีอัตราดอกเบี้ยที่มีผลเป็นการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทแก่ NR โดยไม่ต้องมี Underlying รองรับ ดังต่อไปนี้
(ก) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินขั้นพื้นฐาน (Plain Vanilla Derivatives) ได้แก่ Interest Rate Swap, Basis Swap, Interest Rate Futures, Forward Rate Agreement และ Interest Rate Option
(ข) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน (Structured Derivatives) ได้แก่ ประเภทธุรกรรมตามขอบเขตประกาศ ธปท. ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่มี ความซับซ้อน
(2) การทำธุรกรรมตาม (1) ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ธุรกรรมดังกล่าวต้องไม่มีผลให้สถาบันการเงินอาจต้องรับดอกเบี้ยที่เป็นลบ
(ข) สถาบันการเงินต้องชำระเงินแก่ NR จากธุรกรรมข้างต้นเป็นเงินตราต่างประเทศเทียบเท่า
(3) ในกรณีที่สถาบันการเงินประสงค์จะทำธุรกรรมที่มีผลให้สถาบันการเงินอาจต้องรับดอกเบี้ยเป็นลบ หรือทำธุรกรรมที่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ใน (1) และ (2) ให้ขออนุญาต ธปท. เป็นรายกรณีตามขั้นตอนในข้อ 10
3.2.7 การทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอื่น
(1) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินด้านตราสารหนี้
ไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรม Bond Forward หรือ Bond Option ที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทกับ NR
(2) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินด้านตราสารทุน
อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินด้านตราสารทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทกับ NR ตามขอบเขตประกาศ ธปท. ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงิน ด้านตราสารทุน ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) หากไม่มีการส่งมอบตราสารทุน ให้สถาบันการเงินชำระเงินแก่ NR จากธุรกรรมข้างต้นเป็นเงินตราต่างประเทศเทียบเท่า
(ข) หากมีการส่งมอบตราสารทุน ให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายชำระให้ NR เป็นบาทได้
(3) ธุรกรรม Credit Derivatives
อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรม Credit Derivatives ที่เกี่ยวข้องกับเงินบาท กับ NR ตามขอบเขตประกาศ ธปท.ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม Credit Derivatives ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(ก) ธุรกรรมที่อยู่ในรูป Swap ให้ชำระเงินแก่ NR เป็นเงินตราต่างประเทศเทียบเท่า
(ข) ธุรกรรมที่อยู่ในรูป Notes/Deposits ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรการจำกัด การปล่อยสภาพคล่องเงินบาทตามข้อ 3.2.3 และมาตรการดูแลเงินทุนนำเข้าตามข้อ 4.1
(4) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงสินทรัพย์ และตัวแปรอื่น
ในการทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงสินทรัพย์ และตัวแปรอื่นที่เกี่ยวข้องกับ เงินบาทกับ NR ให้สถาบันการเงินขออนุญาต ธปท. เป็นรายกรณีตามขั้นตอนในข้อ 10 ก่อนดำเนินการ
ทั้งนี้ ธุรกรรมที่สถาบันการเงินไม่แน่ใจว่าขัดมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท หรือไม่ ให้หารือฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อก่อนดำเนินการ
3.2.8 การทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน (Value Same Day) หรือ ที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น (Value Tomorrow)
สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow กับ NR โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณีได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) การทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow กับ NR ตามเงื่อนไข ดังนี้
(ก) กรณีไม่มี Underlying รองรับ ให้ทำได้โดยเมื่อรวมกับธุรกรรมการปล่อย สภาพคล่องเงินบาทประเภทอื่นๆ ที่ไม่มี Underlying รองรับแล้วต้องมียอดคงค้างในแต่ละสถาบันการเงิน ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR
(ข) กรณีที่มี Underlying รองรับ ให้ทำได้ไม่เกินมูลค่า Underlying
(2) การทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow เพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ NR ที่ขาดสภาพคล่องเงินบาทตามข้อ 7
(3) การทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow ระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยกับสาขาของตนเองที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามข้อ 9.4
4.มาตรการดูแลเงินทุนนำเข้า
4.1 หลักทั่วไป
การกู้ยืมเงินบาท หรือทำธุรกรรมที่มีผลเสมือนการกู้ยืมเงินบาทจาก NR เช่น การกู้ยืมเงินบาท โดยตรง การออกตราสารหนี้เงินบาทขายให้ NR ธุรกรรมซื้อ FX/THB Outright Forward ธุรกรรม Sell-Buy FX/THB Swap ธุรกรรม FX Option ธุรกรรมขายเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow ธุรกรรม Repurchase Agreement การซื้อขายตราสารหนี้ในลักษณะ Sell and Buy Back เป็นต้น ให้สถาบันการเงินทำได้โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
(1) กรณีไม่มี Underlying รองรับ ให้ทำได้รวมวงเงินคงค้างในทุกธุรกรรมของแต่ละสถาบัน การเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR
(2) กรณีที่มี Underlying รองรับ ให้ทำได้ไม่เกินมูลค่า Underlying
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมการกู้ยืมเงินบาทหรือทำธุรกรรมที่มีผลเสมือนการกู้ยืมเงินบาทจาก NR ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะธุรกรรมในข้อ 4.2 ด้วย
4.2 หลักเกณฑ์เฉพาะธุรกรรม
4.2.1 การออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้ยืมเงินบาทจาก NR
ธปท.ไม่มีนโยบายให้สถาบันการเงินออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้ยืมเงินบาทจาก NR ทุกอายุสัญญา
4.2.2 การทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน และดัชนีอัตราแลกเปลี่ยน
(1) อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน และดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลเป็นการกู้เงินบาท หรือเสมือนการกู้เงินบาทจาก NR ดังต่อไปนี้
(ก) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินขั้นพื้นฐาน (Plain Vanilla Derivatives) ได้แก่ การซื้อ FX/THB Forward, Sell-Buy FX/THB Swap,Sell-Buy FX/THB Cross Currency Swap, การขาย FX/THB Put Option และซื้อ FX/THB Call Option
(ข) ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน (Structured Derivatives) ได้แก่ ประเภทธุรกรรมตามขอบเขตประกาศ ธปท. ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่มี ความซับซ้อน ซึ่งเป็นการกู้เงินบาท หรือเสมือนการกู้เงินบาทจาก NR
(2) ในกรณีที่มี Underlying รองรับ ก่อนสถาบันการเงินทำธุรกรรมกับ NR สถาบันการเงินต้องตรวจสอบหลักฐาน Underlying ว่าสอดคล้องกับธุรกรรมที่สถาบันการเงินจะทำกับ NR เช่น จำนวนเงิน ระยะเวลา วันส่งมอบเงิน เป็นต้น และภายหลังจากที่สถาบันการเงินได้ทำธุรกรรมกับ NR แล้วสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบหลักฐาน Underlying ให้ถูกต้องครบถ้วน และติดตามอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่ามูลค่า Underlying ไม่ต่ำกว่าวงเงินของธุรกรรมตลอดอายุของสัญญา หากมูลค่า Underlying ลดลงต่ำกว่าวงเงินของธุรกรรมสถาบันการเงินต้องปิดธุรกรรมกับ NR ให้เหลือวงเงินไม่เกินกว่า มูลค่าของ Underlying โดยพลัน
(3) ธุรกรรมที่นอกเหนือไปจากธุรกรรมตาม (1) ให้ขออนุญาต ธปท. เป็นรายกรณี ตามขั้นตอนในข้อ 10 ก่อนดำเนินการ ทั้งนี้ สำหรับธุรกรรมที่สถาบันการเงินไม่แน่ใจว่าขัดมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือไม่ ให้สถาบันการเงินหารือฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อก่อนดำเนินการ
4.2.3 การทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินด้านตราสารหนี้
ไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรม Bond Forward หรือ Bond Option ที่เกี่ยวข้องกับ เงินบาทกับ NR
4.2.4 การทำธุรกรรมขายเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทที่มีกำหนดส่งมอบในวันเดียวกัน (Value Same Day) หรือที่มีกำหนดส่งมอบในวันรุ่งขึ้น (Value Tomorrow)
สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมขายเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow กับ NR ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ธปท.เป็นรายกรณี เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีไม่มี Underlying รองรับให้ทำได้โดยเมื่อรวมกับธุรกรรมการกู้ยืมเงินบาท หรือธุรกรรมที่มีผลเสมือนกู้ยืมเงินบาทประเภทอื่นๆ ที่ไม่มี Underlying รองรับในแต่ละสถาบันการเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR
(2) กรณีที่มี Underlying รองรับให้ทำได้ไม่เกินมูลค่า Underlying
4.2.5 การผ่อนผันสำหรับ NR ที่เป็นสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้ออกจำหน่าย พันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย
ธปท. ผ่อนผันให้สถาบันการเงินสามารถกู้ยืมเงินบาท หรือทำธุรกรรมเสมือนกู้ยืมเงินบาท โดยไม่มี Underlying รองรับได้ในกรณีที่เป็นการกู้ยืมจาก NR ที่เป็นสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังอนุญาต ให้ออกจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย แต่ก่อนทำธุรกรรมต้องให้ NR ดังกล่าวยืนยัน ว่าเงินบาทดังกล่าวเป็นเงินบาทที่ได้จากบัญชี Special Non-resident Baht Account (SNA)
5.มาตรการดูแล Non-resident Baht Account (NRBA) และ Non-resident Baht Account for Securities (NRBS)
5.1 หลักทั่วไป
5.1.1 Non-resident Baht Account (NRBA)
(1) ในการเปิดบัญชี NRBA เพื่อวัตถุประสงค์ในการ settlement ของ NR ให้เปิดเป็นบัญชีประเภทเงินฝากกระแสรายวันหรือเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น สำหรับการเปิดบัญชีเพื่อการอื่น ให้เปิดเป็น บัญชีเงินฝากประจำอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
(2) ให้สถาบันการเงินงดการจ่ายดอกเบี้ยบัญชี NRBA ประเภทเงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากออมทรัพย์ เว้นแต่กรณีที่เจ้าของบัญชีเป็นธนาคารกลางของประเทศอื่นหรือได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี
(3) ให้สถาบันการเงินคุมบัญชี NRBA ให้มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันไม่เกิน 300 ล้านบาท ต่อราย โดยให้นับรวมบัญชี NRBA ทุกประเภทของ NR รายนั้นที่มีอยู่กับสถาบันการเงินในประเทศทุกแห่ง เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี
(4) ให้สถาบันการเงินจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ ธปท. สามารถจะเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลา และขอให้สถาบันการเงินกำกับดูแลให้การใช้บัญชี NRBA เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ธุรกรรมการค้าและการลงทุนในประเทศไทย ตามที่ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนดเท่านั้น
5.1.2 Non-resident Baht Account for Securities (NRBS)
(1) การเปิดบัญชี NRBS ให้เปิดเป็นบัญชีประเภทเงินฝากกระแสรายวันหรือเงินฝาก ออมทรัพย์เท่านั้น
(2) ให้สถาบันการเงินงดการจ่ายดอกเบี้ยบัญชี NRBS เว้นแต่กรณีที่เจ้าของบัญชีเป็น ธนาคารกลางของประเทศอื่นหรือได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี
(3) ให้สถาบันการเงินคุมบัญชี NRBS ให้มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อราย โดยให้นับรวมบัญชี NRBS ทุกประเภทของ NR รายนั้นที่มีอยู่กับสถาบันการเงินในประเทศทุกแห่ง เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี
(4) ให้สถาบันการเงินจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ ธปท. สามารถจะเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลา และขอให้สถาบันการเงินกำกับดูแลให้การใช้บัญชี NRBS เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ธุรกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น ตามที่ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน กำหนดเท่านั้น
5.2 การดำเนินการกรณีที่ NR มียอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS ณ สิ้นวันเกินกว่าวงเงินที่กำหนด
ในระหว่างวัน ยอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS สามารถมียอดเกินกว่าวงเงินที่ ธปท. กำหนดได้แต่ยอดคงค้างของบัญชีดังกล่าว ณ สิ้นวัน ต้องลดลงให้อยู่ภายในวงเงินที่ ธปท. กำหนด โดยสถาบันการเงิน ควรจัดการชำระเงินตามรายการของ NR ผ่านบัญชี NRBA/NRBS โดยเฉพาะรายการที่มีเงินจำนวนสูงมากให้
เสร็จสิ้นก่อนเวลา 15.30 น. เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถบริหารยอดคงค้างของบัญชี NRBA/NRBS ณ สิ้นวัน ให้อยู่ในวงเงินที่ ธปท. กำหนดได้สะดวกขึ้น
ภายในเวลา 15.30 น. หาก สถาบันการเงินใดมีบัญชี NRBA/NRBS ที่มียอดคงค้างเกินกว่าวงเงินที่ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินติดต่อ NR เจ้าของบัญชีให้ลดยอดเงินในบัญชี NRBA/NRBS ดังกล่าว โดยให้ ดำเนินการในแต่ละกรณีดังนี้
5.2.1 กรณีสถาบันการเงินสามารถติดต่อ NR เจ้าของบัญชีได้ แต่ NR รายนั้นไม่สามารถ ลดยอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS ได้ภายในเวลา 16.00 น.
(1) สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชีจะต้องแจ้งแก่ NR รายนั้นให้ขายเงินบาท Value Same Day ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินที่ ธปท. กำหนดให้แก่สถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินนั้นจะต้องขายเงินบาทดังกล่าว เต็มจำนวนกับ ธปท.ในลักษณะ back-to-back ด้วย ทั้งนี้ ธปท. จะเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการรับซื้อตามความเหมาะสม
(2) หาก NR ไม่ดำเนินการตาม (1) เพื่อลดยอดคงค้างบัญชี NRBA/NRBS ให้สถาบันการเงินติดต่อ ธปท. โดยเร็ว และ ธปท. อาจสั่งให้ สถาบันการเงินทำธุรกรรมขายเงินบาท Value Same Day กับ ธปท. เป็นจำนวนเงินเท่ากับส่วนที่เกินวงเงินที่ ธปท.กำหนด โดย ธปท. จะเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการรับซื้อตามความเหมาะสม และให้สถาบันการเงินไปไล่เบี้ยเก็บค่าใช้จ่ายกับ NR เจ้าของบัญชีเอง ในกรณีที่ ธปท. พิจารณาแล้วเห็นสมควรดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ ในการติดต่อกับ ธปท. เพื่อทำธุรกรรมขายเงินบาท Value Same Day ให้ สถาบันการเงินติดต่อ ธปท. ภายในเวลา 16.30 น. เพื่อดำเนินการต่อไป
5.2.2 กรณีที่สถาบันการเงินสามารถติดต่อ NR เจ้าของบัญชีได้ และประสงค์จะขอผ่อนผันให้ NR เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(1) สถาบันการเงินจะต้องแจ้งให้ ธปท. ทราบทางโทรศัพท์เพื่อพิจารณาอนุญาตก่อน เวลา 16.00 น. ของวันนั้น พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และส่งข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อ NR เจ้าของบัญชีที่ต้องการขออนุญาต ยอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS โดยให้ส่ง Statement ของ บัญชีดังกล่าวมาด้วย และเอกสารหลักฐานแสดง Underlying ซึ่งระบุวันที่จ่ายเงินเป็นวันรุ่งขึ้นมาทางโทรสาร
(2) ธปท. จะอนุญาตเฉพาะกรณีที่ NR เจ้าของบัญชี มีภาระต้องเตรียมเงินบาทเพื่อใช้ ชำระธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าการลงทุนในประเทศไทยในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น โดย ธปท. จะแจ้งผลการพิจารณาให้สถาบันการเงินทราบทางโทรศัพท์ภายในเวลา 16.10 น.
(ก) หาก ธปท. พิจารณาอนุญาตให้ยอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS ที่สถาบันการเงินขอมาเกินกว่า 300 ล้านบาทได้ สถาบันการเงินต้องจัดการให้ NR ลดยอดคงค้างบัญชีดังกล่าวให้อยู่ภายในวงเงินที่ ธปท. กำหนดภายในวันรุ่งขึ้นทันที โดยในวันรุ่งขึ้นสถาบันการเงินต้องส่งเอกสารยืนยันแก่ ธปท. ทางโทรสารว่าได้มีการใช้จ่ายเงินบาทออกไปจากบัญชี NRBA/NRBS ตามที่ได้แจ้ง ธปท. ไว้ ได้แก่ Statement ของบัญชี NRBA/NRBS ภายหลังจากที่มีการจ่ายเงิน พร้อมทั้ง เอกสารคำสั่งจ่ายเงิน (payment instruction)
(ข) หาก ธปท. พิจารณาไม่อนุญาต สถาบันการเงินต้องแจ้งให้ NR ทราบภายใน เวลา 16.20 น. และแจ้งให้ NR ลดยอดเงินใน NRBA/NRBS ลง โดยดำเนินการตามข้อ 5.2.1 (1) และ (2)
5.2.3 กรณีที่สถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อ NR ได้
ไม่ว่าในกรณีใดๆ ให้สถาบันการเงินแจ้งให้ ธปท. ทราบพร้อมทั้งจัดส่งเอกสาร ให้ ธปท. ตามที่ ธปท. จะกำหนด
6.มาตรการดูแลธุรกรรม Non-Deliverable Forward (NDF)
ให้สถาบันการเงินระงับการทำธุรกรรม NDF อ้างอิงเงินบาทกับ NR ยกเว้นกรณีต่ออายุ (Rollover) สัญญาเดิม หรือกรณีที่จำเป็นต้องยกเลิกสัญญาที่ทำไว้ (Unwind) เนื่องจากเกิดจากความผิดพลาดของลูกค้าคู่สัญญาที่ไม่สามารถนำเงินมาชำระเต็มมูลค่าสัญญาได้
7.การบรรเทาผลกระทบแก่ NR ที่ขาดสภาพคล่องเงินบาท
กรณี NR ขาดสภาพคล่องเงินบาทในบัญชี NRBA หรือบัญชี NRBS ณ สิ้นวันเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรการจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท โดยไม่มี Underlying หรือไม่สามารถตรวจสอบ Underlying ได้อย่างชัดเจน สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมรับซื้อเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day กับ NR โดยมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้
7.1 การขาดสภาพคล่องเงินบาทในบัญชีเงินบาทของ NR ณ สิ้นวัน ต้องเกิดจาก NR บริหารเงิน ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีเจตนาที่จะกู้ยืมเงินบาทที่ขัดกับมาตรการป้องปราม การเก็งกำไรค่าเงินบาท
7.2 สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชีเงินบาทของ NR ต้องโทรศัพท์แจ้งปัญหา และสาเหตุของการขาด สภาพคล่องเงินบาทในบัญชีเงินบาทของ NR แก่เจ้าหน้าที่ ธปท. และส่งรายละเอียดข้อมูล อาทิ จำนวนรายการ จำนวนเงินค้างรับ ค้างจ่าย ชื่อบัญชีเงินบาทของผู้จ่ายหรือผู้รอรับเงิน ชื่อสถาบันการเงินผู้จ่ายเงินและผู้รอรับเงินทางโทรสาร โดยให้ดำเนินการก่อนเวลา 16.00 น.ของวันนั้น
7.3 ให้สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชีเงินบาทของ NR แจ้งให้ NR ทราบว่า ธปท. ผ่อนผันให้ NR ที่มี ปัญหาขาดสภาพคล่องเงินบาทตามข้อ 7.1 สามารถขายเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day กับสถาบันการเงินในประเทศได้ เพื่อนำเงินบาทที่ได้ไปแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องเงินบาทของตน
7.4 สถาบันการเงินในประเทศผู้รับซื้อเงินตราต่างประเทศจาก NR รายดังกล่าวจะต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับซื้อมาขายต่อให้ ธปท. ทั้งจำนวน (back-to-back) ทั้งนี้ ธปท. จะเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการรับซื้อตามความเหมาะสม โดยให้ดำเนินการก่อนเวลา 16.30 น.ของวันนั้น
7.5 ให้สถาบันการเงินที่รอรับเงินจาก NR ผู้ขาดสภาพคล่องรายดังกล่าว ติดต่อ ธปท. ก่อนดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยให้ดำเนินการก่อนเวลา 16.15 น.ของวันนั้น
8. การดูแลบัญชี Special Purpose Non-resident Baht Account(SNA)
8.1 ให้สถาบันการเงินเปิดบัญชี SNA สำหรับ NR ได้ ดังต่อไปนี้
8.1.1 บัญชี SNA เพื่อการปล่อยกู้เงินบาทโดยตรงแก่ NR ในประเทศเพื่อนบ้าน ตามข้อ 3.2.1 (2)ได้หนึ่งบัญชี
8.1.2 บัญชี SNA เพื่อ NR ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ออกจำหน่ายพันธบัตรหรือ หุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยได้หนึ่งบัญชี โดยก่อนเปิดบัญชี สถาบันการเงินต้องเรียกให้ผู้ขอเปิดบัญชี แสดงหนังสือเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่อนุญาตให้เปิดบัญชีดังกล่าวได้ และให้ผู้ขอเปิดบัญชี ยืนยันว่าไม่มีบัญชี SNA ที่สถาบันการเงินอื่น
8.2 ให้สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชีดังกล่าวแจ้งชื่อ และเลขที่บัญชี SNA ดังกล่าวให้ ธปท. ทราบ ภายหลังการเปิดบัญชี และต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือเลขที่บัญชีหรือ มีการปิดบัญชีนั้น
8.3 การนำเงินบาทเข้าหรือถอนเงินบาทจากบัญชี SNA ตามข้อ 8.1.1 ให้ปฏิบัติ ดังนี้
8.3.1 เงินบาทที่นำเข้าบัญชี SNA ต้องเป็นเงินบาทที่ NR ได้จากการกู้ยืมโดยตรงจากสถาบันการเงินในประเทศไทย ตามที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ตามข้อ 3.2.1(2)
8.3.2 เงินบาทที่ถอนจากบัญชี SNA ต้องเป็นไปเพื่อธุรกรรมดังต่อไปนี้
(1) การซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทย หรือชำระภาระผูกพันให้แก่บุคคลไทยเท่านั้น
(2) แปลงเป็นเงินตราต่างประเทศได้เฉพาะกรณีที่ NR ต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศ โดยได้แจ้งเหตุผลและความจำเป็นที่ชัดเจนไว้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ยื่นคำขออนุมัติโครงการกู้หรือลงทุนดังกล่าว
8.4 การนำเงินบาทเข้าหรือถอนเงินบาทจากบัญชี SNA ตามข้อ 8.1.2 ให้ปฏิบัติดังนี้
8.4.1 เงินบาทที่นำเข้าบัญชี SNA ต้องเป็นเงินบาทในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เงินบาทที่ NR ได้จากการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยการนำเงินบาทเข้าในบัญชี SNA ในกรณีดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมแลกเปลี่ยนเงินก่อน
(2) เงินบาทที่ได้รับชำระคืนจากธุรกรรมที่ ธปท.ผ่อนผัน ให้ NR เจ้าของบัญชี SNA ทำ ธุรกรรมกับสถาบันการเงินในประเทศได้ ตามข้อ 4.2.5
8.4.2 เงินบาทที่ถอนจากบัญชี SNA ต้องเป็นไปเพื่อธุรกรรมดังต่อไปนี้
(1) การค้า การบริการ การลงทุน หรือการให้กู้ยืมในประเทศไทย หรือในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้แก่ สหภาพพม่า สาธารณรัฐกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
(2) แปลงเป็นเงินตราต่างประเทศผ่านธุรกรรม Swap กับสถาบันการเงินในประเทศ
(3) บริหารสภาพคล่องเงินบาท โดยให้กู้ยืมระยะสั้นกับสถาบันการเงินในประเทศ เช่น ธุรกรรม Swap การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น การทำธุรกรรม Private Repo เป็นต้น ตลอดจนฝากเงิน กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยรูปบัตรเงินฝาก (Certificates of deposits) หรือเงินฝากประจำที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้ เฉพาะ NR ที่เป็นสถาบันการเงิน และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ออกจำหน่ายพันธบัตร หรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย
8.5 ผ่อนผันให้ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี SNA ตามระเบียบนี้มีจำนวนเกินกว่า 300 ล้านบาทได้
8.6 หากสถาบันการเงินผู้รักษาบัญชี SNA ประสงค์จะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากในบัญชีดังกล่าวให้ทำได้ เช่นเดียวกับบัญชีเงินฝากทั่วไป
8.7 ไม่อนุญาตให้มีการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างบัญชี SNA, NRBA, NRBS และบัญชีเงินบาท พิเศษ (Special Nonresident Baht Account: บัญชี SNRBA) หรือการโอนเงินระหว่างบัญชี SNA ด้วยกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเป็นรายกรณี
8.8 ให้สถาบันการเงินผู้รักษาบัญชี SNA ต้องดูแลให้การฝากถอนเงินบาทจากบัญชีดังกล่าวเป็นไป ตามเงื่อนไขที่กำหนดและจัดทำรายงานตามแบบที่ ธปท. กำหนด ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องพร้อมที่จะให้ข้อมูล และเอกสารหลักฐานแก่ ธปท. เกี่ยวกับการทำธุรกรรมตามที่ร้องขอ
9.การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขาของตนเองที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
9.1 การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาของตนเองที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีพรมแดน ติดกับประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ไม่ถือเป็นการทำธุรกรรมกับ NR ตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
9.2 กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยให้กู้ยืมเงินบาทแก่สาขาของตนเองในประเทศดังกล่าว ให้ธนาคาร พาณิชย์ไทยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
9.2.1 กรณีผู้กู้นำเงินบาทที่ได้จากการกู้ยืมดังกล่าว ไปให้กู้ยืมแก่ NRโดยไม่มีธุรกรรมการค้า การลงทุนในประเทศไทยหรือประเทศที่มีพรมแดนติดประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามรองรับให้ทำได้ภายในวงเงินคงค้างไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR
9.2.2 กรณีผู้กู้นำเงินบาทที่ได้จากการกู้ยืมดังกล่าวไปให้กู้ยืมเกินกว่าวงเงินคงค้าง 300 ล้านบาท ต่อกลุ่ม NR ต้องปฏิบัติดังนี้
(1) เงินกู้ดังกล่าวต้องนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีพรมแดนติดประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อการค้าและการลงทุนในประเทศดังกล่าว เท่านั้น
(2) ในกรณีให้กู้ยืมแก่ NR นอกจากที่กล่าวในข้อ (1) ให้กู้ยืมได้เฉพาะกรณีนำมาใช้เพื่อการค้าและการลงทุนในประเทศไทยหรือประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเท่านั้น
9.3 กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยกู้ยืมเงินบาทจากสาขาของตนเองที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีพรมแดนติดกับ ประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามให้ซักซ้อมความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนกู้ยืมเงินบาทดังกล่าวว่า เงินบาทที่ได้จากการกู้ยืมต้องเป็นเงินบาทที่ได้จากลูกค้าของสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยนั้นๆ ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศมีพรมแดนติดกับประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หรือที่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์ ในประเทศไทยเท่านั้น
9.4 อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถรับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาท Value Same Day หรือ Value Tomorrow กับสาขาของตนเองที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยและ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
9.5 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ให้กู้ยืมและกู้ยืมตามข้อ 9.2 และ 9.3 ต้องกำกับดูแลการให้กู้ยืม หรือ การกู้ยืมเงินบาทดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและจัดทำรายงานตามแบบที่ ธปท. กำหนด ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยดังกล่าวต้องพร้อมที่จะให้ข้อมูลและเอกสารหลักฐานแก่ ธปท. เกี่ยวกับการทำธุรกรรม ตามที่ร้องขอ
10.การหารือและขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกรรม
กรณีสถาบันการเงินไม่แน่ใจว่าธุรกรรมใด เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไร ค่าเงินบาท ให้หารือ ธปท. ก่อนดำเนินการ
สำหรับธุรกรรมที่ต้องขออนุญาต ธปท. ก่อนดำเนินการ ให้สถาบันการเงินดำเนินการดังนี้
10.1 สถาบันการเงินชี้แจงรายละเอียด ลักษณะ และเงื่อนไขของธุรกรรม
10.2 สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงกรณีที่สถาบันการเงินจะปล่อยสภาพคล่องเงินบาท หรือกู้ยืมเงินบาทจาก NR
11.การจัดการเอกสารหลักฐาน
ให้สถาบันการเงินตรวจสอบหลักฐานแสดงการค้าการลงทุนในประเทศไทยให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมทั้ง ลงนามและวันที่ที่ตรวจสอบลงในเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกรายการ แล้วจัดเก็บหลักฐานไว้ให้ ธปท.ตรวจสอบได้ ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่สถาบันการเงินทำธุรกรรมกับ NR
12.การรายงาน
ให้สถาบันการเงินจัดทำรายงานตามแบบและวิธีการที่ ธปท.กำหนด
13.มาตรการในกรณีที่สถาบันการเงินไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ในกรณีที่สถาบันการเงินดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท หรือไม่ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด ธปท. อาจสั่งให้สถาบันการเงินหยุดหรือยกเลิกการทำธุรกรรมดังกล่าวตลอดจนมีสิทธิระงับการทำธุรกรรมต่างๆ กับ ธปท. ตามที่ ธปท. เห็นสมควรรวมทั้งอาจถูกระงับสิทธิอื่นๆ ในอนาคตด้วย
14.บทเฉพาะกาล
สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินอยู่ก่อนวันที่มาตรการป้องปรามฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องปรามฯ ฉบับนี้
ทั้งนี้ สำหรับธุรกรรมที่ได้รับอนุญาตไปแล้วก่อนหน้านี้ หากไม่อยู่ในกรอบการทำธุรกรรมตาม มาตรการป้องปรามฯ ฉบับนี้ สถาบันการเงินจะทำธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้อีก ส่วนธุรกรรมที่ทำไปแล้ว อนุญาตให้คงธุรกรรมดังกล่าวไว้ได้จนครบกำหนดอายุตามสัญญา โดยไม่อนุญาตให้มีการต่ออายุสัญญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ธปท.
ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ
สายตลาดการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551